วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (เดลินิวส์)


ผมไปเที่ยวพม่าเคยถามคนพม่าว่าประวัติศาสตร์พม่าเขียนถึงสมเด็จพระนเรศวรไว้อย่างไร ได้คำตอบว่าเขียนถึงเหมือนกัน แต่ออกไปในทางว่าเป็นเจ้าประเทศราชเป็นขบถ แยกตนออกไปเป็นอิสระ ที่จริงพงศาวดารพม่าไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องสงครามพม่ากับไทยเท่าไรนัก เพราะพม่ามีเรื่องรบกับมอญ ไทยใหญ่มากกว่า ก็คงเหมือนที่เราเขียนถึงเจ้าอนุวงศ์ของลาวคราววีรกรรมท้าวสุรนารีแต่พงศาวดารลาวยกย่องเจ้าอนุวงศ์มากว่าเป็นวีรบุรุษของเขา
   
มอญสิ กลับให้ความสำคัญแก่สมเด็จพระนเรศวรเพราะบทบาทของพระองค์ดูจะสะใจมอญอยู่มาก ผมไปเที่ยวหงสาวดี ไกด์ชาวมอญอธิบายเรื่อง “พระนเรศ” เป็นฉาก ๆ ว่าเก่งอย่างนั้นดีอย่างนี้ บางเรื่องเรายังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ
   
ตอนที่แล้วเล่าว่าหลังจากที่พระนเรศวรทรงทราบจากพระยาเกียรติ พระยาราม ขุนนางมอญและพระมหาเถรคันฉ่องว่า พระมหาอุปราชาล่อพระนเรศวรเข้ามาติดกับที่เมืองแครงก่อนจะยกไปสู้กับกรุงอังวะ และให้พระยาทั้งสองลอบปลงพระชนม์เสีย จึงทรงเลิกทัพกลับอยุธยา ก่อนกลับได้ทรงหลั่งน้ำเหนือแม่ธรณีเมืองแครงเป็นพยานว่าขอประกาศอิสรภาพ
   
พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม และมอญอีกเป็นอันมากตามเสด็จกลับมาอยุธยาด้วย พม่าให้สุรกรรมาเป็นแม่ทัพตามไปติด ๆ จนถึงแม่น้ำสะโตง แต่พระนเรศวรข้ามไปอีกฝั่งแล้ว ต่างยิงปืนไฟข้ามแม่น้ำใส่กัน พระนเรศวรใช้พระแสงปืนต้นยาว 9 คืบ ยิงข้ามแม่น้ำถูกสุรกรรมาตายคาคอช้าง พม่าจึงเลิกทัพกลับ ครั้นถึงอยุธยา โปรดฯ ให้พระมหาเถรไปอยู่วัดมหาธาตุ พระยาทั้งสองเข้ารับราชการตั้งครอบครัวอยู่แถวบ้านขมิ้นในเกาะเมือง
   
จำชื่อและบทบาทพระยาเกียรติ พระยารามไว้ด้วย
   
พระนเรศวรเป็นคนเก่งกล้ามาก เรียกว่าชำนาญทั้งการรบทางบกและทางน้ำ บนหลังม้า หลังช้างและในเรือ เคยลงเรือทรงพระแสงปืนไล่ยิงข้าศึกคือพระยาจีนจันตุมาแล้ว
   
หลังประกาศอิสรภาพสองปี พระเจ้านันทบุเรงเริ่มว่างแล้วจึงนำทัพมีพระมหาอุปราชา และพระเจ้าตองอูแยกเป็นอีกสองทัพยกเข้ามาถึงบางปะอิน บางปะหัน สีกุก แต่พระนเรศวรทรงม้าออกไปตีโต้ข้าศึกนอกเกาะจนกระเจิง ทั้งทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายตีพม่าแตกอีกด้วย
   
ปี 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระสรรเพชญสวรรคต พระนเรศวรได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 2) ขณะพระชนมพรรษา 35 พรรษา เป็นพระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์สุโขทัยหรือพระร่วง แต่ความที่ทรงเป็นนักรบไม่ใคร่อยู่ประจำกรุง จึงทรงตั้งพระราชอนุชาเป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ พระมหาอุปราช (เรียกกันว่าพระองค์ขาวคู่กับพระนเรศวรซึ่งผิวคล้ำเรียกว่าพระองค์ดำ) แต่ให้มีพระเกียรติยศเสมือนพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ พงศาวดารเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
   
