วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตำนานรักและผูกพัน ของ ลี กวน ยู กับ อาจู

เปิดโลกวันอาทิตย์ : ตำนานรักและผูกพัน ของ ลี กวน ยู กับ อาจู : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ 

 ตำนานรักและผูกพัน ของ ลี กวน ยู กับ อาจู

 

 
                        แม้จะถูกสื่อตะวันตกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการประชาธิปไตย แต่ลี กวน ยู รัฐบุรุษโลก กลับเป็นเผด็จการที่ชาวสิงคโปร์และโลกรักและเคารพยกย่อง กระทั่งสามารถอยู่ในวงการเมืองจวบจนนาทีสุดท้ายของชีวิต เทียบกับอดีตเผด็จการอย่างอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสแห่งแดนตากาล็อกฟิลิปปินส์ และอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งแดนอิเหนาอินโดนีเซีย ผู้เป็นเผด็จการร่วมรุ่นร่วมยุคสมัย แต่กลับถูกประชาชนรวมพลังอัปเปหิด้วยข้อหาเดียวกันนั่นก็คือทุจริต คอร์รัปชั่นยักยอกเงินของแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัวและใช้อำนาจหน้าที่ใน ทางมิชอบ กระทั่งติดอันดับ 10 ยอดผู้นำสุดโกงกินมากที่สุดในโลก 
 
                        ยิ่งไปกว่านั้น หลังบ้านของมาร์กอสและซูฮาร์โตต่างก็ขึ้นชื่อลือเลื่องเช่นกันในเรื่องการ รับเงินสินบน กระทั่งนางอิเมลดา มาร์กอส ได้รับฉายาว่า "มาดามผีเสื้อเหล็ก" และ"มาดาม 3 เปอร์เซ็นต์ " ส่วนนางสตี ฮาร์ตินาห์ หรือ "มาดามเทียน" คู่ชีวิตของซูฮาร์โต ก็ได้รับสมญาว่า "มาดาม 10 เปอร์เซ็นต์" จากการหัก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าวิ่งเต้นให้บริวารว่านเครือของซูฮาร์โต
 
                        แต่เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับครอบครัวของลี กวนยูและนางกัว เก็ก จู หรือ "อาจู" ภรรยาคู่ชีวิต ซึ่งไม่เคยมีข้อครหาแม้แต่น้อยว่าทุจริตคอร์รัปชั่นหรือรับสินบนใดๆ ยิ่งกว่านั้นมาดามลี ซึ่งไม่ได้เป็นโฉมสะคราญแบบนางอิเมลดา มาร์กอส ที่เคยสวมมงกุฎรองนางงามฟิลิปปินส์มาก่อน หากแต่มากปัญญาแบบนางอุยซี ภรรยาของขงเบ้ง ก็ยินดีทำตัวเป็นช้างเท้าหลัง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของลี กวน ยู  อย่างเงียบๆ คอยให้กำลังใจจนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง
 
                        ลีถึงกับออกปากยกย่องว่าเธอเป็นยิ่งกว่าภรรยา เพราะยังเป็นเพื่อนแท้และที่ปรึกษาผู้รู้ใจที่ตัวเองไว้วางใจมากที่สุด  
 
                        สมกับเป็นคู่สร้างคู่สมกันมาแต่ปางบรรพ์ ในฐานะที่ต่างเป็นรักแรกและรักเดียวในกันและกัน และเป็นเงาของกันและกันเรื่อยมา แม้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมานานถึง 63 ปี เหตุนี้ จึงไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อย เมื่อ "อาจู" เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเย็นวันที่ 2  ตุลาคม 2553  ลี กวน ยู จึงสารภาพว่านับตั้งแต่ไม่มีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากอยู่เคียงข้าง ชีวิตของตัวเองก็เปลี่ยนไป ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว  
 
                        และนับแต่นั้น รัฐบุรุษโลกลี ก็หมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อไปตามลำพัง นอนป่วยกระเสาะกระแสะอยู่แต่บนเตียงและต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตเรื่อยมาจน กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
 
                        แม้ภายนอกจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดขาด กระทั่งสามารถนำเกาะสิงคโปร์ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติแม้แต่น้อยให้กลายเป็น เกาะมหัศจรรย์และเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหญ่แห่งเอเชีย  แต่ในเรื่องของความรักแล้ว ลี กวน ยู กลับเป็นคนรักและสามีที่สุดแสนอ่อนโยน รักเดียวใจเดียว และให้ความสำคัญกับ "อาจู" เสมอมา ในฐานะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่สามารถเอาชนะเขาได้ในเรื่องการเรียน
 
