วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ชวนเดินเพลินชม “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์”



ในที่สุดเราและเพื่อนก็หาเวลาที่ลงตัวไปเยี่ยมชม “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ได้สักที
ที่นี่เป็นอาคารจัดแสดงริม “ถนนราชดำเนินกลาง” ที่ใครๆ ต่างก็พากันบอกว่า ควรไปชมสักครั้ง
แรกเริ่มเดิมทีเราไม่ค่อยให้ความสนใจมาก นัก ตั้งใจว่าว่างเมื่อไหร่ก็จะไป แต่เมื่อได้ยินคำชมบ่อยครั้งเข้าก็เริ่มอยากไปเห็นกับตาตัวเอง เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายคนที่ขานรับเพื่อจะไปพร้อมกัน
หลังโทรศัพท์ไปสอบถามก็ทราบว่า อังคารถึงศุกร์เปิดให้เข้าชมได้ 11.00-20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-20.00 น. ปิดทำการในวันจันทร์ เช่นเดียวกับหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่
เรากับเพื่อนนัดหมายเจอกันช่วงเย็น บริเวณด้านหน้า “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” ติดกับ “โลหะปราสาท” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับอาคารที่ตั้งของ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์”
เมื่อนับจำนวนสมาชิกครบแล้ว พวกเราก็ซื้อบัตรเข้าชม ในราคาคนละ 100 บาท ราคานี้จ่ายเท่ากันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่หากเป็นนักเรียน นักศึกษาระดับ ป.ตรี ลงมา รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ เข้าชมได้ฟรี
เจ้าหน้าที่อธิบายว่า การเข้าชมแบ่งเป็นรอบ แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 2 ชม. มีให้เลือก 2 เส้นทาง แต่เนื่องจากพวกเรามาถึงในตอนเย็นจึงไม่มีทางเลือกมากนัก และต้องชมเส้นทางที่ 1 ในเวลา 18.00 น.
นั่นหมายความว่า ถ้าจะชมให้ครบทั้งหมดต้องชม 2 รอบ และใช้เวลาถึง 4 ชม. เลยทีเดียว
นักเรียน นักศึกษา เข้าชมฟรี
เราเห็นนักเรียนกลุ่มใหญ่รอเข้าชมรอบเดียวกันกับเรา สอบถามทราบว่า เดินทางมาจาก จ.ตรัง เพื่อทัศนศึกษา เด็กๆ ดูตื่นเต้นกับอาคารจัดแสดงทันสมัยแห่งนี้มาก หลายคนเตรียมสมุดดินสอไว้จดด้วย
เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกผู้เข้าชม และเริ่มอธิบายจุดแรก นั่นคือ “อุโมงค์เวลา” เป็นนิทรรศการแสดงเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทยตามลำดับเวลา พร้อมกับเหตุการณ์สำคัญของโลกในช่วงเวลาเดียวกัน
เจ้าหน้าที่อธิบายสั้นๆ หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ผู้เข้าชม ศึกษาข้อมูล เดินชม และถ่ายภาพตามอัธยาศัย
ต่อจาก “อุโมงค์เวลา” เราเดินขึ้นชั้น 2 สู่ห้องที่เรียกว่า “ดื่มด่ำย่านชุมชน” ซึ่งบอกเล่าถึง 12 ชุมชนสำคัญบน “เกาะรัตนโกสินทร์” มีผลงานของชุมชนที่น่าสนใจ เช่น ชุมชนบ้านดินสอ ทำดินสอพองเป็นสินค้า

สายรัดประคตของชุมชนบ้านสาย
ความพิเศษของห้องนี้คือ มีแสงไฟส่องสะท้อนลงมาที่พื้นห้อง เป็นแผนที่แสดงตำแหน่งของชุมชนต่างๆ และเมื่อเดินตามแสงไฟสัญลักษณ์ ก็จะนำไปสู่จุดแสดงภาพ เสียง ตัวอย่างผลงานชุมชน ที่สามารถเลือกชมได้
เสียดายที่เวลามีจำกัด ทำให้เราและเพื่อนๆ ไม่ทันฟังเรื่องราวทั้ง 12 ชุมชนจนครบถ้วน ก็ต้องเดินต่อไปยังห้องลำดับถัดไปตามเสียงเรียก ซึ่งก็ไม่เฉพาะแค่เราเท่านั้น แต่คนอื่นๆ ก็ส่งเสียงเสียดายไม่ต่างกัน
