รู้ก่อนเที่ยวทะเล นี่คือ "สัตว์ทะเลมีพิษ" ร้ายแรงถึงตาย !
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เตือนไปเที่ยวทะเลให้ระมัดระวังสัตว์ทะเลมีพิษทุกประเภท ไม่ใช่แค่แมงกะพรุน เพราะอาจถึงตายได้
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยวัย 31 ปี โดนพิษแมงกะพรุนเสียชีวิตขึ้นที่หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี หลังผู้เสียชีวิตลงเล่นน้ำทะเลกับเพื่อนบริเวณหน้าบังกะโลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 เวลาประมาณ 21.30 น. ก่อนที่โดนพิษแมงกะพรุนกล่องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้มีการตื่นตัวเรื่องการป้องกันแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า นอกจากสัตว์ทะเลที่มีพิษอย่างแมงกะพรุนแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งอีกหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรงและเป็น อันตรายต่อนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มสัตว์ทะเลมีพิษ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ พิษที่เกิดจากการสัมผัส และพิษที่เกิดจากการรับประทาน ส่วนอีกกลุ่มคือ สัตว์ทะเลเป็นอันตราย
สำหรับกลุ่มสัตว์ทะเลมีพิษ ประเภทพิษที่เกิดจากการสัมผัส โดยมากจะเป็นกลุ่มปลา อาทิ ปลาหิน ปลาสิงโต และปลากระเบนขนาดเล็ก เป็นต้น
ปลาหิน
เป็น
ปลาที่อาศัยอยู่ตามตามแนวหินหรือแนวปะการัง มีหัวขนาดใหญ่ ปากกว้าง
มักนอนสงบนิ่งอยู่ตามพื้นทะเล โดยพิษของปลาหินอยู่ที่ก้านครีบ
หากใครเผลอไปสัมผัสหรือเหยียบโดนจะมีอาการปวดและบวม
และหากรับพิษในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิต
อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ว่ายน้ำเชื่องช้า หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง มีครีบหลังและครีบอก ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและมีต่อมน้ำพิษที่เป็นอันตราย หากสัมผัสหรือถูกทิ่มแทงจะทำให้เจ็บปวดรุนแรง แต่เนื่องจากปลาสิงโตเป็นปลาสวยงาม จึงทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจับเล่นจนทำให้ได้รับพิษ ดังนั้น หากพบเห็นปลาสิงโตขอแนะนำนักท่องเที่ยวว่า ไม่ควรเข้าไปจับเล่น
ปลากระเบน
อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง มีลำตัวแบน หางยาวและมีเงี่ยงแหลมคมที่อยู่โคนหาง ดังนั้น ผู้ที่เดินในน้ำริมชายฝั่งทะเลอาจไปเหยียบบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตาม พื้นทะเล หากถูกเงี่ยงตำจะได้รับพิษทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ขณะที่บางรายอาจเกิดอาการช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
หอยเต้าปูน
ลักษณะเปลือกเป็นรูปกรวยคล้ายถ้วยไอศกรีมโคน ประเทศไทยพบหอยเต้าปูนได้ทางฝั่งทะเลอันดามันและพบอยู่ตามพื้นทรายในแนว ปะการัง โอกาสที่หอยเต้าปูน จะทำอันตรายคนนั้นน้อยมาก นอกจากมีคนไปเก็บจับเต้าปูน ด้วยมือเปล่าและถือเอาไว้ หอยจึงป้องกันตัวโดยใช้งวงที่มีฟันพิษแทง โดยพิษที่เกิดจากหอยเต้าปูนต่อย จะทำให้เกิดอาการบวมแดง ตาพร่ามัว หายใจติดขัด หรือเสียชีวิตได้
งูทะเล
สำหรับงูทะเลนั้น มีลักษณะแตกต่างจากงูบกตรงที่ลำตัวส่วนท้ายค่อนข้างแบน ปลายหางคล้ายใบพายเพื่อใช้ว่ายน้ำ งูทะเลมีพิษอยู่ตรงเขี้ยวที่ปากและมีอันตรายร้ายแรงมาก น้ำจากพิษงูทะเลมีผลโดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อ หายใจขัด หรือทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว หากจะเดินตามแนวปะการังควรใส่รองเท้ายางหุ้มข้อ
