วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันอังคาร ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557
Posted by พี่ก๊วย 
         ปีนี้เมืองไทยอากาศหนาวจริง ๆโดยเฉพาะทางเหนือ จะว่าไปแล้ว เมื่อก่อนก็เคยเย็นยะเยือกแบบนี้นะ แต่ไม่ได้เป็นข่าวคึกโครมเหมือนปัจจุบัน อดคิดถึงตอนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ของอเมริกา (ซึ่งฉันเรียกตามอาการคนไปเรียนว่า‘จอนหอบกิน’) แล้วไปฉลองกันที่อลาสก้าไม่ได้  ใครว่าอลาสก้ามีแต่หนาวเหน็บ ขอเถียงหัวชนฝา หน้าร้อนก็ใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่  
 

ครานั้นรวบรวมพรรคพวกได้สามใบเถา พี่สาวเป็นรุ่นน้องเรียนจบปริญญาโทส่วนน้องสาวทั้งสองบินมาจากเมืองไทยมาร่วมฉลองปริญญา การจัดเที่ยวของฉันยังคงนโยบายเดิมคือ ‘ถูกทศนิยมแบบรสนิยมเยี่ยม’ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ‘เที่ยวแบบราชาในราคายาจก’


         เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างแรง บินเอียงวูบไปวูบมา ผู้โดยสารในเครื่องมีแต่ผู้เฒ่าผมขาวโพลนหรือไร้เส้น หัวดำสี่คนอย่างเรายังไม่อยากตาย ระหว่างลุ้นอย่างใจหายใจคว่ำล้อก็กระแทกพื้นถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย เรารีบเผ่นไปติดต่อรถเช่าที่จองไว้ แต่ดันมีปัญหา กว่าจะจัดการได้จนมาถึงโรงแรมก็ราวเที่ยงคืน แล้วก็เจอปัญหาอีกเพราะเขาจะคิดเงินเพิ่ม ฉันต้องใช้วิทยายุทธ์งัดลูกอ้อนเข้าสู้ ได้ผล เข้านอนได้ไม่กี่ชั่วโมง ยังหลับไม่ถึงไหน สัญญาณเตือนภัยก็กรีดเสียงกลางดึกดังไปทั้งโรงแรม  
“เขาซ้อมแผนไฟไหม้หรือพี่” น้องถาม
“ไม่ใช่   ของจริง” ฉันยืนยัน
“จริงรึ”
“เอาแค่หนังสือเดินทางกับกระเป๋าเงินไปเร็ว”
“ไม่น่าจะใช่นะพี่”
“ที่อเมริกานี่ของจริง”
“ข้างนอกไม่เห็นมีใครเลยพี่” น้องอีกคนผลุบหัวเข้ามาหลังจากชะโงกหน้าออกไปดูนอกห้องนอน
“เขาเดินกันไปแล้วหละ ไปเถอะ”
“รออีกเดี๋ยวนะ”
“ถ้ากระนั้นแล้ว พี่ขอเผ่นก่อน” ฉันรีบเดินออกจากห้อง
สามใบเถารีบคว้าของสำคัญแล้ววิ่งตาม