ยังดีที่ห้อง “รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์” ที่อยู่ถัดไป ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ทดแทน เพราะนอกจากจะได้รับทราบถึงที่มาและความหมายของชื่อ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงที่ชื่อยาวที่สุดในโลกแล้ว ในห้องนี้ยังจัดแสดงเป็น 4 มิติ บอกเล่าประวัติศาสตร์การสร้างกรุง ซึ่งเมื่อเล่าถึงช่วงเวลาฝนตก ก็มีละอองน้ำที่สัมผัสได้
ที่น่าทึ่งคือ ห้องนี้ยังนำผู้เข้าชมจากชั้น 2 ขึ้นสู่ชั้น 3 ของอาคาร โดยที่หลายคนไม่ทันรู้สึกตัวด้วยซ้ำ
พวกเรายังไม่หายตื่นเต้นจากสิ่งที่ได้ สัมผัสจากห้อง “รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์” ก็ต้องพบกับความตื่นตาอลังการอีกครั้ง เมื่อเปิดประตูออกมาสู่ห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม”
อลังการพระบรมมหาราชวัง
นี่เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือ “พระบรมมหาราชวังจำลอง” ที่ว่ากันว่า สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเราก็เชื่อว่า ใครที่เคยไป “วัดพระแก้ว” มาได้เห็นก็คงจะอดตื่นเต้นต่อความงดงามตรงหน้าไม่ได้
เราได้ยินเสียงใครบางคนที่เข้าชมพร้อมกัน ร้องออกมาว่า “นั่นไง ห้องทำงานเราอยู่ตรงตึกนั้น” ทำให้พอจะเดาได้ว่า น่าจะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวังก็เป็นได้
ภายในห้องนี้ยังมีสื่อมัลติมีเดียบอกเล่าประวัติการสร้าง “พระที่นั่ง” สำคัญใน “พระบรมมหาราชวัง”
และที่นี่ยังมีหุ่นจำลองของ “ทศกัณฐ์” และ “สหัสเดชะ” แบบเดียวกับ “ยักษ์วัดพระแก้ว” อีกด้วย
ตื่นตาตำนานพระแก้วมรกต
ไฮไลท์อีกอย่างของห้องนี้ก็คือประวัติ “พระแก้วมรกต” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ที่ถูกบอกเล่าผ่าน “แอนิเมชั่น” ซึ่งสามารถตรึงผู้เข้าชมให้จดจ่อจนถึงช่วงสุดท้าย ที่เป็นภาพ “เครื่องทรง” ในฤดูต่างๆ
จากห้องนี้เราเดินผ่านประตูสีแดงบานใหญ่ ชื่อ “สนามราชกิจ” ซึ่งนำเราไปสู่ภาพชีวิต “สาวชาววัง” ที่แต่เดิมมีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่จะผ่านประตูนี้ได้ โดยจะต้องพบกับ “โขลน” ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “ตำรวจ” เฝ้าอยู่
ย้อนอดีตภาพชีวิตสาวชาววัง
“หุ่นขี้ผึ้ง” เหมือนจริง ทำให้เรื่องราวของ “สาวชาววัง” ทั้งการอบร่ำพับจีบผ้า การแกะสลักผลไม้ ถนอมอาหาร ร้อยมาลัยดอกไม้ และร่ายรำอย่างอ่อนช้อย ถูกถ่ายทอดราวกับผู้มาเยือนได้ย้อนอดีตกลับไปจริงๆ
พวกเราเดินชมอย่างเพลิดเพลินจนถึงห้อง “เรืองนามมหรสพศิลป์” นอกจากจะมี “หัวโขน” จัดแสดงให้ได้ชื่นชม “มหรสพหลวง” อันโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ยังมีช่อง “แอบดูลิง” ให้ผู้มาเยือนได้สนุกสนานกันอีกด้วย
พวกเรายังได้ทดลอง “เชิดหุ่น” กันอย่างสนุกสนาน เพราะภาพจะไปปรากฏอยู่ที่จอด้านข้างให้คนอื่นๆ ได้ชม จากนั้นก็ปิดท้ายห้องนี้กับ “มหรสพสมโภช” ที่จัดให้ชมกันแบบ 360 องศาเลยทีเดียว
โลหะปราสาทมองจากหน้าต่างทางเดิน
ความประทับใจยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อเราเดินต่อไปก็พบกับภาพความงามของ “โลหะปราสาท” จากมุมมองหน้าต่างระหว่างทางเดินสู่ห้อง “เยี่ยมยลถิ่นกรุง” ซึ่งผู้เข้าชมทุกคน จะได้รับเชิญให้ร่วมถ่ายภาพ