ปีนั้นพม่าทราบว่าอยุธยามีการผลัดแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรก็ไม่ใคร่ประทับอยู่ในกรุง จึงส่งพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพเข้ามาตีอีก ไทยตอบโต้จนทัพพม่าแตกยับเยินกลับไป ความอัปยศครั้งนี้มอญยังกล่าวถึงและตีปี๊บไปถึงว่าอยุธยาหวิดจะจับพระมหาอุปราชาได้แล้ว หลังจากนั้นไทยกับพม่ายังรบกันตามชายแดนอีกหลายหนแต่ไทยชนะทุกครั้ง
   
ปี 2135 พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าสมควรที่พม่าจะยกทัพใหญ่เรือนแสนไปตีอยุธยาสั่งสอนอีกครั้ง หน็อย! เป็นเมืองขึ้นแท้ ๆ เผยอมาประกาศอิสรภาพและยังตีทัพพม่าแตกครั้งแล้วครั้งเล่า จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพแก้หน้าไปล้างอาย พระมหาอุปราชายังอกสั่นขวัญแขวนจากสงครามคราวก่อน จึงทูลว่าโหรทำนายว่ามีเคราะห์ ไม่ควรออกจากเมือง
   
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงกริ้วมาก ตรัสว่าเสียดายขายหน้าถึงพระเจ้าบุเรงนองปฐมกษัตริย์ ส่วนพงศาวดารไทยว่าเอาไว้ยืดยาว แต่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งลิลิตตะเลงพ่ายพรรณนาตอนนี้ไว้ดีนัก พระเจ้านันทบุเรงทรงเอ็ดตะโรว่า
   
“เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธเชี่ยวชาญ หาญหักศึกบ่มิย่อ ต่อสู้ศึกบ่มิหย่อน ไป่พักวอนว่าใช้ ให้ ธ หวง ธ ห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์” เจ็บไหมล่ะ!
   
พระมหาอุปราชาฟังแล้วละอายเกิดฮึกเหิมจึงนำทัพหงสาวดี เมืองแปร และตองอู ราว 240,000 คน เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตอนนี้ชักยุ่งเพราะพงศาวดารพม่ารักษาเหลี่ยมเขียนว่า พม่ายกเข้ามาถึงชานกรุงแล้วแปลว่าเก่งไหมล่ะ ! สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างออกไปรบ และโรมรันพันตูชนช้างกันที่ชานเมืองเรียกว่ายุทธหัตถี “ไทยยิงปืนถูกพระมหาอุปราชา” แต่นัดจินหน่องแม่ทัพตองอูไสช้างเข้าชนสมเด็จพระนเรศวรจนถอยกลับไป รวมความคือพม่าบอกว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะ “ถูกยิง” ต่างหากไม่ใช่ถูกฟัน และอยุธยาเป็นฝ่ายถอยทัพกลับเข้ากรุงก่อน
   
พงศาวดารมอญกลับบอกว่ามีการยุทธหัตถีกันที่สุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชฟันพระมหาอุปราชาสิ้น พระชนม์ด้วยพระแสงของ้าว
   
พงศาวดารไทยกล่าวว่ายุทธหัตถีเกิดที่หนองสาหร่ายแถวชายแดนไทย-พม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างต้นชื่อพระยาไชยานุภาพ เตลิดเข้าไปในหมู่ทหารพม่า ทหารไทยตามไปไม่ทัน สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ปัญญาว่าถ้าตะลุมบอนกันทรงแพ้แน่เพราะไม่มีรี้พลจึงคิดอุบายท้าพระมหาอุปราชาให้ชนช้างตัวต่อตัว พระมหาอุปราชานั้นแม้จะขลาดแต่มีขัตติยมานะอยู่มาก เห็นใครท้าอะไรเป็นอันฟิตขึ้นมาทุกทีจึงรับคำท้าเข้ายุทธหัตถี แต่ก็ถูกสมเด็จพระนเรศวรใช้พระแสงของ้าวฟันไหล่ขวาขาดสิ้นพระชนม์ ทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป

