พระประวัติ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก princessbejaratana.com
ถึงเวลาแล้ว... ที่ปวงชนเหล่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนจะส่งเสด็จ "เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา" สู่สวรรคาลัย ณ บริเวณท้องสนามหลวง ในวันนี้ (9 เมษายน) ทั้งนี้ กระปุกดอทคอมได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงขอนำพระประวัติของ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา มาเผยแพร่เพื่อเป็นการระลึกถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ได้พระเมตตาต่อเหล่าปวงชนชาวไทยตลอดมา....
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมารดา ทรงพระประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพพิลาส ในหมู่พระมหามณเทียร ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลของเหล่าพสกนิกร แต่ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประชวร ท่านทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เวลาประมาณบ่ายโมง พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทราบข่าว มีพระราชดำรัสว่า "ก็ดีเหมือนกัน" จากนั้นเมื่อเจ้าพระยารามราฆพได้นำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตร ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้ เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต
เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา เริ่มทรงพระอักษร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2473 โดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุลอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีและโรงเรียนราชินีบน พร้อมด้วยครูพิศ ภูมิรัตน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีเป็นผู้ถวายพระอักษร ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) แล้วจึงทรงศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ ตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุขึ้น มีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้นำสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2480 ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว
ทั้งนี้ ทั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา และพระชนนี ได้ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ คือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และประสบความยากลำบากอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ
ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ และได้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนเซเครดฮาร์ต แคว้นเวลส์
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่าง ๆ ของชาวไทยอยู่เป็นประจำ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร เป็นประจำ
นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ ทั้งม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ ทางสภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชนมายุสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนือง ๆ
จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา มีพระชันษาที่มากขึ้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประชวรด้วยอาการตามพระชันษา คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชจึงได้เฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเริ่มมีพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน ทำให้ทรงขยับพระวรกายด้านซ้ายยากขึ้น คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถ และมีนางพยาบาลถวายการดูแล อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะทรงรับสั่งได้น้อยลง แต่ก็ทรงเข้าพระทัยทุกอย่างเป็นอย่างดีด้วยการพยักพระพักตร์ สมเด็จ พระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเข้าประทับรักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2554 โดยมีคณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่อาการพระประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 33 นาที ของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริรวมพระชันษา 85 ปี
พระจริยวัตร

ในส่วนพระจริยวัตรส่วนพระองค์นั้น ทรงแสดงความกตัญญูต่อพระบุพการี เช่น ทรงตั้งพระกระยาหารสังเวยแก่พระบรมอัฐิของพระชนก ทั้งเวลาเช้าและกลางวัน ครั้นเมื่อค่ำแล้วก็ทรงสวดมนต์ถวายพระราชกุศล และถวายพระราชสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้รับการปลูกฝังจากพระชนนีให้มีความกตัญญูต่อพระชนก ดังความตอนหนึ่งที่พระองค์เคยตรัสไว้กับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ ขณะเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ความว่า "...ฟ้าหญิงรักทูลกระหม่อมก๊ะมาก ชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นลูกทูลกระหม่อมก๊ะ และขอให้ได้เกิดเป็นคนไทย..." รวมไปถึงการที่พระนางเจ้าสุวัทนาได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งไม่ใช้พระนามของพระองค์เอง เนื่องจากเพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษ
พระองค์ทรงศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นอกจากนี้ยังมีพระอุปนิสัยทรงเคร่งครัดในการตรงต่อเวลา ทรงปฏิบัติพระกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาและไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงประหยัดอดออมและโปรดความเรียบง่าย ทั้งยังทรงนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทย โปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตภายในประเทศ เช่น ชุดผ้าไหม, ฉลองพระบาท, กระเป๋า และพระสุคนธ์ซึ่งทรงโปรดน้ำอบเป็นพิเศษ
ส่วนการใช้ภาษาไทยนั้น ก็เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชบริพารว่า ไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ทรงรับสั่งด้วยวาจาอันสุภาพอ่อนโยน และโดยส่วนพระองค์เองก็มีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจนเสมอ เช่น ทีวี ให้กราบทูลว่า โทรทัศน์, แอร์ ให้กราบทูลว่า เครื่องปรับอากาศ และล็อกประตู ให้กราบทูลว่า ลงกลอนประตู เป็นต้น พระองค์จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น
พระองค์ทรงใช้จ่ายทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ไม่โปรดให้ผู้ใดเปิดไฟไว้ล่วงหน้า และเมื่อเสด็จออกก็ปิดไฟด้วยพระองค์เอง เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีสุขภาพเอื้ออำนวย ได้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายส่วนพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ
พระองค์ทรงโปรดการถักนิตติ้งมากที่สุด พระองค์ทรงถักไหมพรมพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และผ้าพันคอพระราชทานแก่ทหารและตำรวจที่ประจำการแถบภาคเหนือที่ต้องรักษาการท่ามกลางความหนาวเย็น พระองค์โปรดการเล่นเปียโน สามารถเล่นเพลงที่สดับนั้นได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวโน้ต ทรงโปรดการจัดดอกไม้และการจัดสวน ตั้งแต่ประทับในอังกฤษ และยังทรงมีอัจฉริยภาพในเรื่องความทรงจำและการคำนวณที่แม่นยำ เวลามีผู้เข้าเฝ้าจะรับสั่งถามถึงวันเดือนปีเกิดแล้วจะทรงบอกได้ว่า ตรงกับวันอะไร แต่เมื่อมีพระชันษาสูงได้มีผู้เข้าเฝ้าถามถึงการจำชื่อและวันเดือนปีเกิดที่เคยโปรดได้ไหม พระองค์จึงรับสั่งว่า "สมองฟ้าหญิงแก่แล้ว ทำ (คิดเลข) ไม่ได้แล้ว" แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงใฝ่รู้อยู่เสมอ ทรงรับสั่งกับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ที่เข้าเฝ้าประจำว่า "ฟ้าหญิงอยากเรียนหนังสือ" คุณหญิงศรีนาถจึงถวายบทเรียนง่าย ๆ แก่พระองค์
พระกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจหลากหลายเป็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นอเนกปริยายแต่อาจแยกพระกรณียกิจเป็นหมวดใหญ่ได้ คือ
พระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงแบ่งเบาพระราชภาระกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรม ราชินีนาถหลายประการ โดยเฉพาะการเสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนในภาระต่างสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พระกรณียกิจอันเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องมาจากได้มีการจัดงานฉลองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒธรรมระดับโลก จึงได้มีการก่อสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นโดยมีวัถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและค้นคว้าเรื่องราวอันเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้เสด็จมาทรง วางศิลาฤกษ์ใน วันที่ 1 มกราคม 2520
พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งทรงอุปการะกิจการอันเนื่องในพระพุทธศาสนา เสมอมามิได้ขาด แต่ละปีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินยิ่งพระอารามต่าง ๆ ทั้งยังเสด็จไปในการเททองหล่อพระพุทธปฏิมาพิธีพุทธาภิเษกยกช่อฟ้าเป็นประจำ
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ที่สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว วชิราวุธวิทยาลัย หลังจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จกลับประเทศไทยแล้วได้ ทรงอุปการะกิจการต่างๆ ของวชิราวุธวิทยาลัยมาโดยตลอด ทุกสิ้นปีการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนเป็นประจำทุกปี
พระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข
- ตึกมงกุฏ - เพชรรัตน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงห่วงใยผู้ป่วยอันมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน 1,100,000 บาท เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดชาดไทย โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว
- มูลนิธิวชิรพยาบาล ในพระอุปถัมภ์ฯ วชิรพยาบาลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับมูลนิธิวชิรพยาบาล ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ และมูลนธิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไว้ในพระอุปถัมภ์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกราบทูลขอพระกรุณา
- โรงพยาบาลศิริราช และทุนเพชรรัตนการุญ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯทรงกรุณาพระราชทานเงินแก่โรงพยาบาลศิริราชและพระราชทานเงินสมทบทุนศิริราชมูลนิธิอยู่เสมอมา
พระราชกรณียกิจด้านกิจการลูกเสือ เนตรนารี และกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดน
- กิจการลูกเสือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาคณะลูกเสือไทยขึ้น และปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงตำแห่งองค์อุปถัมภิกาคณะลูกเสือแห่งชาติ
- ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2534
- สโมสรเนตรนารีเพชราวุธ ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับสโมสรเนตรนารีเพชราวุธ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อพุทธศักราช 2505
พระกรณียกิจด้านการสาธารณสุขกุศลอันเนื่องในพระองค์
- กองอาสากาชาดไทย สภากาชาดไทย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2502
- สมาพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนและสมาคาสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เมื่อ 29 มกราคม 2528
พระเกียรติคุณ
พระกรณียกิจทั้งปวงอันบังเกิดจากพระวิริยภาพแห่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวลเสมอมาบรรดาสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ต่างประจักษ์ในพระเกียรติคุณ อันเป็นอเนกประการดังกล่าว จึงมีมติเป็นเเอกฉันท์ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ เพื่อผดุงพระเกียรติคุณแห่งสมเเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ กล่าวคือ
ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2534 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาคหกรรมศาตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางพัฒนาการครอบครัวและเด็ก
ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 สถาบันราชภัฏธนบุรี ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สายอุตสาหกรรมบริการโปรแกรมวิชา อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ

พระอิสริยยศ
30 ธันวาคม พ.ศ.2468 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478: สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 - ปัจจุบัน : สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระยศทางทหาร
พันเอกหญิง, นาวาเอกหญิง และ นาวาอากาศเอกหญิง (พ.ศ.2533 )
นายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ (พ.ศ.2533 )
ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช, ราชองครักษ์พิเศษ และนายทหารพิเศษ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ดังนี้
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
เหรียญกาชาดสรรเสริญ
ปริญญากิตติมศักดิ์
คหกรรมศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2534
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สายอุตสาหกรรมบริการ โปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี พ.ศ.2540
ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2541
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550
ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2551
รางวัล
รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.2547
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น