                        ตั้งแต่เด็ก กัว เก็ก จู ได้ชื่อว่าเป็นคนเรียนเก่งมากๆ สอบได้ที่ 1 ระหว่างการสอบชั้น ม.6 เคมบริดจ์ทั่วมาลายา และขณะมีอายุ 16 ปี ก็เป็นนักเรียนหญิงเพียงคนเดียวที่เข้าไปเรียนพิเศษที่วิทยาลัยราฟเฟิลส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนชายชื่อดังเพื่อเตรียมตัวสอบชิงทุนควีนส์ สกอลาร์ชิป แล้วได้พบกับลีเป็นครั้งแรก 
 
                        ความรักที่แม้แต่สวรรค์ยังอิจฉาของทั้ง 2 คนปรากฏอยู่ในหนังสือบันทึกอัตชีวประวัติของลี กวน ยู ที่เผยแพร่เมื่อปี 2542 ซึ่งเล่าหมดเปลือกว่าได้พบกันครั้งแรกปี 2487 ตอนที่เธอเป็นนักเรียนหญิงเพียงคนเดียวของวิทยาลัยชื่อดังที่เป็นแหล่งรวม ของสุดยอดนักเรียน 150 คน แต่ในครั้งนั้น นอกจากจะไม่ใช่รักแรกพบแล้ว 
 
                        ทั้ง 2 คนยังเหมือนกับคู่กัดที่ต้องแข่งกันเพื่อชิงความเป็นที่ 1 ในการสอบวิชาต่างๆ ปรากฏว่าสาวน้อยกัว เก็ก จู ซึ่งมีอายุมากกว่าหนุ่มน้อยลี กวน ยู 2 ปีสามารถเอาชนะได้ที่ 1 ในวิชาภาษาอังกฤษและเศรษฐศาสตร์ ส่วนหนุ่มน้อยลีได้ที่ 2 หลังจากเลิกคิ้วและตีสีหน้าใส่กัน มิตรภาพกลับทวีความแนบแน่นมากขึ้น ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความหวาดระแวง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง สุดท้ายก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความรักในอีก 2 ปีให้หลัง
 
                        หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พ่อของลี กวน ยูกัดฟันส่งแฮรี ลี และเดนนิส น้องชายไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในหนังสืออัตชีวประวัติ ลีสารภาพว่า "เรายังเด็กและกำลังมีความรัก จึงได้แต่กังวลห่วงใยและเฝ้าหวังว่ากัว เก็กจูจะสามารถสอบชิงทุนควีนส์ สกอลาร์ชิป ได้เพื่อจะได้มาเรียนต่อที่เคมบริดจ์ด้วยกัน....ผมถามเธอว่าจะคอยผมกลับมาใน อีก 3 ปีให้หลังหรือไม่ อาจูถามผมว่ารู้หรือเปล่าว่าเธอแก่กว่าผม 2 ปีครึ่ง ผมตอบว่ารู้และได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว ผมเองก็เป็นเด็กโตเกินวัย เพื่อนๆ ล้วนแต่มีอายุมากกว่า ยิ่งกว่านั้น ผมก็ต้องการใครสักคนที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใครที่ไม่รู้จักโตและต้องการให้คนคอยปกป้องดูแลตลอดไป ผมเองก็ไม่ต้องการมองหาหญิงอื่นที่ทัดเทียมกันและสนใจอะไรๆ เหมือนกัน เธอตอบว่าเธอจะรอผม" แม้ว่าพ่อแม่ของเธอจะไม่ยินดีพิจารณาแฮรี ลีให้เป็นว่าที่ลูกเขยก็ตาม
 
                        หลังสงคราม อาจูได้กลับมาเรียนต่อที่ราฟเฟิลส์และสอบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง รวมทั้งสอบชิงทุนควีนส์ สกอลาร์ชิปด้วย ซึ่งทุนนี้จะให้เด็กเรียนดีชาวสิงคโปร์ปีละทุนเท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าเธอสอบชิงทุนนี้ไม่ได้ เธอก็ต้องเฝ้ารอคอยลีถึง 3 ปี ซึ่งต่างก็ไม่ปรารถนาเช่นนั้น สาวหัวดีและเรียนเก่งอย่างอาจูจึงฮึดสู้และก็ไม่ทำให้ผิดหวัง 
 
                        เธอสอบชิงทุนควีนส์ สกอลาร์ชิปได้ดังหวัง แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคไม่คาดฝัน เนื่องจากทางการไม่สามารถหาที่ว่างในมหาวิทยาลัยให้ได้ จึงแจ้งให้เธอรออีกหนึ่งปี แต่หนุ่มน้อยแฮรี ลี กลับไม่สามารถทำใจรอได้ จึงได้วิ่งเต้นผ่านคณบดี กระทั่งยอมรับให้เธอมาเรียนที่เคมบริดจ์ได้ในเทอมถัดมา 
 
