วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าอยู่หัวแห่งชีวิต โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล

พระเจ้าอยู่หัวแห่งชีวิต โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล

วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ปีพุทธศักราช 2507 เป็นปีแรกที่ผมต้องจากบ้านสามชุก สุพรรณบุรี มาอยู่กรุงเทพมหานคร ในช่วงชีวิตที่ยังไม่พ้นวัยรุ่น ผมเข้ามาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม ซอยสังขะวัฒนะ 2 ถนนลาดพร้าว

ครั้งหนึ่ง วิทยาลัยครูจันทรเกษมเคยให้พวกเราเดินทางไปโบกธงชาติรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ริมทางถนนพหลโยธิน ครั้งนั้นขบวนเสด็จผ่านไปเร็วเกินกว่าที่ผมจะมองเห็นพระองค์และสมเด็จพระราชินีในรถยนต์พระที่นั่งได้ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นบุญแห่งชีวิตเด็กหนุ่มลูกแม่ค้าขนมถ้วยคนทำไร่ทำนาธรรมดาอย่างผมเป็นล้นพ้น บันทึกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ผมรู้สึกตื่นเต้นตรึงใจเป็นที่สุด ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีโอกาสใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวของแผ่นดินที่พ่อผมใช้ปลูกข้าวและทำนาแห้วมานานปี ผมทราบดีว่าไร่นาที่บ้านผมใช้พักพิงและทำกินอยู่นั้น แม้เป็นทางการจะมีหลักฐานเอกสารบ่งบอกว่าเป็นของครอบครัวพ่อแม่ผม แต่โดยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว แผ่นดินที่ผมอยู่อาศัยและใช้ทำกินนั้น โดย “ทางกาล” แล้ว เป็นของพระเจ้าอยู่หัวทุกตารางนิ้ว

เพราะผมเป็นพสกนิกรแห่ง “ราชอาณาจักรไทย” ผมจึงสำนึกเสมอว่าพื้นที่ทุกส่วนของแผ่นดินไทยล้วนเป็นแผ่นดินของพระราชาทั้งสิ้น ตำราประวัติศาสตร์ไทยที่ผมเล่าเรียนเขียนอ่านมาแต่วัยเด็กบ่งบอกถึงพระราชวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงสร้างบ้านแปงเมือง ปกป้องแว่นแคว้น ขยายดินแดน เพื่อสถาปนาความมั่นคงยั่งยืนให้กับราชอาณาจักรและพสกนิกรพลเมืองสยามประเทศของพระองค์
ทรงทำเช่นนี้ต่อเนื่องมา ทุกราชวงศ์ ทุกช่วงสมัยในกาลอดีต
ตั้งแต่ก่อนเริ่มสมัยราชอาณาจักรสุโขทัย
มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ปัจจุบัน

ผมจึงไม่เคยมีคำถามให้กังวลสงสัยถึงความยิ่งใหญ่ของของชนชาติไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร
และใครคือผู้สร้างแผ่นดินไทยให้เราได้อยู่และเติบโตร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้

ยิ่งด้วยเหตุที่ว่าผมเป็นชาวสุพรรณฯ ผมจึงรู้เรื่องดอนเจดีย์ แดนยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ทำให้ชนชาติไทยได้คืนเอกราชและความยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทยกลับคืนมา ประวัติศาสตร์ไทยทุกช่วงเวลาบอกย้ำกับผมทุกนาทีว่าแผ่นดินไทยทุกถิ่นฐานเป็นแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว เป็นดินแดนของพระราชา เป็นราชอาณาจักรที่ยืนยงคงอยู่อย่างยิ่งใหญ่มาจนทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ เป็นเวลายาวนานเกือบพันปีแล้ว
ปีแรกที่ผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมคอยโอกาสที่จะไปชมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง เพราะเหตุที่ใครต่อใครก็บอกกับพ่อผมมานานหลายปีแล้วว่าในพระราชพิธีนี้หากใครได้ไปร่วมชมแล้วอาจโชคดีได้รับข้าวเปลือกที่หว่านในพระราชพิธีมาผสมกับข้าวปลูกในนาก็จะเป็นศิริมงคลอย่างที่สุด ผมจึงไปยืนชมพระราชพิธีแรกนาฯกับเขาด้วย แม้จะอยู่ไกลจากบริเวณงาน แต่พอถึงเวลางานเลิกแล้วผมก็วิ่งแหวกฝูงชนเข้าไปกวาดเก็บเศษข้าวเปลือกมาได้หนึ่งกำมือใส่กระเป๋ากางเกง ทั้งเศษดินฝุ่นทั้งข้าวเปลือก นำกลับไปสุพรรณฯให้พ่อวางขึ้นหิ้งบูชาที่บ้านสามชุก รอเวลาที่จะไปผสมกับพันธุ์ข้าวปลูกในหน้าทำนาต่อไป

เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่นาข้าวของพ่อได้พันธุ์ข้าวเปลือกมหามงคลจากท้องสนามหลวงในปีนั้น

บ้านผมมีที่ดินเพียง10 ไร่ แบ่งทำนาราว 6 ไร่ ที่เหลือเป็นสระน้ำ ปลูกไม้ยืนต้นและส้มสุกลูกไม้ผลไม้พื้นบ้านตลอดจนแปลงผักสวนครัว ทำลานตากข้าว และแบ่งที่สำหรับปลูกบ้านอยู่อาศัย ในสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า “ไร่นาสวนผสม” ยังไม่เกิด “ทฤษฎีใหม่” ยังไม่มีใครรู้จัก “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่สิ่งที่พ่ออุยและแม่แม้นของผมทำก็มีคุณค่าใกล้เคียงกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพร่ำสอนพสกนิกรของพระองค์ในยุคปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนโครงการชลประทานอำเภอสามชุกของผม ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ผมเป็นเด็กเกินกว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเสด็จแบบใดๆได้ แต่กระนั้นครอบครัวของผมก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจของพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ผมจำความได้แล้วนานหลายปีก่อนที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะได้รับการประกาศโดยพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำให้ชาวสุพรรณได้ทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนผมเกิดแล้ว
ในวัยแรกเริ่มต้นชีวิต ถึงผมจะไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดเลย แต่ผมก็ถือเอาเองว่าผมและพ่อแม่พี่น้องผมทุกคนได้ใช้ชีวิตในแนวทางที่ใกล้ชิดกับปรัชญาของพระองค์อย่างแนบแน่นที่สุดมาโดยตลอด
อาจจะด้วยผลแห่งบุญกรรมที่ทำไว้แต่ใดมาก็เกินกว่าที่ผมจะอธิบายได้ ในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอย่างที่ไม่เคยนึกว่าจะมีโอกาสเช่นว่านี้มาก่อนเลย ในฐานะอาจารย์บรรจุใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ข้ามมาถึงปีพระราชทานปริญญาบัตรถัดมา ผมได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือพานถวายใบปริญญาบัตรในพิธี ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยหัวใจอันระทึก ผมนั่งพับเพียบ ทางเบื้องขวาล่างของพระเก้าอ้ีประทับ ผมทำหน้าที่ขยับเล่มปริญญาบัตรให้ได้เหลี่ยมมุมเพื่อพระองค์จะได้ทรงหยิบไปพระราชทานให้บัณฑิตต่อไปโดยสะดวก ผมได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระหัตถ์ขวาของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่ไม่เคยมีใครในจังหวัดสุพรรณบุรีได้โอกาสใกล้ชิดเช่นนั้นเลย ผมแอบเงยขึ้นมองพระหัตถ์ที่ทรงเอื้อมลงมาที่พานวางใบปริญญาบัตร และแอบมองเลยขึ้นไปถึงพระพักตร์ด้วยสองสามครั้ง เป็นความใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและพระหัตถ์โดยตรงเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม
กาลผ่านไป ผมผันแปรชีวิตจากนักวิชาการไปเป็นสื่อสารมวลชนนักจัดรายการวิทยุ เป็นนักข่าวและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ จากการจัดรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ทำให้ผมมีโอกาสถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงของผมเองได้โดยตรงทุกปี ยิ่งเมื่อทราบในเวลาต่อมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงงานไปจนถึงเช้ามืดแล้วทรงฟังรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมด้วยก่อนเข้าพระบรรทม ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดแห่งชีวิต  ณ เย็นวันที่ 4 ธันวาคม ปีหนึ่ง ระหว่างมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ถ่ายทอดสดเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในเวลาประมาณ 16:00 น. และบันทึกเทปออกอากาศโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในเวลาค่ำหลัง 20:00 น. ปรากฏว่ามีเสียงโทรศัพท์มือถือดังแทรกขึ้นมาระหว่างมีพระราชดำรัสและออกอากาศอยู่ พอถึงในเช้าวันรุ่งขึ้นผมก็วิจารณ์เรื่องนี้ในรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมทันทีอย่างไม่ยั้งคิดว่า “ยุคที่โทรศัพท์มือถือกำลังเป็นของใหม่นี้นั้นทุกคนควรระมัดระวัง โดยเฉพาะในงานพิธีสำคัญๆก็ไม่ควรเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้เพราะอาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ดังที่เกิดในระหว่างมีพระราชดำรัสเมื่อวานนี้ได้”...