ขณะที่กลุ่มสัตว์ทะเลมีพิษ ประเภทที่พิษเกิดจากการรับประทาน มีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้
ปลาปักเป้า
เป็นปลาที่รู้จักกันดีว่ามีพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การนำปลาปักเป้ามาบริโภค ถ้าการเตรียมก่อนนำไปปรุงไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารพิษเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคันแสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาต กลืนลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เจ็บอก ความดันเลือดสูง จนถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิต
นอกจากนี้ พิษของปลาปักเป้าสามารถทนความร้อนได้สูง 170 องศาเซลเซียส หากใครสงสัยว่า ตนเองได้รับพิษจากปลาปักเป้าขอให้รีบขจัดพิษเบื้องต้นด้วยการหาซื้อผงถ่าน จากร้านขายยามารับประทานเพื่อดูดพิษในร่างกาย แล้วรีบนำส่งแพทย์
ปูใบ้
อาศัยอยู่ตามซอกหิน มีกระดองเป็นรูปพัด ปลายก้ามหนีบเป็นสีดำ เป็นปูมีพิษ เช่น ปูใบ้แดงและปูใบ้ลาย เป็นต้น หากบริโภคจะมีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอและใบหน้า ท้องเสีย ช็อก หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนสัตว์ทะเลเป็นอันตราย อาทิ เม่นทะเล เป็นสัตว์มีหนามตามผิวลำตัว โดยเม่นทะเลที่พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทย คือ เม่นดำหนามยาว ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำหรือดำน้ำในบริเวณที่มีเม่นทะเล อาจถูกคลื่นซัดไปเหยียบย่ำหรือนั่งทับเม่นทะเลได้ และเมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำจะฝังอยู่ในเนื้อ ทำให้เกิดอาการบวมแดงและชา ให้นวดบริเวณที่ถูกหนามตำจะทำให้หนามแตกและย่อยสลายเอง หรือแช่แผลในน้ำร้อนเพื่อช่วยให้หนามย่อยสลายได้เร็วขึ้น
ดังนั้น จึงขอแนะนำนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงเล่นน้ำและสวมใส่ชุด ที่ปกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากการโดนปะการัง หรือหอยนางรมบาดจนได้รับบาดเจ็บ
ดร.ธรณ์ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้สัตว์ทะเลมีพิษเพิ่มจำนวนมากขึ้น ว่า อย่างการเพิ่มจำนวนของแมงกะพรุนนั้น มีปัจจัยที่ 1 มาจากการปล่อยน้ำเสีย หรือการปล่อยน้ำที่มีสารเคมีลงสู่ทะเล เนื่องจากสารเหล่านี้ ถือว่าเป็นธาตุอาหารชั้นดีที่ทำให้เกิดแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์จำนวนมาก จึงทำให้แมงกะพรุนที่กินแพลงตอนสัตว์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ การไม่อนุรักษ์เต่าทะเล เพราะเต่าทะเลเป็นตัวควบคุมตามธรรมชาติและเป็นผู้ล่าหรือกินแมงกะพรุน
และปัจจัยสุดท้าย คือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิ กระแสน้ำและสภาพในทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์และท้ายที่สุดมนุษย์จะกลายเป็นผู้เดือดร้อนเอง
ขณะที่นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวว่า ที่ผ่านมามนุษย์เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นผู้ที่ทำให้ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง จนทำให้แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจะเจอแมงกะพรุนมากขึ้น โดยในพื้นที่ไหนที่ทราบว่า มีแมงกระพรุนเยอะ ก็อาจมีการติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อป้องกันแมงกะพรุน โดยติดตั้งเป็นฤดูกาลหรือบางช่วงเวลา
ภาพจาก fisheries.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น