                        สองหนุ่มสาวจึงได้มาพบหน้ากันใหม่ในกรุงลอนดอน  หลังจากนั้นไม่นาน ลี ก็ขอแต่งงานเงียบๆ อาจูตอบตกลงโดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อย แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าขัดต่อประเพณีก็ตาม ทั้ง 2 จึงได้แอบแต่งงานกันที่เมืองสแตรทฟอร์ด ริมแม่น้ำเอวอน อันเป็นเมืองบ้านเกิดของเชคสเปียร์เมื่อปี 2490 
 
                        หนุ่มน้อยลีได้ซื้อแหวนทองคำขาวให้ ซึ่งอาจูได้ร้อยกับสายสร้อยสวมคล้องคอไว้ตลอดมา สองหนุ่มสาวได้ปิดบังเรื่องนี้ไม่ให้ใครรู้แม้กระทั่งพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งตราบจนเสียชีวิตก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้ เพราะกลัวว่าทางบ้านและเจ้าของทุนจะไม่ยอมรับและอาจยึดทุนคืน และโลกเพิ่งรู้ความลับนี้จากหนังสืออัตชีวประวัติของลี กวน ยู ซึ่งเล่าว่าเมื่อเดินทางกลับสิงคโปร์ ทั้ง 2 คนได้ทำพิธีแต่งงานอย่างถูกต้องตามประเพณีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2493 "ผมไม่คิดว่าเป็นข้อแก้ตัวแต่อย่างใด ที่ต้องแต่งงาน 2 ครั้งกับผู้หญิงคนเดียวกัน"
 
                        หลังจากแต่งงานแล้ว อาจูทำหน้าที่เป็นแม่บ้านและทำงานเป็นทนายความในสำนักทนายความลี แอนด์ ลี ที่ลีและเดนนิส น้องชาย ร่วมกันตั้งขึ้นมา ก่อนที่ลีจะวางมือจากสำนักทนายความแห่งนี้เพื่อไปเล่นการเมือง ปล่อยให้อาจูและเดนนิสช่วยกันบริหาร กระทั่งกลายเป็นสำนักทนายความที่ใหญ่ที่สุด 
 
                        และแม้จะมีทายาทคนแรกด้วยกันนั่นคือลี เซียน หลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2495  เธอก็ช่วยงานของลีโดยเป็นคนตรวจร่างถ้อยแถลงต่างๆ ด้วยภาษาที่ง่าย แจ่มแจ้งและตรงประเด็น ทำให้ลี ประสบความสำเร็จในงานทนายความ อาจูยังช่วยสอนเคล็ดลับการเขียนภาษาอังกฤษให้กระชับและใช้ประโยคที่มีประธาน เป็นทำกริยานั้นโดยตรง ที่สำคัญคือเป็นคนช่วยร่างธรรมนูญของพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ที่ลี กวน ยูตั้งมากับมือ และยังเป็นคนช่วยแก้สำนวนภาษาให้ถูกต้อง 
 
                        ในหนังสืออัตชีวประวัติ ลี กวน ยู ได้ยกย่องเธอ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือการมีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองออกล่วงหน้าว่าการผนึกรวมสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายู ท้ายที่สุดก็จะล้มเหลว เนื่องจากความแตกต่างของวิถีชีวิตและทัศนะการเมืองของผู้นำพรรคอัมโน พรรครัฐบาลมาเลเซีย ปรากฏว่าเธอทายถูกเพราะท้ายที่สุดมาเลเซียก็อัปเปหิสิงคโปร์เมื่อปี 2508 ทำให้ลี กวน ยู ฮึดสู้ตั้งเป็นประเทศและตัวเองก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกนานติดต่อกันถึง 31 ปี 
 
                        ในช่วงผ่องถ่ายอำนาจนั้น "อาจู" ยังมีส่วนช่วยเหลือลีในการร่างกฎหมายแยกประเทศให้ครอบคลุมเรื่องที่มาเลเซีย จะต้องรับประกันว่า จะต้องจ่ายน้ำประปาให้สิงคโปร์ตลอดไป และลีได้ใช้สัญญาข้อนี้มาอ้างทุกครั้งที่ผู้นำมาเลเซียขู่จะตัดน้ำประปา
 
                        ช่วงที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ อาจูคอยเป็นกำลังใจและมีส่วนช่วยสถาปนาประเทศสิงคโปร์มากับมือ "ตอนที่เกิดวิกฤติไม่ว่าจะครั้งไหนๆ เราจะไม่ยอมปล่อยให้อีกคนหนึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยว อ้างว้างตามลำพัง ตรงกันข้าม เราจะเผชิญกับวิกฤติด้วยกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข แบ่งปันความรู้สึกกลัวและความหวังด้วยกัน ในช่วงนั้นๆ เรายิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไป ความผูกพันของเราก็ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นตามลำดับ"
 
