รูปแบบของสถาปัตยกรรมแต่ละพื้นที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ช่วงวิกฤติน้ำท่วมในขณะนี้ คนไทยได้บทเรียนที่ว่าการสร้างที่อยู่อาศัยที่อยู่ในทิศทางน้ำผ่าน ต้องออกแบบเพื่อรองรับภัยเหตุการณ์น้ำท่วมไว้ด้วย ดังเช่นเรือนไม้ใต้ถุนสูงในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ขณะที่ พื้นที่ภาคอีสานเมื่ออดีตไม่ได้เป็นเส้นทางน้ำผ่านแต่การสร้างเรือนไม้ใต้ถุนสูง เพื่อใช้พื้นที่ใต้ถุนเป็นที่อยู่อาศัยในช่วงกลางวันที่อากาศร้อน
เมื่อปี พ.ศ. 2550 จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ในอ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ใช้พื้นที่ของฟาร์มกว่า 10 ไร่ จัดตั้งเป็นหมู่บ้านอีสานขึ้น โดยเสาะแสวงหาบ้านเก่า ช่างพื้นบ้านมาปลูกสร้างบ้านไว้ รวมทั้ง “เฮือนโคราช” และในปีนี้จิม ทอมป์สัน ฟาร์มได้ขยายหมู่บ้านอีสานออกไป มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ สร้างบ้านอีสานขึ้นมาใหม่ และได้จัดสร้างสิมกลางน้ำ เพื่อรับกิจกรรมฟาร์มทัวร์ ปี ค.ศ.2011 ระหว่างวันที่ 17 ธ.ค. 54-8 ม.ค. 55 อย่างไรก็ตามเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางสถาปัตยกรรมของอีสาน ให้กับเหล่าสถาปนิก นักศึกษา และประชาชน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ได้ร่วมกับกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน จัดงานเสวนา “สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานพื้นถิ่น” ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ม.ขอนแก่น กล่าวว่า รูปแบบเรือนพื้นถิ่นในภาคอีสาน จำแนกออกได้เป็น 1. เรือนแฝดหรือเรือนจั่วคู่ ลักษณะเป็นเรือนที่ปลูกคู่กันสองหลัง ประกอบไปด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งกันพื้นที่ในเรือนเป็นส่วนนอน และเรือนโข่ง อาจมีผนังเพียงบางด้านเปิดโล่ง 2. เรือนจั่วเดียว หรือเรือนเกย เป็นเรือนที่มี 3 ห้องเสา มีจั่วเดียวคลุมส่วนเรือนใหญ่ (เรือนนอน) 3. เรือนชั่วคราว ลักษณะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ เป็นเรือนติดพื้นดิน เป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน สำหรับการใช้พื้นที่เรือนในภาคอีสาน จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น “ห้องเปิง” เป็นห้องที่มีความสำคัญในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของสิ่งเซ่นบูชา และยังเป็นห้องนอนสำหรับลูกชาย “ห้องกลาง” เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างห้องเปิงและห้องส้วม (ส่วม) เป็นพื้นที่นอนของพ่อแม่ “ห้องส้วม” เป็นห้องนอนของลูกสาว อยู่ด้านริมสุดของเรือน ตรงข้ามห้องเปิงเสมอ “เรือนครัวไฟ” ที่สำหรับหุงหาอาหาร เรือนครัวเชื่อมกับเรือนใหญ่ด้วยชานน้ำ เรือนครัวมักล้อมด้วยฝาโปร่งเพื่อการระบายอากาศที่ดี “ชานแดด”และ “ชานน้ำ” เป็นพื้นที่โล่งไม่มีหลังคาคลุม
ด้าน ผศ.สมชาย นิลอาธิ อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศึกษา ม.มหาสารคาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักการเลือกทำเลที่ตั้งจะแบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่หลัก ๆ แล้วต้องมีน้ำ และเกลือเป็นตัวหลัก เพราะเกลือเป็นทั้งยา และใช้ถนอมอาหาร วิถีเกษตรต้องใช้ควายไถนา ควายตัวผู้จะไถนาได้ต้องตอนก่อน การตอนควายต้องใช้เกลือในการรักษาบาดแผล นอกจากนี้การสร้างเรือนจะมีข้อห้ามบอกเล่าสืบต่อกันมา เช่น ห้ามปลูกเรือนคร่อมทาง คร่อมตอ คร่อมน้ำ ห้ามปลูกเรือนคร่อมทางไทยเที่ยว อธิบายได้ว่าเมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีเส้นทางเดินทัพ บ้านที่ขวางเส้นทางดังกล่าวก็พังได้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของ ผศ.สมชาย เกี่ยวกับการอยู่อาศัยในบ้านอีสานยังมีเพิ่มเติมอีกว่า ห้ามผู้หญิงนุ่งซิ่นผืนเดียวผ่านห้องเปิง อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อธิบายได้ว่า คนอีสานนุ่งซิ่นผ้าไหม ผ้าไหมเก่าเมื่อใช้ไปนานจะบางยามต้องแสงแดดยิ่งบางลง โดยเฉพาะในช่วงที่มีลมหนาวมาผ้าแนบเนื้อ ดังนั้นคนอีสานจะนุ่งซิ่นซ้อนซิ่น ด้านในเป็นผ้าฝ้ายด้านนอกเป็นผ้าไหม