        เราเดินลงบันไดหนีไฟ พบปะแขกที่มาพักเดินอย่างเร่งรีบแต่เป็นระเบียบเรียบร้อยลงสู่ห้องโถงด้านล่างของโรงแรม มาถึงเป็นกลุ่มสุดท้าย ที่อเมริกานี่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะตรวจสอบจนแน่ใจว่าปลอดภัยจึงจะอนุญาตให้กลับขึ้นไปพักได้ เราเดินงัวเงียกลับไปหลับต่อได้ไม่นานนัก ก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อออกเที่ยว จะว่าเช้าก็ไม่เชิงเพราะพระอาทิตย์แทบไม่ตกดินในหน้าร้อนของอลาสก้า จึงเป็นช่วงเวลาทองไม่กี่เดือนของผู้คนที่นี่  อย่างเมืองหลวง  Anchorage อุณหภูมิที่เคยรายงานคือตั้งแต่ 38 °C  เท่าบ้านเรา จนถึงติดลบ −62 °C ให้นึกถึงยอดดอยอินทนนท์ ที่มีเหมยขาบ (น้ำค้างเป็นน้ำแข็ง) เพียบ ยังแค่ -2 °C เลย ดังนั้นมันเย็นจนหูแทบหลุดเชียวหละ บางที่หิมะอาจสูงถึง 2 เมตรได้สบาย ๆ  
        อเมริกาซื้ออลาสก้ามาจากรัสเซียราวร้อยสี่สิบปี  ชื่อมีความหมายว่าแผ่นดินใหญ่ (the mainland หรือ great land) มีหลายชนเผ่าดั่งเดิมอาศัยอยู่ก่อนที่พวกยุโรปจะอพยบเข้ามาตั้งรกราก  เมื่อราวสองร้อยปีมาแล้วมีโรคฝีดาษระบาดหนักทำเอาบางชนเผ่าแทบจะสูญสิ้นไปเลยทีเดียวมล รัฐอลาสก้าถือว่าใหญ่สุดในประเทศอเมริกา แต่ทว่าคนอยู่อาศัยน้อยมาก ติดอันดับบ๊วย   จะเที่ยวได้ไม่กี่เดือนในรอบปี ซึ่งช่วงที่ฉันไปเป็นจะเข้าสู่ฤดูร้อนเพราะราคาถูกกว่า แต่โชคดีที่ปีนั้นมันร้อนเร็วจึงได้จ่ายราคาสบายในบรรยากาศสุดสวย  ที่ต้องไปเยือนคือขุนเขา Mount McKinley (หรือDenali) เพราะสูงที่สุดใน Alaska และอเมริกาเหนือ สูงถึง 6,168 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
 

            อาหารประจำถิ่นคือไอศกรีมอลาสก้า Akutag ซึ่งหน้าตาไม่ค่อยเหมือนไอศกรีมสักเท่าไร เพราะมันทำจากไขมันกวาง reindeer น้ำมันของแมวน้ำ ปลาแห้งและผลเบอร์รี่ ที่น่าทานกว่าคือปลาแซลมอน กับปลาตาเดียว ส่วนดอกไม้ประจำรัฐคือ Forget-me-not ดอกเล็ก ๆ น่ารัก ขนาดราวเวนติเมตร มี 5 กลีบสีม่วงบ้างชมพูบ้าง เกสรตรงกลางสีเหลือง  เวลาไปเยือนบ้านเมืองอื่นฉันจะโอกาสทุกครั้งไปตะลอนตามตรอกซอกซอยดูวิถีชีวิตชาวบ้านหรือพักตามบ้านคนท้องถิ่นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว วิธีการเที่ยวแบบประหยัดสุดหรูก็คือเข้าไปประมูลค่าห้องของโรงแรมสี่ดาวทางอินเตอร์เน็ตก่อน มักจะเป็นห้องที่เหลือไม่กี่ห้องหรือแขกยกเลิก ต้องระวังเพราะบางโรงแรมที่ดูเหมือนจะดีแต่เจ๊งไปแล้ว
 


ทั้งนี้จะเลือกวันแรกกับวันกลับและวันที่เดินทางข้ามเมืองถึงค่ำ ๆ ไว้ก่อน เพราะหลงทางได้ง่าย เสียเวลาเที่ยว จากนั้นก็ค่อยไปหาเอาดาบหน้าคือบ้านเรือนที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมักจะมีหมายเลขโทรศัพท์ประจำสำนักงานให้โทรเข้าไปติดต่อจองห้องพัก

