ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นภาวะการเจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยที่มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากขึ้น อาการที่เกิดขึ้นคือเจ็บหน้าอกและเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลังหรือปฏิบัติภารกิจทางกายได้ ซึ่งมักเกิดจากหลอดเลือดที่ตีบ และการเสียชีวิตก็มักเกิดจากภาวะการตายฉับพลันของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมักเกิดจากหลอดเลือดที่อุดตันเฉียบพลัน
การตีบหรือการตันของหลอดเลือดนั้นมักจะมีภาวะการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ถือว่าเป็นภาวะเสื่อมอย่างหนึ่งและการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดนี้จำเป็นต้องมีการสะสมของแคลเซียม หรือ หินปูน ร่วมด้วย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง ดังนั้นการตรวจแคลเซียมที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจก็เปรียบเสมือนการตรวจพบการเกาะหรือสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจเพื่อคาดเดาโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจหลายอย่างด้วยกัน อาทิ การตรวจระดับไขมันในเลือด การตรวจความดันโลหิต การเดินวิ่งสายพานและการตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจก็เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งมีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่มีมากมาย และดูเหมือนว่าจะใช้ระดับหรือค่าที่ตรวจพบได้ในการคาดเดาโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้เพิ่มขึ้นจากการตรวจโดยทั่วไป และจะใช้ในการแยกแยะผู้ที่มีความเสี่ยงในระดับกลาง
ตัวอย่างเช่น นายนิพนธ์ อายุ 64 ปี มีประวัติความดันสูง เป็นโรคเบาหวาน และสูบบุหรี่จัด มีอาการเหนื่อยแน่นหน้าอกบ้างเมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้นที่ 3 จากลักษณะข้อมูลนี้บ่งบอกได้ว่านายนิพนธ์มีโอกาสเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจสูง (ปัญหาที่กล่าวถึงคือมีโอกาสที่จะมีอาการแน่นหน้าอกฉับพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเสียชีวิตฉับพลันทันที หรือต้องได้รับการรักษาด้วยการทำผ่าตัดบายพาสหรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน) โอกาสสูงคือ มากกว่า30% หมายความว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าคนร้อยคนแบบคุณนิพนธ์ จะมี 30 คนที่เกิดปัญหาดังกล่าว คุณนิพนธ์ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ การตรวจแคลเซียมจะไม่เอื้อประโยชน์เท่าใดนัก เว้นแต่ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดูแลรักษา เมื่อพบว่ามีการสะสมของแคลเซียมเป็นอย่างมาก
นางสาวยุพิน อายุ 24 ปี อาชีพพยาบาล ไม่มีประวัติเจ็บป่วย แต่มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นระยะ ๆ และไม่สูบบุหรี่ ลักษณะแบบนี้บ่งถึงผู้ที่ยังปราศจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจในอีก 10 ปีข้างหน้า การตรวจแคลเซียมในหัวใจจะไม่มีความจำเป็นและไม่เอื้อประโยชน์เท่าใดนัก
นายพินิจ อายุ 50 ปี ไม่มีประวัติโรคหัวใจ แต่ชอบสูบบุหรี่ ไม่จำกัดอาหาร น้ำหนักขึ้นมาโดยเฉลี่ยครึ่งกิโลกรัมต่อปีหลังจากจบมหาวิทยาลัย ยังสามารถเดินห้างสรรพสินค้าได้โดยไม่มีอาการแต่อย่างใด คุณพินิจยังไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนไข้ แต่ก็กลัวจะเป็นโรคหัวใจ เพราะเพิ่งจะมีเพื่อนเสียชีวิตเฉียบพลันขณะเล่นกอล์ฟเมื่ออาทิตย์ก่อนจากลักษณะของคุณพินิจบ่งบอกถึงผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในระดับกลางที่จะเกิดปัญหาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ กล่าวคือประมาณร้อยละ 10–20 หรือในระยะ 5 ปีข้างหน้าคนร้อยคนอย่างคุณพินิจ 10-20 คนจะเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บหน้าอกฉับพลันต้องทำบายพาสหรือต้องทำบอลลูน หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตฉับพลันทันที คุณพินิจไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ในใจก็คิดว่าหยุดสูบบุหรี่ได้ก็คงจะพอ การตรวจหาและวัดระดับการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจในคนทั่วไปที่มีลักษณะแบบนี้จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพื่อบ่งบอกถึงความเสี่ยงในอนาคต และช่วยตัดสินใจในการเลือกการดูแลรักษานอกเหนือไปจากการเลิกสูบบุหรี่
ถ้าคุณพินิจ มีระดับการสะสมของแคลเซียมมากกว่า 400 ขึ้นไป โอกาสที่จะเกิดปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเกือบ 30% และหมายถึงความจำเป็นที่ต้องเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ความจำเป็นที่ต้องรับยาบางชนิดเพื่อป้องกันการอุดตันของโรคหลอดเลือดหัวใจอาทิ ยาแอสไพริน ยาสะเตติน และอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเดินสายพานเพื่อทราบถึงสภาพความคล่องตัวของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดหัวใจ
ถ้าคุณพินิจ มีระดับการสะสมของแคลเซียมไม่มากนัก คือน้อยกว่า 100 การเลิกบุหรี่ก็คงเป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่ควรจะทำ แต่ยังไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ส่วนผู้ที่มีระดับระหว่าง 100-400 ก็เป็นกลุ่มที่ต้องระวังมาก ควรเลิกบุหรี่เช่นกัน และควรตรวจแคลเซียมหัวใจอีกครั้งทุก 2 ปี ซึ่งถ้ามีปริมาณมากขึ้นก็คงต้องมีการปรับพฤติกรรมบางอย่างมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี รวมไปถึงรับประทานยาเพื่อชะลอการสะสมของไขมันมากขึ้นอีก เช่น ยาในกลุ่มสะเตติน ยาแอสไพริน
ข้อดีของการตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจคือ ไม่ต้องออกกำลัง นอนเฉยๆผ่านเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องฉีดสีคือให้น้ำเกลือ ข้อสำคัญคือไม่เจ็บตัว แต่เสียสตางค์ ข้อมูลที่ได้ไม่ผันแปรนัก และค่าที่ตรวจได้คงที่หากตรวจซ้ำในระยะเวลาใกล้กัน (ไม่เหมือนกับค่าระดับน้ำตาลในเลือด หรือ ความดันเลือดที่แปรเปลี่ยนในแต่ละเวลา และคนที่วัด) ดังนั้นการตรวจแคลเซียมจึงเป็นทางเลือกในการตรวจหัวใจและอาจจะช่วยหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจเฉียบพลันทันทีก็ได้.
รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น