วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555


เลาะขอบ "แม่น้ำโขง" สัมผัสชีวิตแรงงานเถื่อนชาวลาว

วันอังคาร ที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2555, 02.00 น.จากนสพ. แนวหน้า

ห้องแถวเก่าซอมซ่อหลายสิบห้อง หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่าๆ ฝาบ้านทำจากวัสดุเหลือใช้หลายชนิด ซ่อนตัวท่ามกลางดงทึบ ในพื้นที่ อ.นายูง จ.อุดรธานี สถานที่แห่งนี้ คือ ที่กินอยู่หลับนอนของแรงงานข้ามชาติชาวลาว ที่ลักลอบข้ามฝั่งโขง มาขายแรงงานที่เมืองไทย....
                ข้างต้นคือเศษเสี้ยวชีวิตแรงงานเถื่อน ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ “สกู๊ปแนวหน้า”  ได้ร่วมเดินทางกับ “มูลนิธิรักษ์ไทย”  ลัดเลาะตามลำน้ำโขง ช่วง จ.หนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อศึกษาชีวิตชาวลาว ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก
                เพราะสำหรับพวกเขาไม่มีอะไรน่ากลัวกว่า “ความอดอยาก” ที่อาจทำให้ “อดตาย” ทั้งครอบครัว และนี่คือแรงผลักดันทำให้พวกเขา “กล้า” ที่จะ“เสี่ยง” เข้ามาขุดทองที่เมืองไทย
                ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานอุดรธานี  ผู้คลุกคลีกับแรงงานชาวลาวในพื้นที่มานานหลายปี อธิบายภาพรวมให้ฟังว่า  มีแรงงานชาวลาว ขึ้นทะเบียนกับทาง  จ.อุดรธานี  ประมาณ 1.7 พันคน  สำหรับแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 4 เท่า ของแรงงานที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งเข้ามาประกอบอาชีพภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม
                “พวกเขาเข้ามาตามฤดูการ ข้ามไป-มา ง่ายมาก พวกผู้ชายจะเข้ามารับจ้างทำนา ทำก่อสร้าง  ทำสวนยาง ส่วน
สาวลาว จะเข้ามาขายตัว เป็นหญิงบริการ
                                                                ก่อนออกเดินทางจากเมือง“ลาว”
                ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ เล่าว่า ก่อนที่คนลาว จะเดินทางออกจากแผ่นดินเกิด จะต้องแจ้งให้ “นายบ้าน” ทราบว่าจะออกไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งจะมีข้อตกลงว่า เมื่อพวกเขาเดินทางกลับเข้าหมู่บ้าน จะต้องแบ่งเงินที่ทำงานมาได้ เพื่อพัฒนาบ้านเมือง
                “หากคนลาว ข้ามมาฝั่งไทย พวกเขาต้องเสียค่าหัวให้นายบ้าน  เป็นข้อตกลง ที่แต่ละเมืองเก็บมาก- น้อย ไม่เท่ากัน  เท่าที่คุยกับเพื่อนฝั่งลาว ขึ้นอยู่กับระยะเวลา  ถ้าไปทำงานเป็นปีก็ประมาณ 2,000 บาท  ถ้าไปหลายๆปี ต้องจ่ายเป็นหมื่นบาท  เพราะเขามองว่าคุณไม่ได้อยู่สร้างบ้านแปลงเมืองด้วยกัน  เพราะฉะนั้น เมื่อคุณหาเงินมาได้ คุณต้องเอาเงินมาช่วยสร้างบ้าน แปลงเมือง แต่ความจริง เป็นเงินเก็บกินเปล่า ที่ไม่ได้เอามาพัฒนาบ้านเมืองจริงๆ เงินจะอยู่ที่นายบ้าน เป็นช่องทางคอร์รัปชั่นของเขา  นายบ้านรอกินอย่างเดียว”
                เมื่อเก็บข้าวของ เดินทางออกจากหมู่บ้านแล้ว ด่านต่อมาที่ชาวลาว ต้องจ่าย คือค่าเรือข้ามฝั่งโขง 30 บาท และเสียค่าขึ้นฝั่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตรงจุดนี้ นายหน้าแรงงานเถื่อน จะเป็นผู้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทย ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับว่า มากี่คน อยู่นานขนาดไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอัตราเหมาจ่าย และขึ้นอยู่กับนายหน้าว่ามีเส้น “ใหญ่” เพียงใด และเมื่อแรงงานเหล่านี้ เข้ามาทำงานก็จะมีการเคลียร์กับเจ้าหน้าที่เป็นรายเดือนอีกครั้งหนึ่ง
