|
นกช้อนหอยดำ (Pseudibis davisoni) หรือ White-shouldered Ibis ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเซียมปาง (Siem Pang) ทางตะวันตกของประเทศซึ่งเป็นแหล่งอาศัยใหญ่ที่สุดในกัมพูชาและในโลกของนกใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ กัมพูชายังเป็นแหล่งใหญ่ของนกช้อนหอยใหญ่ (Thaumatibis gigantea) หรือ Giant Ibis ที่เรียกได้ว่าหากยากสุดๆ อีกด้วย เชื่อกันว่าทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 300 ตัวเท่านั้น. -- ภาพ: สำนักข่าวกัมพูชา. |
|
|
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หน่วยงาน กับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าได้ร่วมกันประกาศในกรุงพนมเปญวันพฤหัสบดี 7 พ.ย.นี้ เกี่ยวกับการพบนกช้อนหอยดำกว่า 900 ตัว ในกัมพูชา ซึ่งทำให้ประเทศนี้เป็นแหล่งอาศัยใหญ่ที่สุดในโลกของนกหายากที่ถูกประกาศเป็นสัตว์ปีกที่ใกล้สูญพันธุ์ยิ่งยวดอีกชนิดหนึ่ง ในพื้นที่อาศัย และวางไข่กำลังถูกคุกคามจากการบุกรุกจากการให้สัมปทานผืนดินทางเศรษฐกิจ นับเป็นข่าวดีอีกครั้งหนึ่งสำหรับวงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม หลังจากในเดือน ส.ค.ปีนี้ มีการประกาศพบรังนกช้อนหอยใหญ่ (Giant Ibis) ซึ่งเป็นนกป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวดชนิดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกัมพูชา ที่ทำให้บรรดานักอนุรักษ์ต่างยินดีปรีดา และมีความหวัง นกช้อนหอยดำ (Pseudibis davisoni) หรือ White-shouldered Ibis เป็นอีกพันธุ์หนึ่งในวงศ์นกกุลา และนกปากช้อน (Threskiornithidae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันกว่า 30 ชนิดทั่วโลก และพบอยู่ในประเทศไทยเพียง 5 ชนิด รวมทั้ง 2 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ยิ่งยวดในขณะนี้ด้วย การประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีนี้เป็นผลการสำรวจร่วมกันระหว่างองค์การบริหารป่าไม้กัมพูชา กรมใหญ่การบริหารและป้องกันอนุรักษ์สภาพแวดล้อม มูลนิธิทรัพยากรประชาชนและการอนุรักษ์ (People Resources and Conservation Foundation - PRCF) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society - WCS) ศูนย์สม วาสนา (Sam Veasna Center) และกองทุนโลกเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (Worldwide Fund for Nature - WWFN) สำนักข่าวกัมพูชารายงาน การสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ของนักช้อนหอยดำ จำนวน 59 แหล่งทั่วประเทศ ทำให้นับประชากรนกได้ทั้งหมด 973 ตัว มากกว่าประมาณการเมื่อต้นปีนี้ที่อยู่ระหว่าง 897-942 ตัว สำนักข่าวซึ่งเป็นของกระทรวงแถลงและวัฒนธรรมข่าวรายงาน .
. การสำรวจได้พบว่า เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเซียมปาง (Siem Pang) เป็นแหล่งอาศัยใหญ่ที่สุดจำนวน 451 ตัว ราว 41% ของประชากรนกช้อนหอยดำทั่วโลก ตามด้วยเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าลมพัด (Lom Phat) จ.รัตนคีรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ 298 ตัว แต่ทั้ง 2 แหล่งนี้กำลังถูกคุกคามจากการให้สัมปทานผืนดินเพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำลายแหล่งทำรังและวางไข่ ทำลายแห่งอาศัยของนกหายากชนิดนี้ ดร.ฮิวจ์ ไรต์ (Hugh Wright) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับนกช้อนหอยจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษกล่าว แหล่งอาศัยใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เขตคุ้มครองสัตว์ป่ากุเลนพรหมเทพ (Kulen Promthep) จ.พระวิหาร เขตคุ้มครองสัตว์ป่าพนมพริก (Phnom Prich) จ.มณฑลคีรี (Mondulkiti) เขตที่ราบน้ำท่วมถึงใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) และสตึงแตร็ง (Stung Treng) เชื่อกันว่าปัจจุบันมีนกช้อนหอยดำเหลืออยู่ 1,114-1,249 ตัวในทั่วโลก ประชากรในกัมพูชาจึงคิดเป็นประมาณ 97% ของทั้งหมดซึ่งรวมทั้งในแหล่งรอบๆ โตนเลสาป กับอีกบางแหล่งที่เข้าไม่ถึงด้วย คำประกาศระบุ เมื่อเดือน ส.ค.กองทุนสัตว์ป่าโลกกัมพูชา (WWF-Cambodia) ได้ประกาศการพบรังไข่ของนกช้อนหอยใหญ่ (Thaumatibis gigantea) ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.มณฑลคีรี ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 500 กม. ซึ่งได้สร้างความหวังให้แก่นักอนุรักษ์ต่อการอยู่รอดของนกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุด แหล่งทำรัง และวางไข่ดังกล่าวอยู่ในที่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเชื่อว่าปัจจุบันนกชนิดนี้ยังเหลืออยู่เพียง 345 ตัวทั่วโลก โดย 90% อาศัยอยู่ในกัมพูชา นกช้อนหอยใหญ่ มีลักษณะโดดเด่นจากหัวที่ล้านโล่งเตียน และจะงอยปากยาว การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการล่ากำลังคุกคามชีวิตพวกมัน เกษตรกรใน จ.สตึงแตร็ง พบรังในบริเวณผืนป่าชุ่มน้ำแม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในเดือน ก.ค.ปีนี้ ในเวลาต่อมา ทีมสำรวจได้เห็นนกโตเต็มวัยนั่งอยู่บนรังพร้อมไข่ 2 ฟอง กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง. .
|
|
นกช้อนหอยดำเป็นอีกพันธุ์หนึ่งในวงศ์นกกุลาและนกปากช้อน (Threskiornithidae) ถึงแม้จะมีอยู่กว่า 30 ชนิดทั่วโลก แต่ก็พบอยู่ในประเทศไทยเพียง 5 ชนิด รวมทั้งสองชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ยิ่งยวดในขณะนี้ด้วย. -- ภาพ: สำนักข่าวกัมพูชา. |
|
|
|
|
ภาพถ่ายวันที่ 29 มี.ค. 2555 เผยแพร่โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกกัมพูชา (WWF-Cambodia) วันที่ 20 ส.ค. 2556 นกช้อนหอยใหญ่ (Giant Ibis) ใน จ.มณฑลคีรี สร้างความหวังให้นักอนุรักษ์ หลังค้นพบรังในแหล่งที่อยู่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คาดว่าทั้งโลกเหลืออยู่เพียง 345 ตัวและ 90% อาศัยอยู่ในกัมพูชา.-- Agence France-Presse/World Wildlife Fund-Cambodia. |
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น