วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

คนไทยทุกๆคนควรอ่าน

แนวคิด"สังคมเพื่อคนดี" สร้างได้...ถ้าทุกกลไกเอื้ออำนวย

วันจันทร์ ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555, 02.00 น. จากนสพ. แนวหน้า

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ข้อความข้างต้นเป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงในแง่ดัชนีชี้วัดความสงบสุขและเจริญก้าว หน้าของบ้านเมือง โดยเมื่อพูดถึงนิยาม “คนดี” แล้ว ถึงแม้ความเห็นจะแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องรายละเอียด แต่แก่นหลักนั้นทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ชาติใด นับถือศาสนาใดล้วนเห็นตรงกันว่าคนดีหมายถึงผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน หรือถ้าจะให้เป็นศัพท์ที่ทันสมัยในยุคปัจจุบันคือคำว่า “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ”

ทว่าในความเป็นจริง แม้เราจะอยากเห็นสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ประโยชน์ส่วนตน แต่ด้วยระบบกลไกต่างๆ โดยเฉพาะกลไกภาครัฐไม่ค่อยเอื้ออำนวยหรือส่งเสริมให้คนในสังคมอยากประพฤติตน ในทางที่ดีเท่าไรนัก ตรงกันข้ามกลไกเหล่านี้หลายๆ ครั้ง ยังบั่นทอนกำลังใจคนที่ทำตามกฎ หรือคนที่มุ่งหวังจะทำสิ่งที่ดีงาม ทำให้รู้สึกท้อแท้และหันไปทำความชั่วซึ่งได้ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก มากกว่า วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปดูต้นแบบหลายๆ อย่างในหลายประเทศว่าเขามีวิธีสร้างคนให้มีความคิดเพื่อส่วนรวมอย่างไร เผื่อว่าวันหนึ่ง เราจะได้เห็นสังคมไทยเรามีผู้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นอารยะ อย่างเขาบ้าง

