วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีชนกว่างนักสู้แห่งเมืองเหนือ


จากวิถีชีวิตของชาวบ้านตามชนบทต่างๆ ของทางภาคเหนือตอนบน ในช่วงกลางๆ ฤดูฝนส่งให้มวลต้นไม้เขียวขจี แตกกิ่งก้านสาขา งอกงามเพื่อออกดอก ออกผล ก็มีแมลงหลายชนิดถึงวงจร โตเป็นตัวเต็มวัย กลายเป็นวัยเจริญพันธุ์เพื่อสืบลูกหลาน และคงปฏิเสธไม่ได้ ว่าแมลงผู้ทรงพลังเหมือนช้าง คือ แมลงกว่าง นั่นเอง ด้วยมีรูปร่าง สีสัน สวยงาม ลีลาท่าทางสง่างามมาก และช่วงที่ชาวชนบทว่างจะการทำนาแล้วก็หันมาหากว่างในป่ามาขายสร้างรายได้งาม เพราะว่าเป็นที่ต้องการของนักชนกว่างมาก จะมีประเพณีชนกว่างในหนึ่งปี มีระยะเวลาในการต่อสู้ของเจ้านักสู้ตัวกว่างในช่วงปลายเดือน เดือนกันยายน-พฤศจิกายน เป็นช่วงเดือนที่จะเริ่มมีการชนกว่าง ช่วงหัวค่ำก็จะเริ่มจากชักชวนเพื่อนบ้านกันไปหาสถานที่หรือสนามชนกว่าง ตามแต่ละหมู่บ้านที่มีการชนกว่าง หรือต่างอำเภอ และไม่จำกัดสถานที่ แล้วนำกว่างตัวที่เก่งที่สุดของแต่ละคนมาโชว์และนำมาเปรียบเทียบตัวกว่างถ้า เจ้าของกว่างทั้ง 2 ฝ่ายตกลงสถานที่ ร่วมกับการชนกว่างเพื่อประลองความเก่งและความอดทนของกว่างของแต่ละคู่ ตามวิถีชีวิตของชาวชนบท ที่มีประเพณีกันช้านาน
“กว่าง” สุดยอดแมลงปีกแข็งที่มีพลังมหาศาลมากมาย ที่มีคู่ต่อสู้ที่แข็งแรง เพื่อแย่งชิงกว่างตัวเมียเพื่อเอามาครองมาให้ได้ แมงกว่างเป็นชื่อเรียกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มี 6 ขา กว่าง มี 2 เขา กว่างบางชนิดมีถึง 5 เขาและตัวที่ไม่มีเขาเป็นกว่างตัวเมีย แมงกว่างจะชอบกินน้ำหวานจากอ้อย เป็นหลัก กว่างนักรบเจ้าของที่เลี้ยงไว้จะดูแลเป็นพิเศษมากๆ ให้อ้อยเป็นอย่างดี การทดลองลงสนามต่อสู้ของเจ้าแมงกว่าง มี 2-3 ครั้ง เมื่อชนะติดต่อกันแล้วนำไปเลี้ยงประมาณ 1 อาทิตย์ สามารถลงสนามต่อสู้ที่เจ้าของกว่างได้เดินทางมารอเปรียบเทียบคู่ เหมือนนักมวยที่เปรียบเทียบ ที่จะทำการประลองกันในสนามนักสู้
ในสมัยก่อนชาวบ้านมีเวลาว่าง เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง เมื่อว่างจากการงาน ก็จะมีเด็กและผู้ใหญ่เดินทางเข้าไปในป่าเพื่อหากว่างตามต้นไม้ ที่ตัวกว่างชอบอยู่เช่นต้นข่อยหรือตามยอดของหน่อไม้หรือต้นไม้ใหญ่ที่กว่า สามารถจับ กว่างจะมีอยู่ป่าในเขตของหมู่บ้านที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะในเวลาเช้าๆ จะหาได้ง่ายกว่า เพราะกว่างกลางคืนจะบินไปเกาะตามต้นไม้ช่วงเช้าๆ เกาะอยู่ต้นไม้จะไม่บินไปไหน