“ลดหน่อยได้ไหมคะคุณป้า” ฉันเว้าวอน
“ราคาเดียวลดไม่ได้” เสียงป้าดังมาตามสาย
“อีกนิดหนึ่งนะคะ” ฉันออดอ้อนต่อ
“ไม่ได้ ราคาเขาตั้งไว้แล้ว” เสียงป้าดังเข้มขึ้น
“โอ๊ย…คุณป้า เราเป็นนักศึกษาเพิ่งเรียนจบเก็บหอมรอมริบกันมาตั้งนาน เลือดตากระเด็น กะจะมาฉลองสักครั้งในชีวิต ลดอีกสักนิดหนึ่งนะคะ”
“…..” ป้าเงียบหรืออึ้งลูกตื้อก็มิรู้ได้
“เรารวมกันอยู่ห้องเดียวก็ได้ ขอลดอีกอีกสักนิดสักหน่อยเถอะค่ะ” ฉันต่อรอง
“งั้นเอาเท่าที่มีปัญญาจ่ายก็แล้วกัน” ป้าแกตัดรำคาญ
“เฮ้ คุณป้าใจดีที่สุดเลย ขอพระเจ้าอวยพรให้คุณป้าให้มีความสุขกายสุขใจค่ะ” สำเร็จ ประหยัดเงินไปอีกโข
           เราขับรถมาตามที่อยู่เจอบ้านยังกับปราสาทขุนนางเพราะเจ้าของบ้านอพยบมาจากอังกฤษทำลอกเลียนมา โอ้โฮเฮะ ยังกับวังขุนนาง


คุณลุงคุณป้าท่าทางใจดีกับหมาสีน้ำตาลตัวใหญ่น้อง ๆ ลูกวัวออกมาต้อนรับ ตอนแรกนึกว่ามันขู่ ดู ๆ ไป ดู ๆ มา มันน่าจะเป็นโรคหอบหืดมากกว่า หายใจเสียงดังเชียว คุณลุงคุณป้าพาเราชมบ้าน ย่างก้าวแรกพ้นประตูไม้หนาหนักเข้ามาเจอเพดานสูงลิ่วแขวนโคมไฟอันใหญ่ระย้อยระย้าลงมา มีห้องเก็บเสื้อหนาวด้านขวา ส่วนด้านซ้ายมีประตูไม้ทรงโค้งแบบปราสาทเจ้าหญิงเจ้าชาย เหนือประตูมีกระบี่ไขว้บนโล่แขวนไว้ ฉันคิดว่าต้องเป็นห้องเก็บหีบสมบัติหรือทางลับลงใต้ดิน ที่ไหนได้เป็นห้องส้วม


ประตูไม้หนาใหญ่ถัดไปเปิดสู่ห้องรับแขกที่ตั้งเปียโนไว้ตรงทางเข้า พื้นห้องปูลาดด้วยพรมสีขาวนุ่ม กลางห้องมีชุดรับแขกฟูกหนาสีขาวลายปักสีทองเข้าชุดกับหมอนอิงขลิบทองและผ้าม่าน  โต๊ะทรงเตี้ยทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายวิจิตร ปูด้วยกระจก เข้ากับโต๊ะตั้งโคมไฟและกรอบรูปไม้ติดผนัง จะทรงไหนยุคไหนฉันมิรู้เลย  รู้จักแต่ขาสิงห์เมืองไทย แม้แต่
 

จากนั้นผู้อาวุโสก็พาเดินขึ้นบันไดไม้ไปห้องนอนชั้นบน มองเห็นโคมไฟระย้า


เราขนของเข้าไปรวมในห้องเดียว เพราะจองมาห้องเดียว ไม่รู้ว่าท่านเอ็นดูในความใสซื่อของเราหรือเปล่า เปิดให้พักอีกห้องโดยไม่คิดเงินเพิ่ม ฉันมิอาจปฏิเสธให้เสียน้ำใจ