                                                                ชีวิตที่เลือก...ที่จะอยู่ในซ่อง
                ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ เล่าว่า จากการลงฝังตัวในพื้นที่ พบว่า ผู้หญิงลาว จากแขวงต่างๆ จะเดินทางเข้ามาขายบริการในคาราโอเกะและซ่องต่างๆ  โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว หลังเดือนตุลาคม ผู้หญิงเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยเพียง 14-18 ปี และไม่เกิน 25 ปี  ปัญหาที่พบคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นเอดส์  เชื้อราในช่องคลอด หนองใน และ เริม ฯ
                “ ส่วนใหญ่พวกเขาชักชวนกันมา ส่วนที่หลุดเข้าวงจรค้ามนุษย์ ถูกทำร้าย กักขัง มีน้อย  เพราะตามซ่องที่ผมไปทำงานด้วย คุยกับแม่ทุกคน เขาก็ดีมาก คือ โดยธรรมชาติเขาต้องพึงพาอาศัยกัน ผู้หญิงทำงานหาเงินให้ แม่ก็ดูแล เหมือนอยู่บ้าน มีข้าว ปลา อยู่กิน บางคนที่คุยด้วยบอกว่า รักมากกว่าอยู่บ้านตัวเอง เพราะที่นี่สบาย”   
                “สำหรับที่ อุดรฯ มีซ่องเยอะ ประมาณไม่ต่ำกว่า 30-40 แห่ง  ค่าบริการครั้งล่ะ ไม่ต่ำกว่า 500 บาท  ผู้หญิง ได้ 300 บาท แบ่งให้แม่ 200 ค่ากินอยู่  จ่ายต่างหากอีกทีหนึ่ง   ผู้หญิงที่ทำงานแบบนี้ส่วนใหญ่เต็มใจ  อยากจะมา เพราะเห็นคนที่ทำงานแล้วได้เงินเยอะ เดือนหนึ่งหลายหมื่น เพราะค่าแรงที่ลาวถูกมาก ข้าราชการลาว เงินเดือนไม่กี่พันบาท” เขาว่า
                เมื่อถามถึงเรื่อง การจับกุมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ  ตอบสั้นๆว่า ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะในระดับพื้นที่ แม่เล้าและเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี
                “ตำรวจท้องที่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะพึงพาอาศัยกัน อาจมีการจ่ายสตางค์กัน  อย่างในซ่องอุดรฯ ก็ไม่จับ พวกที่จับ ส่วนมากเป็น หน่วยเฉพาะกิจมาจาก กทม.”
                ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ  คนเดิม บอกว่า ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ พบว่าขณะนี้เริ่มมีชนเผ่าต่างๆในภาคเหนือของลาว ทยอยลงจากดอย ลักลอบเข้ามาขายบริการใน จ.อุดรธานี !!
                “ ตอนนี้เริ่มมีชนเผ่า เข้ามาแล้ว  ถ้ามาจากภาคเหนือของลาว ไม่มีความรู้เรื่องเอดส์เลย เพราะเขาเป็นชนเผ่า อ่านหนังสือลาวไม่ได้  อ่านไทยยิ่งยาก  เมื่อไม่มีความรู้ เขาก็ใช้ถุงยางไม่เป็น ป้องกันตัวเองไม่ได้  การให้ความรู้เรื่องเอดส์เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเราต้องสื่อสารเป็นภาษาลาว แล้วต้องแปลงเป็นภาษาชนเผ่า  โดยอาศัยเพื่อนๆของพวกเขาที่พอจะพูดได้”
                “นอกจากนี้สาวลาวยังได้รับความนิยม เนื่องด้วยหน้าตาดี   ส่วนในประเทศลาว  ก็มีผู้หญิงรัสเซีย เริ่มเข้าไปขายบริการบ้างแล้ว เพราะเขาหน้าตาดีกว่าคนลาว  สาวลาว พอเลิกอาชีพนี้ พวกเขาหวังว่าจะมีเงินก้อน ไปซื้อที่ประกอบอาชีพ ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าจะขายบริการไปตลอดชีวิต พวกเขาชัดเจนในเป้าหมาย แต่ไม่มีทางเลือก บางคนเลิกอาชีพนี้ไปก็ได้สามีฝรั่ง ไปอยู่ต่างประเทศ”
