วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงปฐมเทศนา-เริ่มประกาศศาสนา-เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก-เกิดพระภิกษุรูป
แรก-เกิดปฐมสาวก ถือว่าเป็นวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์
ดังนั้นจึงเรียกวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันนี้ว่า “วันพระสงฆ์”
ผู้จัดการ Live
ขอรวบรวมคำสอนของพระสงฆ์ที่เป็นพระแท้ๆ พระดีๆ แม้ท่านละสังขารไปแล้ว
แต่คำสอนไม่ดับตาม
หากยังคงเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจส่องนำทางชีวิตของพุทธศาสนิกชนคนไทยทุก
วันนี้
ปฐมเทศนา คำสอนที่ไม่เคยตาย
ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ
1. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
1.1 การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง
1.2 การสร้างความลำบากแก่ตน เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้
ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ
มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เห็นตามเป็นจริง, สัมมาสังกัปปะ
ตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม, สัมมาวาจา กล่าวคำสุจริต, สัมมากัมมันตะ
ทำการสุจริต, สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพสุจริต, สัมมาวายามะ
เพียรละชั่วบำเพ็ญดี, สัมมาสติ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ, สัมมาสมาธิ
คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคง
2. อริยสัจ ๔ หมายความถึง บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่ ทุกข์
ต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่าปัญหาคืออะไร, สมุทัย
สาเหตุของปัญหา, นิโรธ ความดับทุกข์, มรรค กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว
ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า
เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน
จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า
อัญญาโกณฑัญญะ
|
“วันอาสาฬหบูชาเวียนมาอีกครั้งเพื่อเตือนให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อ
๒๖๐๒ ปีที่แล้ว
เป็นครั้งแรกที่พระบรมศาสดาได้เปิดเผยหนทางสู่อิสรภาพแก่มนุษย์ กล่าวคือ
แม้ทุกคนยังต้องแก่ เจ็บ พลัดพราก และยังต้องตาย
แต่ก็สามารถยกจิตให้เป็นอิสระเหนือสิ่งเหล่านั้นได้ ทุกข์กายไม่มีใครหนีพ้น
แต่ใจไม่เป็นทุกข์ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถอยู่เหนือการเกิดและการตาย
หลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ในที่สุด”
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาส วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ
ซึ่งท่านเป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนพระพุทธศาสนารุ่นใหม่
ได้กล่าวต่อถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
“พระพุทธองค์ได้ชี้ว่า
อิสรภาพที่แท้จริงนั้นบรรลุได้เมื่อจิตละตัณหา และมีปัญญามาแทนที่อวิชชา
ทั้งนี้ด้วยการฝึกตนให้ตั้งมั่นในความดี
และเปิดใจให้เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง
จนรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้เลย
ปฐมเทศนาที่ทรงแสดงในวันนั้น ได้กำจัดธุลีในดวงตาของท่านอัญญาโกณฑัญญะ จนบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลท่านแรก
และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกในพุทธศาสนา วันนั้นจึงมีพระรัตนตรัยครบองค์สามเป็นครั้งแรกในโลก
การใคร่ครวญสาระของ
วันอาสาฬหบูชา
ช่วยเตือนใจให้ตระหนักว่าชีวิตนี้มีค่าเกินกว่าที่จะอยู่ไปวันๆ
หรือมัวเสพสุข ไล่ล่าหาทรัพย์
เพียงเพื่อจะถูกความทุกข์บีบคั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสิ้นลมไปในที่สุด