ตอนสมเด็จพระนเรศวรตรัสเชิญทำยุทธหัตถีนั้น ลิลิตตะเลงพ่ายแต่งไว้ไพเราะนัก ผมจำมาเกือบ 40 ปีแล้ว
   
พระพี่พระผู้ผ่าน        ภพอุต ดมเอย
ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด    ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธ    เผยอเกียรติ ไว้แฮ
สืบแต่สองเราไซร้        สุดสิ้นฤๅมี

วันทำยุทธหัตถีนั้นเคยคำนวณกันว่าเป็นวันที่ 25 มกราคม 2135 ครม.นานมาแล้วจึงมีมติให้วันที่ 25 มกราคมเป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและวันกองทัพไทย มาสมัยที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรี นักปราชญ์ราชบัณฑิตร้องมาว่าคำนวณผิดและคำนวณใหม่แล้วว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม 2135 ต่างหาก ผมขอให้หลายสถาบันช่วยกันตรวจสอบจนได้ความเห็นตรงกันจึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ประกาศว่าวันที่ 18 มกราคมเป็นวันยุทธหัตถีหรือวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ทางกองทัพไทยยังเหนียม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนวันกองทัพไทยจนอีกสองปีต่อมาจึงยอมเปลี่ยนเป็นวันที่ 18 มกราคม เรียบร้อยแล้ว
   
การทำยุทธหัตถีมีชัยชนะครั้งนั้นลือเลื่องไปทั่วนานาประเทศ เพราะถือเป็นวีรกรรมของยอดนักรบ คำว่า “ยุทธ” แปลว่ารบ “หัตถี” แปลว่าผู้มีมือ หมายถึงช้างซึ่งมีงวง วันนี้ยังเถียงกันอยู่ว่า การทำยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่ไหน ส่วนใหญ่คล้อยตามพงศาวดารว่าเกิดขึ้นที่หนองสาหร่าย บัดนี้คือดอนเจดีย์อยู่ในสุพรรณบุรีเพราะมีซากอิฐที่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรให้ก่อครอบไว้เป็นที่ระลึก แต่ที่กาญจนบุรีก็มีร่องรอยกระดูกทับถมกันที่อำเภอพนม ทวน จึงมีบางคนเชื่อว่าเป็นสมรภูมิยุทธหัตถี สำหรับทางราชการประกาศว่าอยู่ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณฯ ไม่เชื่อไปถามคุณบรรหารดูก็ได้!
   
กลับเข้ากรุงคราวนั้น สมเด็จพระนเรศวรให้ชำระความทหารที่ตามขบวนไม่ทัน เกือบให้นำไปประหารอยู่แล้ว แต่สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว (บางคนเชื่อว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล) นำพระ 25 รูปเข้าบิณฑบาตขอชีวิต อุปมาว่าเป็นพระเกียรติยศที่รบโดยไม่มีทหารตามไปช่วยเสมือนคราวพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์เดียวไม่มีปัญจวัคคีย์อยู่ช่วย ถ้ามีคนอยู่ช่วยก็จะไม่ยิ่งใหญ่ นับเป็นอุปมาโวหารแยบคาย จึงพระราชทานอภัยโทษให้ไปรบแก้ตัวแทน
   
พระเจ้านันทบุเรงสูญเสียพระราช โอรสคราวนั้นถึงขั้น “พระสติแตก” ทั้งเจ็บทั้งอาย ตำนานกล่าวว่าทรงฆ่าพระสุพรรณกัลยาและลูกแก้แค้น (ตกทอดจากพระเจ้าบุเรงนองมาเป็นพระสนมของพระองค์) ภายหลังทรงต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองตองอู (ราชธานีเดิมของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้) แต่นัดจินหน่องเจ้าเมืองตองอูก็ลอบปลงพระชนม์แย่งราชสมบัติ ขณะนั้นเมืองอังวะ (เคยเป็นราชธานีเก่าอาณาจักรพม่ามาแต่ต้น) มีผู้นำตั้งตนเป็นกษัตริย์ชื่อพระเจ้าสีหสุธรรมราชาตีได้ทั้งตองอูและหงสาวดีจนรวมเป็นหนึ่งเดียวชื่ออาณาจักรพม่า ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงอังวะได้ยกทัพเข้ามาตีชายแดนไทย
       