                                                                ขายแรงงาน...เพื่อครอบครัว  
                เมื่อท้องไม่อิ่ม นอนไม่หลับ แล้วใครเล่าจะยอมอดตายอยู่กับที่ นี่เป็นเหตุผลหลักของ คนลาว ที่ดิ้นรนเข้ามาขายแรงงานในเมืองไทย  พวกเขากระจายตัวหลบซ่อนอยู่ตาม ไซค์งานก่อสร้าง สวนยางพารา หรือ นาข้าว ฯ   งาน
นี้ สกู๊ปแนวหน้า  ได้บุกเข้ากลางดง ในพื้นที่ อ.นายูง จ.อุดรธานี ซึ่งสร้างเป็นห้องแถวที่พักของแรงงานก่อสร้างชาวลาว
                ทว่าเมื่อไปถึงพบว่าชาวลาว ส่วนใหญ่อพยพไปยังพื้นที่อื่นแล้ว และบางส่วนหลบเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้ เหลือเพียง “แม่” คนไทยผู้ดูแลบ้าน
                จากการพูดคุยกับ แม่ ผู้ดูแลแรงงานลาว ได้ความว่า  คนงานลาว เหล่านี้ เข้ามาทำงานก่อสร้าง ที่วัดแห่งหนึ่ง โดยพวกเขาจะได้ค่าแรง 230 บาท สำหรับกรรมกร ส่วนช่างฝีมือ จะได้ค่าแรง  280-300 บาท ซึ่งถือว่าสูง ถ้าเทียบกับค่าแรงในลาว
                “คนงานพวกนี้ จะเข้ามาทาง อ.สังคม  จ.หนองคาย  ซึ่งตรงข้าม เมืองสังข์ทองของลาว  โดยมีผู้รับเหมาจัดการเคลียร์กับทางเจ้าหน้าที่  สำหรับแรงงานลาวที่นี่ เวลาไม่สบายก็พาไปหาหมอที่คลินิก  ส่วนใหญ่ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้  มีอะไรก็แบ่งกันกิน พวกเขากินง่าย กินผักต้มน้ำพริก  เขาจะเก็บเงินอย่างเดียว  ค่าจ้างจะจ่าย 15 วันครั้ง ทุกวันที่  5 กับ 20 ของทุกเดือน พวกเขาจะได้หยุดวันฝนตก หน้าฝนได้หยุดบ่อย” แม่ผู้ดูแลกล่าว
                                                                โดนเอาเปรียบทุกช่องทาง
                วิถีของแรงงานลาว เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันคือตั้งหน้า ตั้งตาทำงานเก็บเงิน เพื่อหวังนำเงินกลับไปซื้ออนาคตที่แผ่นดินเกิด และในทุกๆเดือนพวกเขาจะส่งเงินกลับไปให้แม่-เมีย-ลูก  ซึ่งหลายครั้งก็โดนคนไทยโกง
                ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ คนเดิม ให้ข้อมูลว่า เมื่อคนลาวเหล่านี้ทำงานเก็บเงินได้ ในแต่ละเดือนพวกเขาจะไปใช้บริการโอนเงินของคนไทย ซึ่งพวกเขาจะจ่ายเงินสด เพื่อให้คนไทย ทำการโอนเงินผ่านธนาคารไปให้ครอบครัวพวกเขาที่ฝั่งลาว
                “มันเป็นช่องทางเดียวที่คนลาวเหล่านี้ สามารถโอนให้ทางบ้านได้อย่างรวดเร็วมาก   ตามชายแดน อ.สังคม  มีคนไทยที่ทำอาชีพนี้เยอะมาก มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ได้ส่วนต่าง ครั้งล่ะหลายร้อยบาท  ค่าเป็นธุระให้ทุกอย่าง โอนปุ๊บโทรบอกทางบ้านฝั่งลาวให้เรียบร้อยเลย ว่า โอนเงินให้เจ้าแล้วนะ พวกร้านขายของชำใหญ่ๆจะรับทำ ต้องอาศัยความซื่อสัตย์พอสมควร เพราะคนลาวฟ้องร้องไม่ได้  ที่ผ่านมาเคยเจอคนลาวโดนโกง แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้  ต้องยอมรับชะตากรรม  พวกเขา โอนครั้งหนึ่งก็ประมาณ  5-6 พันบาท ลูก เมีย แม่ รออยู่”  ผู้ประสานงานภาคสนาม ฯ  คนเดิม กล่าวปิดท้าย
                ในด้านหนึ่ง แรงงานเถื่อนเหล่านี้ คือภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศชาติ ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาด้านสาธารณสุข และอาชญากรรม สารพัดที่จะตามมาเป็นขบวน  
                ทว่าในอีกมุมหนึ่ง คงไม่มีใครทนดูดายครอบครัวตัวเอง “อดตาย” ไปต่อหน้าต่อตา สำหรับแรงงานเหล่านี้ “ความอยู่รอด” อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น