เราทุกคนมีศักยภาพมากกว่านั้นและสามารถเข้าถึงภาวะที่ประเสริฐกว่านั้นมาก”
หลวงพ่อชา: ขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย
|
พระโพธิญาณเถร หรือ หลวงปู่ชา สุภัทโท
แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี พระวิปัสสนาจารย์สายอีสาน
ซึ่งได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก
แม้ท่านมรณภาพไปเมื่อปี 2535 แต่ลูกศิษย์มากมายทั่วสารทิศ
โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ยอมรับนับถือสืบสานคำสอนของท่านจนทุกวันนี้
“สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้ คือสติ
สตินี้เป็นธรรมเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ
ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้ก็คือชีวิต
ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย
ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประเภทในระหว่างขาดสตินั้นพูดไม่มีความหมาย
การกระทำไม่มีความหมาย
สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด
ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์
อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน
ไม่ใช่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว
สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอ มีความรู้อยู่เสมอ เป็นของที่มีอยู่เสมอ
ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง
เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมา การพูด
การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น
เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น
ความประมาทก็ไม่มี”
ท่านพุทธทาส: การทำงานคือ การปฏิบัติธรรม
|
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ
พระนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพุทธศาสนา สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฏร์ธานี
ถึงท่านมรณภาพไปแล้วเมื่อปี 2536ทว่าคำสอนของท่านกลับยิ่งได้รับการเผยแพร่
พุทธศานากชนให้ความสนใจ นำมาเป็นไฟส่องทางดำเนินชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก
“การทำการงานนั้นก็คือการประพฤติธรรม
แต่ด้วยเหตุที่พ่อแม่มันไม่สอน ไอ้ลูกหลานมันก็ไม่รู้
ว่าการทำงานนั้นคือการประพฤติธรรม มันแยกออกจากกันเสีย
มันก็เลยกลายเป็นภาระ หลายฝักหลายฝ่าย ทำงานแล้ว ยังจะต้องไปประพฤติธรรม
หรือทำบุญทำกุศล มันก็เลยมีหลายภาระ...
...ทีนี้ปัญหาทั่วประเทศก็คือว่ามีแต่คนทำงานอย่างเสียไม่ได้
เพื่อเอาเปรียบ ทำเล็กน้อยก็เรียกร้องประโยชน์มาก
อย่างนี้ก็จะเกิดปัญหาเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด...เพราะมันไม่สนุกกับการทำ
งาน ไม่เห็นว่าการทำงานคือการประพฤติธรรม
ฉะนั้นขอให้ไปศึกษากันเสียใหม่ ว่า การ
งานนั้นมันคือการประพฤติธรรม แม้แต่จะทำนา ต้องฝึกฝนให้มีสติปัญญา
ให้มีความพากเพียร ให้มีความอดทน ให้มีความสามัคคี ให้รู้จักประหยัด
แต่ละอย่างละๆ นี้เหล่านี้เป็นธรรมะทั้งนั้น แล้วก็พอใจว่าได้ทำหน้าที่
ก็สบายใจ เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าทำการงานมันสนุก
ก็ได้ประพฤติธรรม...”
"หลักพุทธศาสนา หัวข้อธรรม ต้องการพิสูจน์ทดลอง
ไม่ต้องการคาดคะเนคำนวณ มันผิดหลักกาลามสูตร ตรรกเหตุ นยเหตุ
มันต้องพิสูจน์ทดลองจนทนต่อการพิสูจน์ ว่ามันดับทุกข์ได้
เพียงแต่พอใจแล้วว่า พุทธศาสนานี่มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์...
"...กฎของ
วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
กฎอิทิปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่
แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มสนใจเรื่องต้นเหตุของความทุกข์
ต้นเหตุของวิกฤติการณ์กันอย่างเต็มที่ พบแล้วก็จำกัดหรือควบคุมตามแต่กรณี
เรื่องร้าย ๆ ในจิตใจของมนุษย์ก็จะลดลง..."