ข้อคิดจากโลกตะวันตก
แม้มนุษย์จะพูดถึงเรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวมมานานแล้ว แต่มักจะกล่าวถึงในเชิงความเกี่ยวพันกับศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่า การอธิบายเชิงเหตุและผล เช่นกฎแห่งกรรมที่มักจะอ้างอิงนรก-สวรรค์ หรือการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะบันดาลโชคลาภให้คนทำดี และสาปแช่งผู้ทำชั่ว ทำให้แนวคิดเหล่านี้ตั้งอยู่บนความเลื่อนลอย จนกระทั่งในยุคที่สังคมตะวันตกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม อิทธิพลของศาสนจักรเริ่มลดลงและผู้คนหันมาสนใจความคิดเชิงเหตุผล (ตรรกะ) และสิ่งที่สามารถพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ได้เป็นหลักมากขึ้น แนวคิดเรื่องการเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวมจึงถูกนำมาตีความใหม่ในชื่อ “ทฤษฎีสัญญาประชาคม”
ซึ่งทฤษฎีสัญญาประชาคม คือการมองว่าการที่คนหมู่มากมารวมตัวเป็นสังคมต้องมีการทำสัญญาต่อกัน และการทำสัญญานั้น
ก็มักจะต้องหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือที่เรียกกันว่า ประโยชน์นิยม เพราะทรัพยากรนั้นมีจำกัด ทำให้ต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะจัดสรรให้ทรัพยากรนั้นเกิดประโยชน์ต่อคน หมู่มากได้มากที่สุด
“มีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายเรื่อง เรื่องแรก มีครั้งหนึ่งผมเดินทางไปยังเมืองเล็กๆ ในออสเตรเลีย มีคนไทยในคณะคนหนึ่งเผลอทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้น ชาวบ้านแถวนั้นไม่พอใจ ลุกขึ้นมาต่อว่าจนคนไทยคนดังกล่าวต้องยอมเก็บก้นบุหรี่ไปทิ้งถังขยะ เรื่องที่สอง ในฟินแลนด์ที่นั่นมีคนไม่รู้ไปนั่งเอาเท้าพาดเก้าอี้สาธารณะ ผมสังเกตเห็นรองเท้าชายคนนั้นก็ไม่ได้เลอะโคลนเลอะอะไร แต่ยายแก่ๆ คนหนึ่งเดินผ่านมาบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้เพราะเก้าอี้อาจจะเสียหาย หรือเปื้อนฝุ่นจากรองเท้า
ส่วนเรื่องที่สาม คือ ที่เดนมาร์ก หากใครที่เคยไปจะพบว่าที่นั่นแทบไม่มีอาคารสถานที่ที่ตกแต่งอย่างหรูหราอยู่ เลย สินค้าฟุ่มเฟือยก็มีไม่มากนัก เพราะชาวเดนมาร์กถือคติไม่ชอบความฟุ่มเฟือย นิยมใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย คนที่นั่นส่วนใหญ่ทำกับข้าวไปกินเองในที่ทำงาน และสำคัญที่สุดคือรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลให้เดนมาร์กถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศโปร่งใสอันดับต้นๆ ของโลก” เป็นคำบอกเล่าจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา (Harvard University - USA) ถึงประสบการณ์ที่ได้พบมาระหว่างการเดินทางไปในหลายประเทศ
ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ประเทศในโลกตะวันตกทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา มักจะมีการปลูกฝังค่านิยมในการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทั้งโดยทางการ เช่น เคารพกฎหมายและไม่หลีกเลี่ยง การจ่ายภาษี หรือโดยไม่ทางการก็เช่น การมีมนุษยธรรม ซึ่งเรามักพบเห็นองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มักมีจุดเริ่มต้นมาจากฝรั่งตะวันตกทั้งสิ้น “มีอยู่หนหนึ่ง มีฝรั่งที่มาอยู่เมืองไทยกลุ่มหนึ่งชวนผมไปช่วยเหลือสุนัขจรจัดใน กทม. นี่ขนาดไม่ใช่ประเทศของเขานะครับ แสดงว่านิสัยแบบนี้ติดมาตั้งแต่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดของเขาแล้ว”

ต้องเริ่มที่การศึกษา
มีคำถามต่อไปว่า แล้วสังคมตะวันตกใช้วิธีการใดจึงหล่อหลอมให้ประชาชนของเขามีสำนึกเพื่อส่วน รวมได้ขนาดนั้น ดร.เกรียงศักดิ์เล่าว่า ประเทศเหล่านั้นมีการสอนเรื่องสำนึกต่อส่วนรวมตั้งแต่เด็ก ผ่านแนวคิดสำคัญคือ “สิทธิและเสรีภาพ” ซึ่งไม่ใช่พูดถึงสิทธิของตนเท่านั้น ยังเน้นย้ำอีกด้วยว่าการละเมิดสิทธิของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นหลักเบื้องต้นก่อนจะก้าวไปสู่สำนึกต่อส่วนรวมในด้านอื่นๆ ต่อไป
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง จะต้อนรับและสนับสนุนอย่างดีกับผู้ที่มีประวัติเคยทำงานเพื่อสังคมมาอย่าง ต่อเนื่อง เพราะถือว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ ผู้ที่ได้เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จบไปแล้วมักจะกลายเป็นชน
ชั้นนำ (Elite) ของบ้านเมือง ดังนั้นคุณสมบัติที่ดีข้อหนึ่งของชนชั้นนำคือ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน

“ล่าสุดประธานาธิบดี Obama ของสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดที่จะทำโครงการขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือถ้านักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย คนไหนไปทำงานหรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อเนื่องตั้งแต่ 100 ชั่วโมงขึ้นไป รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้ด้วย” ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์มองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการจูงใจที่ดีให้เยาวชนคนหนุ่มสาวอุทิศตนเพื่อส่วนรวม และเมื่อทำบ่อยๆ เข้าแล้วก็จะติดเป็นนิสัยไปในที่สุด

