วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

วันอังคาร ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555, 06.00 น.

จากสถิติผลผลิตข้าวต่อไร่ซึ่งสำรวจโดยกระทรวงเกษตรฯ ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในการปลูกข้าวของชาวนาไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียนด้วยกันแล้ว ปรากฏว่าไทยอยู่ในอันดับ 7 จาก 8 ประเทศ ที่ปลูกข้าวมาก โดยอันดับ 1 ได้แก่ เวียดนาม ที่มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 874 กิโลกรัม รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า ตามลำดับ ส่วนไทยนั้น มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 452 กิโลกรัม เท่านั้น ขณะที่อันดับ 8 กัมพูชา มีผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 415 กิโลกรัมต่อไร่
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาไทยตกต่ำมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้เป็นพันธุ์ที่ กรมการข้าวให้การรับรอง การใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่ไม่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก ที่สำคัญคือการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องไม่มีการพักนาทำให้ดินเสื่อมโทรมขาด ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวทั้งสิ้น นอกเหนือจากนี้ยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของชาวนาด้วย
ฉะนั้น ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการจัดระบบการปลูกข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมให้ชาวนาเข้าสู่ระบบโดยมีรูปแบบการปลูกข้าวแตกต่างกันไปคือ แบบปลูกพืชหลังนาหรือพืชปุ๋ยสดคั่นระหว่างการปลูกข้าวรอบที่ 1 กับรอบที่ 2 หรือแบบที่พักนาไว้หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ คือ เว้นปลูกเฉยๆ ไม่ปลูกพืชอื่นสลับ ซึ่งพื้นที่นี้จะสามารถนำมาบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการเป็นพื้นที่รับน้ำหาก เกิดกรณีอุทกภัย ทั้งนี้ จะมีการทำเวทีชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวนาในพื้นที่ที่ร่วมโครงการ ว่าต้องการเข้าระบบการปลูกข้าวรูปแบบใด เนื่องจากจะต้องดำเนินการให้เหมือนกันและพร้อมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวนาเข้าสู่ระบบปลูกข้าวในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งชาวนาที่ให้ความสนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนมากแต่ก็ยังมี ชาวนาอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาจำเป็นต้องเร่งปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ที่สุดสำหรับนำไปเข้าโครงการรับจำนำของรัฐ ซึ่งถ้าชาวนาได้มีการทำบัญชีฟาร์ม หรือเก็บข้อมูลก็จะพบคำตอบว่าการทำนาปีละ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้ง ภายใน 2 ปีนั้น ผลผลิตที่ได้จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาเพียงปีละ 2 ครั้ง กลับได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ลดลง เพราะผืนนาได้พักตัวทั้งจากการเว้นปลูกและได้รับการฟื้นฟูคืนความอุดม สมบูรณ์จากการปลูกพืชปุ๋ยสด จึงเป็นผลดีทำให้การปลูกข้าวในรอบต่อไปไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีนั่นเอง
ที่สำคัญการจัดระบบปลูกข้าว ยังเป็นการแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายผลผลิตข้าวได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งจะพบการแพร่ระบาดของศัตรูข้าวตัวร้ายนี้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างสิ้นซากก็เนื่องด้วยชาวนายัง ปลูกข้าวต่อเนื่อง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจึงมีอาหารและแหล่งอาศัยได้ตลอดเวลา
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศเวียดนามสูงมากนั้น ก็เนื่องมาจากพื้นที่ทำนาส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน และที่สำคัญคือชาวนาให้ความร่วมมือทำตามนโยบายของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะเรื่องการเข้าสู่ระบบการปลูกข้าวดังจะเห็นได้จากเขาสามารถแก้ปัญหา เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ภายในไม่ถึง 3 ปี ซึ่งแตกต่างจากชาวนาไทยที่ต่างคนต่างทำ และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐ ท้ายนี้ อยากจะย้ำว่าระบบปลูกข้าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากและเป็นความหวังของประเทศไทย เพราะถ้าไม่นำระบบนี้มาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ในอนาคตชาวนาก็คงจะต้องประสบกับวิกฤติต่างๆ วนเวียนมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น