          ตอนเช้าป้าทำอาหารให้ทาน   ห้องทานอาหารอยู่ด้านหลังบ้านมีกระจกรายรอบมองเห็นป่าสีเขียวผ่านม่านเล็ก ๆ น่ารัก ขณะที่เราสรรเสริญเจ้าของไปทานอาหารเช้าที่ทำเส้นร้อน ๆ หอมฉุยในบรรยากาศรื่นรมย์ไป ฉันก็เห็นอะไรดำ ๆ ทะมึนแวบเข้ามาในลานสายตา
“เฮ้ย พี่ตาฝาดไปหรือเปล่า” หรือว่าราคารวมดูผีด้วย
“อะไรเหรอ”
“นั่น ๆ ตะคุ่ม ๆ อยู่นั่น”
“ไม่เห็นอะไรเลย ตาฝาดไปมั่ง”
“…..” เราเงียบกริบมองหน้ากันเลิ่กลั่ก 
“เฮ้ย! ” พวกเราร้องเสียงหลง เมื่อเห็นสัตว์สี่ขาตัวดำใหญ่พอ ๆ กับควายใส่ส้นสูงวิ่งผ่านหน้าต่างไปอย่างรวดเร็ว เราวางมีดวางซ่อมโดยมิได้นัดหมายวิ่งตามไปดูอีกฟากหนึ่งของห้องอาหาร  ที่แท้เป็นตัว moose ที่คนไทยเรียกว่ากวางมูซนั่นเอง ไม่ต้องไปเสียเงินดูที่ไหน มาอวดโฉมให้ชมถึงบ้านเลย
 

           อีกหนึ่งอย่างที่ฉันหลงใหลคือการล่องแก่ง  ไปมาหลายที่รวมทั้งประเทศซิมบับเว รัฐโอไฮโอของประเทศอเมริกา แต่ทุกที่จะไม่เหมือนที่อลาสก้านี่  เพราะหนาวเหลือใจ ต้องใส่ชุดกันน้ำ (dry suit)  ซึ่งแต่งยากกว่าชุดดำน้ำแบเปียก (wet suit) เยอะเลย ประการแรกต้องใส่เสื้อหนาวกางเกงขายาว ซึ่งฉันใส่มาแต่กางเกงขาสั้นเสื้อยืดบาง ๆ แล้วแยงขาลงไปในขากางเกงก่อนที่จะมุดหัวเข้าในส่วนบนที่แบะออก เอาแขนเสียบเข้าไปในรูแขนด้วย จากนั้นดันหัวออกมาทางรูคอ แล้วมีคนรูดซิบให้ด้านหลัง ใส่ถุงมือกับรองเท้า แล้วสวมเสื้อชูชีพทับอีกที จะว่ายน้ำเก่งแค่ไหนก็ไม่ได้รับการละเว้นเรื่องความปลอดภัย
  

ต้นไม้สองฟากธารโบกสะบัดทักทายแพยางของเราที่น้าสายน้ำโอบอุ้มลัดเลาะไปตามเกาะแก่ง พี่สายลมตามมาหยอกเอินเป็นระยะ ๆ ขณะที่พ่อตะวันห่มไออุ่นให้เราไปตลอดทาง ทุกอย่างดูดีเลิศประเสริฐศรีไปหมด ยกเว้นอย่างเดียว เท้าเย็นจนจะเป็นไอศกรีมกล้วยไปแล้ว
           เราแวะไปดูสุสานซึ่งจะแปลกกว่าที่อื่นก็ตรงที่บนหลุมศพแทนที่จะมีไม้กางแขน หรือหินสลักชื่อ หรือฮวงซุยแบบจีน แต่กลับเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ คล้ายบ้านตุ๊กตาเรียงรายอยู่ทั่ว ดู ๆ ไปเหมือนชุมชนของคนตายยังไงยังงั้น
 



          อีกที่ซึ่งขาดไม่ได้คือล่องเรือดูปลาวาฬและธารน้ำแข็ง (glacier) ธารน้ำแข็งนั้นมีให้ดูแน่ แต่ไม่รับประกันว่าจะได้เห็นปลาวาฬหรือเปล่าเพราะมิสามารถจะคาดเดาใจมันได้  เรือแล่นผ่านฝูงแมวน้ำที่ขึ้นไปนอนอืดถึกผึ่งพุงบนก้อนน้ำแข็งอย่างสำราญใจ สักพักใหญ่ก็จอดเทียบให้เราเดินเลาะเล่นบนธารน้ำแข็งสีขาวเหลือบฟ้า  ก่อนจะกลับขึ้นเรือต่อหาดูปลาวาฬอีกครา อุ๊แม่เจ้า โชคดีสุด ๆ ได้เห็นทั้งวาฬเพชฌฆาต และวาฬอีกสองชนิดจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร มันว่ายพ่นน้ำมาข้างเรืออยู่นานพอดู
 