การหากว่างอีกวิธีหนึ่งโดยไม่ต้องเดินทาง ไปในป่า ก็คือการตั้งกว่างหรือใช้กว่างล่อ โดยใช้กว่างที่มีขนาดเล็ก เช่น กว่างกิ กว่างแซม ผูกด้วยเชือกมัดกับเขากว่างแล้วมัดกับเสาไม้ที่เหลาไว้ ปักกับอ้อยที่ปอกครึ่งท่อน ผูกกว่างขนาดเล็กไว้เป็นกว่างล่อ โดยใช้เหล็กทำเป็นตะขอเจาะเข้ากับอ้อยอีกด้านหนึ่งเอาไว้ห้อยแขวนกับต้นไม้ หรือรอบตัวบ้าน โดยหาทำเลที่เป็นชายป่าหรือในบริเวณที่ใกล้กับเนินดิน การแขวนให้สูงพอสมควร ในตอนกลางคืน กว่างตัวล่อ จะบินมีเสียงดังบินวนเวียนไปมาเพื่อดึงดูดล่อให้กว่างที่บินเวลากลางคืนให้ เข้ามาหาเพื่อติดกับ โดยมีอ้อยล่อเป็นอาหารเอาไว้ ถ้าเป็นกว่างโซ้งก็นำไปเลี้ยงไว้เพื่อทดสอบลองชน ถ้าเป็นกว่างแซมก็เก็บไว้เป็นกว่างล่อ ถ้าเป็นกว่างตัวเมียที่เรียกว่ากว่างแม่อีหลุ้มก็เก็บใส่กระป๋องและใส่อ้อย ข้างในเลี้ยงไว้เพื่อใช้ล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน
กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี คือช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม กว่างทั้งตัวผู้และตัวเมียจะขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งใช้วงจรชีวิตช่วงนี้ประมาณ 4 เดือน พอเข้าในฤดูหนาว กว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์ก็จะขุดดินแล้ววางไข่ ส่วนตัวเองก็จะตาย ไข่ก็ฟักเป็นตัวหนอน เป็นดักแด้อาศัยอยู่ใต้ผิวดิน จนถึงต้นฤดูฝนก็จะหมุดดินขึ้นมาผสมพันธุ์ดำรงชีวิตสืบลูกหลานต่อไป
ชนิดของกว่างนั้นมีอยู่หลากหลายมากมาย มีทั้งสวยงามและเอาไว้แข่งขันโดยตรงก็มี ลองมาดูกันว่ากว่างมีกี่ชนิด แล้วชาวหมูหิน.คอม จะมีกว่างบ้างไหมหนอ กว่างของใครชนิดไหนลองดูกัน
ชนิดของกว่าง กว่างมีหลายชนิดเช่น
กว่างกิ หมายถึงกว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น (กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียวกว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน
กว่างซาง : เป็นกว่างขนาดใหญ่ สีของปีกออกไปทางสีครีมหรือสีหม่น มีเขา 5 เขา ข้างบนมี 4 เขา เรียงกันจากซ้ายไปขวาข้างล่างมี 1 เขา ไม่นิยมนำมาชนกัน เพราะอืดอาดไม่แคล่วคล่องว่องไว ชนไม่สนุก
กว่างโซ้ง : กว่างโซ้ง ตัวผู้มีเขายาวและหนาทั้งข้างล่างข้างบน ลำตัวสีน้ำตาลแดงกว่า กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง “ซี่ ๆ” ตลอดเวลา ที่นิยมใช้ชนกันมาก
กว่างแซม : มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาก็สั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆ เล่นกัน
กว่างก๋าฮักหรือกว่างรัก : กว่างก๋าฮักนี้ตัวมีสีดำ เหมือนสีของน้ำรัก รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับกว่างแซม กว่างชนิดนี้ไม่ค่อยใช้ชนกัน เพราะว่าเวลาชนแล้วจะไม่อดทน จะแพ้ตลอด และสู้กว่างโซ้งไม่ได้