ด้าน รศ.กาญจนา ตันสุวรรณรัตน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวถึงลักษณะของเรือนโคราชว่า เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง หลังคาจั่ว ตัวเรือนแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เรือนนอน ถัดลงมาเป็นส่วนหน้าเรือนหรือระเบียง และส่วนที่ 3 เป็นนอกชานเป็นส่วนที่ต่ำสุดของบ้านไม่มีหลังคาคลุม มีระดับต่ำกว่าระเบียง นอกชานทำหน้าที่เชื่อมกับพื้นดินโดยอาศัยบันไดที่ชักขึ้นเก็บได้ และเชื่อมกับส่วนที่ 4 คือห้องครัว การวางตัวเรือนของคนโคราช หันหน้าเรือนไปทางทิศเหนือ ทำให้คนโคราชหันหัวนอนไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นการวางอาคารที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของ จ.นครราชสีมา ซึ่งหนาวจัดในฤดูหนาว เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในฤดูร้อนและฤดูฝนจะมีอากาศร้อนจัดและมีฝนตกจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เรือนโคราชเจาะช่องหน้าต่างทางทิศใต้รับลมโดยเจาะจงแผงฝาละ 1 ช่อง มีขนาดเล็กประมาณ 40 ซม. สูง 78 ซม.เท่านั้น เพราะการทำฝาผนังในสมัยแรก ๆ ใช้ฝาปรือกรุเซงดำ (ปรือ คือ พืชตระกูลกก ขึ้นได้เฉพาะแหล่งน้ำที่สะอาดเท่านั้นมีอายุการใช้งานนับ 100 ปี)
ด้าน ติ๊ก แสนบุญ อ.คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ ม.อุบลราชธานี ให้ภาพรวมของสถาปัตยกรรมอีสานของศาสนอาคารว่า ช่างอีสานมีความเป็นอิสระ บางครั้งในงานประเพณีแสดงสัญลักษณ์ทางเพศ แต่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องหยาบคาย แต่นัยหนึ่งคือการสอนเรื่องเพศไปในตัว เนื่องด้วยในพื้นที่ของภาคอีสานไม่เคยมีเจ้าเข้ามาปกครอง ศาสนสถานของอีสานจะสวยเพราะซื่อมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นการสร้างพระพุทธรูปอีสานไม่มีพระพุทธรูปสวยงามตามรูปแบบของพระพุทธชินราช
ขณะที่ความเป็นมาของหมู่บ้านอีสานภายในจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ.พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกหมู่บ้านอีสาน เล่าว่า วิธีการสร้างหมู่บ้านอีสาน ได้ไปติดต่อขอซื้อบ้านเก่ามาซ่อมแซม โดยตั้งชื่อเรือนตามเจ้าของเดิม อาทิ เฮือนนางเผอะ เฮือนนางแตงอ่อน เฮือนนางเอื้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อผู้หญิง เพราะตามวัฒนธรรมอีสานบ้านจะตกทอดเป็นสมบัติของลูกสาว ส่วนศาสนสถาน สิมกลางน้ำ ที่กำลังก่อสร้างอยู่จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยการจำลองสัดส่วนของสิมบก ณ วัดกลางโคกค้อ บ้านโคกค้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ สร้างด้วยไม้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันของจริงได้ถูกรื้อไปแล้ว
“วัตถุประสงค์ของการสร้าง ไม่ได้สร้างเพื่อสักการะ แต่สร้างเพื่อสืบสาน” อ.พหลไชยบอกถึงความตั้งใจอันหมายรวมถึงสถาปัตยกรรมในหมู่บ้านอีสานเมื่อแล้วเสร็จจะมีทั้งหมด 40 หลัง เพื่อแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมชาวอีสานเมื่ออดีตที่เรียนรู้ธรรมชาติและปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย.
พรประไพ เสือเขียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น