            ตอนแรกก็นึกว่าอลาสก้าหนาวจนยุงอยู่ไม่ได้ ที่ไหนได้ ยุงเยอะมาก ตัวมันใหญ่ยักษ์จนเขาเรียกเล่น ๆ ว่าเป็นนกประจำรัฐ มันกัดจนชนิดที่ว่ามีมุ้งคลุมหัวกับถุงมือขายเป็นล่ำเป็นสันเลยละ ตอนมันจิกปากเสียบลงไปในเนื้อหนังฉันจนบวมเป่ง เป่าเท่าไหร่ก็ไม่หลุด เอานิ้วเขี่ย ๆ ก็ไม่ออก  มันโยกหัวตามนิ้วจนเกรงว่าหัวมันจะหลุดจากบ่า จึ่งต้องยอมให้มันดูดดื่มเลือดไปเลี้ยงลูกมันสักครา 




          เจ้าหน้าที่อุทยานที่นี่เรียนรู้จากความผิดพลาดของ อุทยานเลื่องชื่ออื่น ๆ ในอเมริกาซึ่งปล่อยนักท่องเที่ยวเป็นใหญ่จนสัตว์ป่านิสัยเสีย คุ้ยขยะกิน ไม่ทำมาหากินตามธรรมชาติ แถมยังมีเรื่องมีราวกับผู้คนเป็นระยะ ๆ  ดังนั้น กฎที่นี่จึงเข้มงวด ต้องใช้รถอุทยานเข้าไป รถส่วนตัวต้องจองล่วงหน้าและมีจำนวนจำกัด ขยะทุกอย่างต้องขนออกมาหมด เขาใช้กล่องอาหารจากกระดาษที่นำกลับมาทำใช้ใหม่ สอนวิธีพับทิ้งและเรื่องอนุรักษ์ อันที่จริงคนอเมริกาใช้ของเปลืองมากไม่ว่าจาน ชาม แก้ว มีด ช้อน ซ่อม กระดาษเช็ด และของในชีวิตประจำวันอีกมากมายแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำกลับมาทำใช้ใหม่ (recycle) นั้นก็ดีอยู่แต่ที่ดีกว่าคือการใช้ซ้ำ (reuse) เพราะอย่างแรกสิ้นเปลืองพลังงานมากเช่นกัน ถึงกระนั้นก็ยังดีที่พอมีผู้คนซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาช่วยกันดูแลโลกป่วยของเรา
           พนักงานขับรถพาเราเลาะเลียบไปตามถนนดินแดง เมื่อพบเห็นสัตว์ตามสุมทุมพุ่มไม้ก็จอดรถดูเงียบ ๆ  ห้ามลงจากรถวิ่งแล่นแต้ไปถ่ายรูปเด็ดขาดอาจโดนหมีตบกระบาลแบะ หรือกวางขวิดก้นได้  สำหรับพวกบ้าถ่ายรูปกับบ้าเดินเขาก็มีจุดจอดให้ได้ยืดเส้นยืดสายกัน
 