กว่างแม่อีหลุ้ม : คือกว่างตัวเมียซึ่งไม่มีเขา กว่างชนิดนี้บางแห่งเรียก กว่างแม่อู้ด,กว่างแม่มูดหรือกว่างแม่อีดุ้ม กว่างตัวเมียนี้จะมีทั้งชนิดตัวเล็กและตัวใหญ่ มีทั้งสีน้ำตาลและสีดำ กินจุกว่ากว่างตัวผู้ ริมปากมีลักษณะเป็นฝาสำหรับขุด ซึ่งจะขุดอ้อยให้เห็นแอ่งเป็นขุยเห็นได้ชัด ปกติจะใช้กว่างแม่อีหลุ้มนี้เป็นตัวล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน กว่างตัวเมียนี้เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูลงดินเพื่อวางไข่แล้วก็ตาย
กว่างหนวดขาว : ลักษณะเหมือนกับกว่างโซ้ง แต่ต่างกันที่ตรงหนวดจะมีสีขาว เชื่อกันว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดขาวนี้จะชนจะสู้กับกว่างทุกขนาด กว่างหนวดดำจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะเกรงกลัวอำนาจของพญา บางครั้งกำลังชนกันพอรู้ว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดดำหรือกว่างธรรมดาก็จะถอดหนี คือไม่ยอมเข้าหนีบด้วย มีนักเล่นกว่างบางคนหัวใส เมื่อได้กว่างหนวดขาวมาก็พยายามยอมหนวดของกว่างให้เป็นสีดำเหมือนกับกว่าง ทั่วไป โดยใช้ยางไม้กับหินหม้อผสมกัน แต้มหนวดขาวให้เป็นดำ เมื่อนำไปชนบางครั้งสีที่ย้อมหนวดหลุดออกอีกฝ่ายจับได้ว่าใช้กว่างหนวดขาว ปลอมมาชน เกิดทะเลาะกันก็มี
กว่างหาง : มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ่ง แต่ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือสีของน้ำครั่ง กว่างชนิดนี้ใช้ชนได้เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วคนมักจะกล่าวกันว่ากว่างหางจะไม่เก่งเท่ากว่างโซ้ง
การเลี้ยงกว่าง
เมื่อได้กว่างโซ้งที่ถูกใจมาแล้ว นักนิยมกว่างจะเลี้ยงดูกว่างอย่างดี โดยหาอ้อยที่หวานจัดมาปอกเปลือกให้ ส่วนที่ตัวกว่างก็ใช้ด้ายสีแดงมาฟั่นยาวประมาณหนึ่งคืบมาผูกที่ปลายเขาด้าน บนเพื่อกันกว่างบินหนี ที่โคนลำอ้อยมีตะขอกันไม่ให้จิ้งจกเลียตีนกว่าง เพราะถ้าจิ้งจกเลียตีนกว่างแล้ว กว่างจะเกาะคอนได้ไม่มั่นคง นอกจากนี้ก็จะต้องหมั่นฝึกซ้อม การฝึกนี้จะใช้ไม้สี่เหลี่ยมเล็กๆ ปลายแหลมเรียกกันว่า “ไม้ผั่นกว่าง” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ตื่นนอนตอนเช้าก็จะนำกว่างไปออกกำลังคือให้บินโดยใช้เชือกผูกจากเขากว่าง กว่างก็จะบินวนไปวนมา เมื่อเห็นว่าออกกำลังพอสมควรแล้ว จะนำกว่างไป “ชายน้ำเหมย” คือนำกว่างไปราดใบข้าวที่เปียกน้ำค้างในตอนเช้า หรือบ้างก็เคี้ยวอ้อยแล้วพ่นน้ำหวานใส่กว่าง ทำอย่างนี้ทุกวันกว่างจะแข็งแรง