“ใครหนอช่างไม่ระมัดระวังเอาเสียเลย ทำไมไม่รู้จักปิดโทรศัพท์เสียก่อนจะเข้าร่วมงานพิธีสำคัญเช่นนี้”, ผมบ่นดังๆในรายการวิทยุของผมที่ FM 90 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์

เนื่องจากรายการ “โลกยามเช้า” ของผมมีผู้ฟังมาก ผู้ฟังผู้ใกล้ชิดในพระองค์ก็แจ้งให้ผมทราบทันทีหลังคำวิจารณ์ตอนเช้าว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี คือเจ้าของโทรศัพท์มือถือเครื่องที่เป็นปัญหาเครื่องนั้น!
ทราบแล้วหัวใจผมแทบหยุดเต้น
หากเป็นสมัยโบราณหัวผมคงหลุดจากบ่าไปแล้ว
คำวิจารณ์โดยขาดการยั้งคิดของกระผมกลายเป็นการวิจารณ์อันมิบังควร
ไม่สมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษใดๆเลย

คุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เจ้านายของผมและเจ้าของกิจการธุรกิจสื่อสารมวลชนที่ผมเป็นลูกจ้างในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้ก่อตั้งสถานีวิทยุ จ.ส.100 วิทยุข่าวสารและการจรจรในปี พ.ศ. 2534 โดยทราบกันดีเป็นการภายในว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในงานของ จส.100 มาก และทรงสนพระทัยอย่างใกล้ชิดในแทบทุกเรื่องที่ จส.100 ทำและเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์ จนอยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คุณปีย์ นำผมและคณะผู้ประกาศของ จส.100 ราว 30 คนเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงให้เวลาเข้าเฝ้านานถึงกว่าสองชั่วโมง ทรงมีพระราชปรารภเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการทำงานของ จส.100 โดยเฉพาะการทำงานแปลกๆใหม่ของพวกเราที่สังคมไทยไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน ส่วนความผิดพลาดล่วงเกินของผมในรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผม ตอนที่วิจารณ์เรื่องโทรศัพท์มือถือดังผิดกาละเทศะในวันเฉลิมพระชนมพรรษานั้น ตลอดจนการวิจารณ์ข่าวสารการเมืองต่างๆของผมนั้น พระองค์ทรงบอกว่า :
“ยกให้คุณสมเกียรติเขาไปคนหนึ่งก็แล้วกัน”
เป็นอันว่าข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว จะเรียกว่าอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม!

นั่นเป็นความใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ใกล้ชิดในระดับเกือบพระอาญามิพ้นเกล้า
ดุจเป็นพระราชกระแสรับสั่งชุบชีวิตให้กับผม จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอีกในสถานภาพเป็นทางการตามตำแหน่งหน้าที่ในชีวิตที่ผันแปรไป ในฐานะ :
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2550

มาวันนี้ วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา พอดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผมและของประชาชนชาวไทยทั้งมวลทรงเข้าสู่ช่วงพระชนม์ชีพที่จะต้องทรงพักผ่อนพระวรกายให้มากหลังทรงตรากตรำพระราชภารกิจมายาวนานมากที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในพระราชอาณาจักรใดบนโลกมนุษย์นี้

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสสั้นๆถึงความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ พระองค์ทรงเตือนให้พวกเราเร่งช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประชาชน พระองค์ทรงย้ำตอนหนึ่งว่า

“โดยเฉพาะขณะนี้ ประชาชนกำลังเดือดร้อนลำบากจากน้ำท่วม จึงชอบที่จะร่วมมือกัน ปัดเป่าแก้ไขให้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่น โครงการต่างๆ ที่เคยพูดไปนั้นเป็นการแนะนำ ไม่ได้สั่งการ แต่ถ้าเป็นการปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ คุ้มค่า และทำได้ก็ทำ ข้อสำคัญจะต้องไม่ขัดแย้งแตกแยกกัน หากจะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ”
พระราชดำรัสของพระองค์ในปีนี้สะท้อนความเป็นนักประชาธิปไตยของพระองค์อย่างสูงสุดยอด สะท้อนความเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ของราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงมอบอำนาจการปกครองโดยตรงไปให้ประชาชนจนหมดสิ้นแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกรอบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก ซึ่งเราเริ่มใช้กันมาได้เพียง 79 ปี ต่างไปจากศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญฉบับ (หรือหลัก) แรกของไทยที่บัญญัติขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว

พระองค์ทรงทราบดีว่าไม่มีพระราชอำนาจจะสั่งการใดให้รัฐบาลทำสิ่งใดได้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน แต่พระองค์ก็ทรงหวังว่าแนวพระราชดำริของพระองค์จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์ หากรัฐบาลเห็นพ้องด้วยว่าควรปฏิบัติตามเพราะเป็นประโยชน์
“ทำได้ก็ทำ”
เท่านั้นเอง ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงคาดหวังจากรัฐบาลและพสกนิกรของพระองค์

สำหรับผม พระราชดำรัสทุกกระแส ผมไม่ต้องปรึกษาใครให้ขัดแย้งกับใคร
ผมปฏิบัติตามได้เสมอทุกเรื่อง
ผมเองทำตามพระราชดำริมาตลอดชีวิต
และจะทำต่อไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
เพราะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช…
คือ...พระเจ้าอยู่หัวแห่งชีวิต...ของผม.

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น