หลวงตาบัว: ช่วยชาติแท้จริง หันมาแก้ไขต้นเหตุ
|
พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หรือที่นิยมเรียกกันว่า หลวงตาบัว หรือ หลวงตามหาบัว เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี มรณภาพไป 5 ปีแล้ว แต่ลูกศิษย์มากมายยังคงระลึกถึงคุณงามความดีและคำสอนของหลวงตาฯ
"การช่วยชาติที่แท้จริง ให้ต่างหันมาแก้ไขที่ต้นเหตุ
คือ การทรงมรดกธรรมของพระพุทธศาสนา เอาศีลเอาธรรม ความประพฤติดีงาม
ด้วยเหตุผลหลักเกณฑ์เข้ามาอุดหนุนจิตใจ จนมีหลักประกันภายในใจ เรียกว่า
มีหลักใจ โดยหันกลับมาปรับปรุงตัวเราแต่ละคนๆ ให้มีความประหยัด
ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม
ด้วยการอยู่การกินการใช้การสอยการไปการมา
โดยให้ดูแบบของพระผู้มีหลักเกณฑ์ภายในใจ เป็นแบบอย่างของความประหยัด
ของผู้มีหลักเกณฑ์เหตุผล
ให้มีธรรมคอยเหนี่ยวรั้งไว้ในใจไม่ให้ถูกลากจูงด้วยกิเลสตัณหาราคะ
ด้วยความโลภโมโทสัน จนเลยเขตเลยแดน เหมือนรถที่มีแต่เหยียบคันเร่ง
ไม่เหยียบเบรก ย่อมเป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ในที่สุด
หากต่างมีการหันมาอุดหนุนทั้งทางด้านหลักทรัพย์ และหลักใจควบคู่กันไป
ปัญหาต่างๆ ของชาติย่อมทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับๆ ไป"
หลวงพ่อคูณ: หากคิดเป็นผู้นำ...ต้องเป็นกระโถน
|
กลางปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยและวงการพุทธศาสนาได้เกิดการสูญเสีย พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือ หลวงพ่อคูณ พระ
เกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
ที่มีผู้คนนับถือเลื่อมใสทั่วประเทศ เพราะคำสอนของหลวงพ่อฯเรียบง่าย
เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แต่แฝงไปด้วยข้อคิดและหลักธรรมล้ำลึก
“อยากให้บ้านเราเจริญนะ ไม่ยากหรอก ตั้งอยู่ในองค์ปัญจะทั้ง
5 คือรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย
เป็นมนุษย์สุดประเสริฐ หรือใครก็ตาม แม้แต่พระเราก็ต้องรักษาศีล 5
ถ้าไม่มีศีล 5 ประจำใจ ไม่ว่าพระรูปใดรูปหนึ่ง ก็เป็นพระไม่ได้เหมือนกัน
“กูไม่มีอะไรมาก กูไม่มีอะไรจะสอนพวกมึงหรอก
เพราะพวกมึงก็รู้ว่ากูพูดไม่เป็น พูดไม่เก่งเหมือนเขา
เทศนาว่ากล่าวอะไรก็ไม่เป็น กูมีแต่ว่าให้ละชั่ว ทำดีกันเท่านั้นแหละ
บุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ย ให้เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง ให้ละชั่ว ทำดี
มีศีลธรรมประจำใจ บุญเห็นกับตา บาปเห็นกับตา รักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่ว
ให้ตั้งอยู่ในเมตตา”
“การขับรถอย่างระมัดระวังไม่ประมาท สำคัญกว่าการเจิม
อย่างโบราณท่านว่า วิ่งไม่ดูตาม้าตาเรือก็ชนกันตาย การขับรถจะต้องดูทาง
ถ้ามันคดโค้งจะต้องระมัดระวัง”
“ลูกหลานเอ๋ย การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม จงทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด อย่าได้ทุจริตต่อหน้าที่เลย”
“หากมึงคิดเป็นผู้นำของแผ่น
ดิน องค์กรหรือครอบครัวที่ดี มึงต้องทำตัวเหมือนกระโถน
ยอมรับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเรื่องดีเลว เรื่องดีมึงเก็บไว้กับตัว
เรื่องเลวมึงทิ้งไว้ตรงนั้น แม้เขาถูกหรือผิดมึงก็ต้องรับฟังค่อยๆ
บอกให้เขาแก้ไข”
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น