ความพิเศษของการถ่ายภาพ นอกจากจะเป็น “กล้องถ่ายภาพโบราณ” แบบห้องภาพในอดีตแล้ว ภาพของผู้เข้าชมทุกคน ยังกลายไปเป็นตัวละครใน “แอนิเมชั่น” ณ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่นำมาให้ชม
เป็นดาราแอนนิเมชั่นนำเที่ยว
พวกเราแต่ละคนมัวแต่มองว่าจะไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน ทั้งสวนสาธารณะ แหล่งกิน แหล่งเที่ยว และแหล่งช็อปปิ้ง จนแทบจำไม่ได้ว่าสถานที่ต่างๆ ที่แนะนำนั้นเป็นที่ไหนบ้าง
ดูเหมือนว่าผู้เข้าชมจะชื่นชอบห้องนี้เป็น พิเศษ เพราะได้ยินเสียงหัวเราะกันอยู่ตลอดเวลา น่าเสียดายที่จุดจำหน่าย “ภาพที่ระลึก” ปิดตั้งแต่ 6 โมงเย็น พวกเราจึงไม่มีภาพตัวละคร ที่เป็นหน้าตัวเองติดมือกลับบ้าน
เรียนรู้ตำราคชลักษณ์
จากห้อง “เยี่ยมยลถิ่นกรุง” เจ้าหน้าที่นำเราสู่ห้อง “ลือระบิลพระราชพิธี” ซึ่งบอกเล่า “พระราชพิธี” สำคัญต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของแผ่นดินสยาม
เมื่อถึงห้องที่เต็มไปด้วยรวงข้าวทั่วฝา ผนัง ก็สร้างความตื่นตาแก่ผู้เข้าชมอย่างมาก และเมื่อถูกตั้งคำถามก็เดาได้ไม่ยากว่า ห้องนี้เกี่ยวข้องกับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” นั่นเอง
ผู้เข้าชมคนหนึ่งอ่านคำทำนาย “พระโคเสี่ยงทาย” แล้วหันมาบอกว่า “พระโคกินหญ้าน้ำท่าบริบูรณ์ ปีที่แล้วพระโคก็กินหญ้า ปีนี้พระโคก็กินหญ้าเหมือนกัน แปลว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์อีกแล้วใช่ไหม”
และเพียงเท่านี้ ก็เรียกเสียงหัวเราะ พร้อมแววตาหวั่นวิตกจากผู้เข้าชมได้พร้อมกันในคราวเดียว
พวกเราเดินต่อไปยังห้อง “สง่าศรีสถาปัตยกรรม” ซึ่งจัดแสดงรูปแบบอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในห้องนี้มีเกมสนุกให้เล่น เป็นการแสดงตำแหน่งของสิ่งก่อสร้างใน “เขตพุทธาวาส” ซึ่งเป็นแบบ “มัลติทัช”
กิจกรรมสนุก ๆ ทุกห้องที่เดินชม
จากนั้นก็ถึงห้องท้ายสุดคือ “เรืองรุ่งวิถีไทย” ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังพาผู้เข้าชมไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยการ “ขับรถ” และ “ขี่ม้า” รวมถึง “พายเรือ” แบบครบเครื่อง
งดงามศิลปกรรมหลายแขนง
พวกเราผลัดกันเหยียบคันเร่ง ดึงเชือกบังคับม้า และจ้ำพายกันอย่างครื้นเครง ขณะที่ภาพเบื้องหน้าคือเส้นทางสัญจรด้วยพาหนะที่เราเลือก นำพาเราไปเรียนรู้เรื่องราวยังสถานที่ต่างๆ ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์
เรากล่าวคำขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ และรู้สึกประทับใจกันถ้วนหน้ากับเวลาร่วม 2 ชม. ที่ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ขณะที่เพื่อนอีกหลายคนก็พากันคิดว่าอยากจะชวนใครมาที่นี่อีกสักครั้ง
เราไม่แปลกใจที่ใครหลายๆ คน มาที่นี่แล้วอยากจะชวนให้คนอื่นมาสัมผัสประสบการณ์เช่นเดียวกันนี้ เพราะถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ที่นี่ก็ตอบโจทย์สำหรับคนมีเวลาน้อยที่อยากรู้เรื่องราวได้ครบถ้วน
“นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” คุณค่าแห่งยุคสมัย ที่สัมผัสได้ใน 1 วันจริงๆ…

ผู้เขียน : ออนอาร์ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น