พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย |
ครั้งทรงวัยเยาว์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดล อันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบี สงขลา (อังกฤษ: Baby Songkla) ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก" |
พระนามภูมิพลอดุลยเดชนั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja"ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่า ได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบจนปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา |
การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซานน์ (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne) |
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง |
ทรงประสบอุบัติเหตุ
หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามลำดับ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซานน์ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด
ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนกระทั่ง หายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา |
ขึ้นครองราชย์
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
เดิมที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา |
อภิเษกสมรส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ |
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" |
ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสี ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระราชโอรสและพระธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี |
ทรงผนวช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน |
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จไปทรงรับบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์ เป็น กรมหลวง |
ครองราชย์นานที่สุดในโลก
นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติตามคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลขณะมีพระชนมายุ 17 พรรษาสืบมาจวบจนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทรงนำประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปัญหาต่างๆ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ ยังผลให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นตลอดมา
ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร พระราชกรณียกิจนานัปการนั้น ล้วนอำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ จึงปรากฏพระเกียรติคุณแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ เป็นที่ประจักษ์พระปรีชาสามารถทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก
ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 คณะรัฐบาลและประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี อย่างยิ่งใหญ่ทั้งส่วนกลางและทุกภาคทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนมิถุนายน
ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการและพระราชสัตยาธิษฐาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ |
พระราชกรณียกิจ
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระประมุขแห่งประเทศไทย เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทย ตลอดพระชนมายุของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการจัดการและพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริมและอื่นๆ |
ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามพระราชประสงค์จึงได้เกิดขึ้นอย่างมากมายกว่า 2,000 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎรทั้งสิ้น
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และได้รับการกล่าวถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ |
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น