                        มาดามลีก็มักจะเล่าตำนานชีวิตให้คนรุ่นหลังฟัง พร้อมกับสารภาพว่า แม้เธอจะเป็นนักบุกเบิกการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีรุ่นแรก แต่เธอก็ยินดีทำหน้าที่ภรรยาที่ดี เดินทางไปกับเขาเหมือนเป็นเงาตามตัวโดยเฉพาะการเดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรี ทางการทูตและการพบปะกับรัฐมนตรีจากต่างประเทศ "ฉันจะเดินตามหลังสามี 2 ก้าวเสมอ"
 
                        แต่สิ่งที่เธออุทิศให้ตลอดก็คือการดูแลครอบครัว ทุกเที่ยงเธอจะกลับบ้านทำอาหารกลางวันให้ลูกทั้ง 3 คน ยามว่างก็คอยจัดทำประวัติและเก็บแฟ้มรูปของลูกๆ ทุกคนจนกระทั่งโต ยามว่างก็จะชอบทำสวน เลี้ยงนก พาลูกๆ และหลานๆ ไปเดินเล่น
 
                        อาจู เป็นนักกฎหมายอาชีพนานกว่า 40 ปี กระทั่งเริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจเมื่อปี 2546 ลี กวน ยู ซึ่งแม้จะเติบโตในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ผู้ชายไม่ต้องทำอะไรเองแม้กระทั่งตอก ไข่ ก็สลัดความเป็นใหญ่ทิ้งทันที และปรับวิถีชีวิตของตัวเองใหม่เพื่อจะได้ดูแลภรรยาคู่ยากอย่างใกล้ชิด 
 
                        เมื่อตาข้างซ้ายของเธอเริ่มมืดมัว ลีก็จะนั่งตรงข้างซ้ายของเธอระหว่างอาหาร คอยให้กำลังใจเธอให้ค่อยๆ กินอาหาร และเมื่อเธอทำอาหารหก เขาก็จะค่อยๆ เก็บเศษอาหารทิ้ง นอกจากนี้ก็คอยกระตุ้นให้อาจูว่ายน้ำทุกวันและจะเป็นคนวัดความดันให้วันละ หลายครั้ง แม้ว่าลี เหว่ย หลิง ลูกสาวคนกลางซึ่งเป็นหมอจะขอให้แพทย์คนหนึ่งติดอุปกรณ์วัดความดันสวมที่ข้อ มือเหมือนนาฬิกาก็ตาม แต่อาจูเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ฉันอยากให้สามีของฉันเป็นวัดความดันให้มากกว่า" 
 
                        โรคหัวใจที่กำเริบเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2551 ทำให้อาจูต้องนอนแบ่บอยู่บนเตียง พูดไม่ได้ แต่ยังมีความรู้สึกและรับรู้คำพูดของคนอื่นๆ ทุกวันหลังเลิกงาน ลีก็จะมานั่งข้างเตียงเล่าให้เธอฟังว่าทำอะไรบ้าง และทุกคืนก็จะอ่านบทกวีที่อาจูชื่นชอบให้ฟังนาน 2 ชั่วโมงโดยไม่มีขาดแม้แต่คืนเดียว และเนื่องจากหนังสือรวมบทกวีนั้นแสนจะหนาและหนัก ลีจึงต้องวางหนังสือบนขาตั้งดนตรี ปรากฏว่าคืนหนึ่งเขาเผลองีบหลับ กระทั่งหน้ากระแทกขาตั้งเป็นรอยช้ำ แต่ก็ไม่ทำให้ลีถอดใจแต่อย่างใด ยังคงอ่านบทกวีให้ภรรยาคู่ยากฟังทุกคืน และแม้จะประกาศว่าเลิกนับถือทุกศาสนาแล้วก็ตาม  แต่ลี กวน ยู กลับสวดมนต์ภาวนาให้อาจูมีอาการดีขึ้น ว่ากันว่าลี เครียดกับอาการป่วยของเธอยิ่งกว่าคราวที่ประสบมรสุมทางการเมืองเสียอีก
 
                        หลังจากนอนนิ่งบนเตียงนาน 2 ปี "อาจู" ก็จากไปอย่างสงบด้วยวัย 89 ปี ลีค่อยๆ เดินไปที่โลงศพเพื่อนำดอกกุหลาบแดงไปวางบนร่าง พลางใช้มือขวาลูบใบหน้าของเธอ ก้มลงจุมพิตที่หน้าผากถึง 2 ครั้ง ร่ำลา "อาจู" เป็นครั้งสุดท้าย แสดงออกถึงความรักมั่นที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยนจวบจนวันตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น