สมเด็จพระนเรศวรเสร็จศึกจากพม่าหนโน้นแล้ว ยังทรงแผ่พระราชอาณาจักรไปเหนือจดใต้ จนถึงเชียงใหม่ กัมพูชา ตีได้ทวาย ตะนาวศรี หัวเมืองมอญในอำนาจหงสาวดีทั้งหมด หัวเมืองไทยใหญ่และแสนหวี พอทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะองค์ใหม่ยกทัพมาตีชายแดนไทยก็ทรงกรีธาทัพ 100,000 คน ขึ้นเหนือจะไปตีกรุงอังวะแตกบ้างให้จงได้
   
ปี 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพจะไปเหยียบอังวะ ผ่านเชียงใหม่ ข้ามแม่น้ำสาละวินถึงเมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-พม่า) แต่ประชวรด้วยไข้ทรพิษก่อนถึงอังวะ พอถึงวันจันทร์ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ.2147 สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหาง พระชนมพรรษา 50 พรรษา ครองราชย์ 15 ปี
   
พระราชกฤดาภินิหารยิ่งใหญ่นัก ทรงเป็นมหาราชของไทย!
   
สมเด็จพระเอกาทศรถได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 3) รัชกาลที่ 20 ได้ทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราช ต่อมากริ้วจนว่ากันว่า “เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษสิ้นพระชนม์” แต่จดหมายเหตุฝรั่งบันทึกว่า ถูกลงโทษจนสิ้นพระชนม์ด้วยข้อหาขบถ และยังกล่าวต่อไปว่าตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถมีพระอารมณ์ไม่ปกติ เข้าทำนองแปรปรวนฟั่นเฟือน
   
ครองราชย์ได้ 15 ปี สมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต เจ้านายขุนนางยกเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสอีกพระองค์ซึ่งพิการพระเนตรบอดข้างหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 4) กษัตริย์รัชกาลที่ 21 พงศาวดารกล่าวว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไร้ความสามารถ บ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข จดหมายเหตุฝรั่งบันทึกว่าแม้แต่โจรสลัดญี่ปุ่นยังบุกเข้าปล้นจนถึงในพระราชวังได้ ครองราชย์ได้ปีเศษ พระราชโอรสอีกพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ประสูติจากพระสนม ชื่อ พระอินทราชา ออกผนวชเป็นพระอยู่วัดระฆังมานานแล้วจนได้เป็นพระพิมลธรรม เห็นว่าบ้านเมืองไม่เรียบร้อยจึงนำผู้คนเข้ายึดวังจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์สำเร็จโทษแล้วนำพระศพไปฝังที่วัดโคกพระยา
   
พระพิมลธรรมจะสึกก่อนยึดวัง หรือยึดวังแล้วจึงค่อยสึกก็ไม่รู้ แต่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 22 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งตรงกับคำว่าธรรมราชานั่นเอง บ้านเมืองยุคนี้ปลอดพ้นจากสงครามพม่าแล้ว มีแต่ไทยจะรบกันเอง พลางพัฒนาสร้างชาติบ้านเมืองด้านศาสนา วรรณคดี สถาปัตยกรรมและการค้าขายไปพลาง เรียกว่าใช้ทั้งนโยบายแก้ไขและแก้แค้นปน ๆ กันไป ไอ้ที่จะเรียบร้อยจึงไม่เรียบร้อยจนได้
   
เรามันชอบอย่างนี้เสียด้วย ยามศึกเรารบ ยามสงบเราตีกันเอง!.
“ปี 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพจะไปเหยียบอังวะ ผ่านเชียงใหม่ ข้ามแม่น้ำสาละวินถึงเมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-พม่า) แต่ประชวรด้วยไข้ทรพิษก่อนถึงอังวะ พอถึงวันจันทร์ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ.2147 สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหาง พระชนมพรรษา 50 พรรษา ครองราชย์ 15 ปี”


ทีมวาไรตี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น