ส่วนอุปกรณ์ของการชนกว่างนั้นก็ไม่มีอะไรมาก เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่น่าทึ่งมาก เพราะมีอยู่หลายแบบใครมีแบบไหนบ้างมาลองดู
1.ไม้คอน คือ ท่อนไม้กลมน้ำหนักเบาเป็นที่สำหรับให้กว่างชนกัน ทำด้วยต้นปอ ยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ตรงกลางเจาะรูสำหรับใส่กว่างตัวเมียจากด้านล่างให้โผล่เฉพาะส่วนหลังพอให้มี “กลิ่น” ส่วนด้านล่างใช้เศษผ้าอุด แล้วปิดด้วยฝาไม้ที่ทำเป็นสลักเลื่อนเข้าอีกที เพื่อกันไม่ให้กว่างตัวเมียถอยตัวออก คอนชนิดนี้มีไว้สำหรับฝึกซ้อมให้กว่างชำนาญในการชน
2.ไม้ผั่น : ไม้ผั่นกว่าง ไม้แหล็ดหรือไม้ริ้ว ไม้ผั่นนี้จะทำด้วยไม้เนื้อแข็งได้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่ง เซนติเมตร ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมปลายหัวหรือปลายแหลม ส่วนโคนเหลาให้เล็กเป็นที่สำหรับจับถือตรงใกล้ที่จับนั้นจะบากลงและเหลาให้ กลมแล้วเอาโลหะมาคล้องไว้อย่างหลวมๆ เวลา “ผั่น” หรือปั่นให้ผั่นให้หมุนกับคอนนั้น จะมีเสียง “กลิ้งๆ” ตลอดเวลาไม้ผั่นนี้ใช้ผั่นหน้ากว่างให้วิ่งไปข้างหน้าเขี่ยข้างกว่างให้กลับ หลังเขี่ยแก้มกว่างให้หันซ้ายหันขวา ถ้ากว่างไม่ยอมสู้ก็จะใช้เจียดแก้มกว่างให้ร้อนจะได้สู้ต่อไป ในขณะที่ต้องการให้กว่างคึกคะนองหรือเร่งเร้าให้กว่างต่อสู้กันนั้นก็จะใช้ ไม้ผั่นนี้ การผั่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางหมุนไปมากับคอนให้เกิดเสียงดัง
ลักษณะกว่างที่นำมาชนนั้นต้องมีลักษณะที่ ดี แข็งแรง เช่นกว่างโซ่ง ลักษณะกว่างโซ่งที่ดีนั้นต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อย ท้ายทอยลาดลงเป็นสง่า แต่ถ้าท้ายทอยตรงโคนเขาบนเป็นปมไม่เรียบ ถือว่าเป็นกว่างไม่ดี กว่างที่ดีต้องเป็นกว่างที่ฉลาดสอนง่าย ก่อนที่จะนำกว่างมาชนกันนั้น จะต้องนำกว่างมาเทียบขนาดและสัดส่วนที่เรียกว่า เปรียบคู่ กันเสียก่อน เมื่อตกลงจะให้กว่างลงสนามเพื่อมาประลองต่อสู่กัน
นอกจากประเพณีชนกว่างที่สร้างความสามัคคี ในชุมชนที่มาพบปะพูดคุยกัน ประเพณีชนกว่างของชาวล้านนานี้จะได้อยู่สืบทอดกันไป และกว่างยังเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้แก่ผู้เป็นเจ้าของ เพราะในฤดูเล่นกว่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ ต่างก็หวังที่จะครอบครองกว่างจึงทำให้กว่างมีราคาสูงตาม ความพอใจของผู้ซื้อขาย ในจังหวัดของทางภาคเหนือ และหาซื้อกว่างได้ง่ายตามตลาดทั่วไปหรือตามท้องถนนในราคาตัวละ 20-1,000 บาท
วิทยา ยะเปียง/ลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น