ภาครัฐสำคัญที่สุด
ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายอาจจะมีจุดมุ่งหมายที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด การต่างๆ จะสำเร็จได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในด้านหนึ่งคือ กระบวนการยุติธรรมที่จะต้องเที่ยงตรง คือบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเสมอหน้ากันไม่มี 2 มาตรฐานแบ่งชนชั้น ยุติธรรม คือต้องตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่การหาแพะรับบาป และ รวดเร็ว คือ คลี่คลายคดีอย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้าจนเกินไป หากเป็นเช่นนั้นได้ประชาชนก็จะเคารพกฎหมายเพราะเชื่อมั่นในกระบวนการ ยุติธรรม ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ต้องสร้างระบบให้เอื้อต่อการทำความดีอย่างต่อเนื่อง

โดยยกตัวอย่างเกาะฮ่องกง ยุคทศวรรษ 1970ที่บ้านเมืองสกปรกมาก จนรัฐบาลฮ่องกงสมัยนั้นต้องรณรงค์ด้วยคำขวัญ “ต่อต้านความสกปรก” ให้ประชาชนรักษาความสะอาด และทำอย่างต่อเนื่องอยู่หลายสิบปี จนปัจจุบันพบว่าเกาะฮ่องกงสะอาดขึ้นมากทีเดียว

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในยุโรป มหาเศรษฐีทั้งหลายไม่นิยมทิ้งสมบัติไว้ให้ลูกหลานมากนักเนื่องด้วย “กฎหมายภาษีมรดก” ที่ยิ่งมีมรดกมากก็ยิ่งถูกเก็บภาษีมาก ทำให้ผู้มีฐานะมั่งคั่งมักจะยกสมบัติส่วนใหญ่ให้กับมูลนิธิเพื่อการกุศล ต่างๆ เพราะอย่างน้อยก็ยังมีชื่อเสียงว่าได้ทำเพื่อส่วนรวม ระบบเหล่านี้ล้วนเอื้อให้ประชาชนอยากทำประโยชน์แก่สาธารณะทั้งสิ้น

“สังคมใดที่คนทำชั่วแล้วรู้สึกว่าคุ้มเพราะไม่ถูกลงโทษ เขาก็จะมีแนวโน้นเลือกทำชั่ว ดังนั้นสังคมที่ดีต้องจัดระบบให้คนรู้สึกว่าทำชั่วแล้วไม่คุ้ม แต่ถ้าเปลี่ยนมาทำดีแล้วคุ้ม คือได้รับการยกย่อง ถ้าทำแบบนี้ได้คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกทำความดีมากกว่า ซึ่งตอนนี้

ผมมองว่าสังคมไทยเรากำลังเดินผิดทาง เรามีแต่ Idol ที่เป็นคนรวย แต่เรามี Idol ที่เป็นคนดีจริงๆ น้อยมาก แล้วเยาวชนจะเอาแบบอย่างที่ไหน” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า มักจะเกิดมาจากประชาชนของประเทศนั้นมีคุณภาพ กล่าวคือ รู้สึกหวงแหน ใส่ใจในสิ่งต่างๆ ที่เป็นของส่วนรวม ตั้งแต่สาธารณสมบัติทั่วๆ ไปเช่นโต๊ะ เก้าอี้ โทรศัพท์สาธารณะ ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ คือ การใส่ใจปัญหาของส่วนรวม เช่น การคอร์รัปชั่นหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแต่ของประเทศตนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั้งโลก เพราะถือว่าทุกประเทศมีความเกี่ยวพันกันหมด หากประเทศใดมีปัญหา ผลกระทบก็มักจะเป็นลูกโซ่โยงใยกันไปทั้งหมด

ซึ่งถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนั้นได้บ้าง...สังคมเราคงน่าอยู่มากขึ้นทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น