“ถ้าตาดี ๆ จะเห็นแกะดอลขาวที่เดินไต่ตามหน้าผาสูง”
“ไม่เห็นสักตัว” ฉันบ่นหลังชะเง้อชะแง้หาอยู่นาน
“ไม่เห็นเหมือนกันพี่” สาว ๆ ยืดคอหา
“นั่นไง ๆ” เสียงคุณตาตะโกนมาจากด้านหน้า
“ไหน ๆ” เราเผ่นไปด้านหน้าเกาะกระจกดู
“ไหนนะ”  ฉันยืดคอ หดคอ เอียงคอ แกว่งคอดู ยักเห็นเห็น
“นู๊นไง ๆ ขาว ๆ วิ่งลงมาตรงหน้าผา”
“เออ ใช่ ๆ ”
“เอ๊ะ ทำไมมันวิ่งเร็วปานเหาะอย่างนั้นหละ” ฉันชักไม่แน่ใจว่าแกะบ้าอะไรจะไวปานวอก
“เฮ้ย นั่นมันรถบัสสีขาวนี่หว่า” เสียงคุณปู่ดังมาจากอีกเก้าอี้หนึ่งด้านหน้า
“นี่แหนะ ตาบ้า” ยายที่นั่งข้าง ๆ เอาศอกถองเข้าที่พุงคุณตากึ่งงอนกึ่งอายที่หวานใจทำเอาคนวุ่นไปทั้งรถ
“..อิ อิ ” ไม่ได้หัวเราะเยาะดอกนะแต่อดขำในความน่ารักของคุณตาคุณยายไม่ได้
“นู้นไง ๆ แกะ” เสียงย่าอีกคนตะโกนขึ้นจากอีกซีกรถ
“ไหน ๆ ”
“ไต่หน้าผานั่นไงเป็นฝูงเลย”
“ใช่ ๆ แกะจริง ๆ พี่” น้อง ๆ ตะโกนเรียกฉันที่นั่งเอื่อยเฉื่อยหลังจากระริกระรี้ไปดูแกะรถบัสมากไปหน่อย 
“เออวะ”  ฝูงแกะที่เห็นลิบ ๆ ตรงหน้าผาเป็นฝูงเดินและเล็มหญ้า ตัวมันอ้วนฟูด้วยขนขาวเป็นปุยกอปรกับเขาโค้งม้วนเหมือนแสกผมตรงกลางเสยเป็นพวงออกไปสองข้างยกเชิดขึ้นเล็กน้อยเสมือนหนึ่งผู้ลากมากดีใส่หมวกโก้เก๋กับชุดคลุมขนแกะสุดหรูมาออกงาน
“กวาง ๆ ”
“ไหน ๆ ”
“ในพุ่มไม้ด้านซ้ายค่ะ”
“ไม่เห็นอะไรเลย มีแต่พุ่มไม้สีน้ำตาล”
“โอย…พี่ ไอ้ที่ไหว ๆ อยู่นั่นไง”
“ใช่จริงด้วย อยากสายตายาวเหมือนแก๊งผู้เฒ่าจังเลย”  ฉันมองตามนิ้วชี้จึงเห็นเขากวางชูเด่นเป็นสง่ากลางพงหญ้าสีน้ำตาล
“ตาถั่ว” โดนเหน็บเข้าจนได้
 

     เราแวะไปเดินป่าดูหมีที่ทะเลสาบ Eagle  เจ้าหน้าที่อุทยานสอนพวกเราก่อนปล่อยให้เดินลัดเลาะตามป่าดูธรรมชาติ


“ถ้าเจอหมีพันธุ์นี้ให้หยุดอยู่นิ่ง ๆ หรือแกล้งตาย  มันจะไม่ทำอะไร แต่ถ้าเจออีกพันธุ์หนึ่งต้องตะโกนเสียงดัง ๆ ขู่ แล้วมันจะหนีไป”
ความรู้ไม่เป็นปัญหาสำหรับฉัน แต่เรื่องใหญ่กว่าคือดูพันธุ์หมีไม่เป็น ครั้นจะทักทายโอภาปราศรัยไถ่ถามสายพันธุ์มันคงไม่เปิดโอกาสให้
“อึ๋ย…” ฉันพูดไม่ออกเมื่อเห็นหมีสีน้ำตาลดำตัวยังกับตู้แช่แข็งอยู่ปลายทางเดิน  แหล่ตาดูฝรั่ง  2 – 3 คน ที่เดินมาด้วยว่าเอาไงดี
“จะนิ่ง ๆ หรือจะตะโกนดี” ฉันถามหยั่งเชิงดู
“มันน่าจะไม่เดินมาทางนี้ดอก” พ่อฝรั่งตาน้ำขาวมากับแฟนสาว
“ฉันว่ามันเดินส่ายหัวมาทางนี้นะ” เท้าที่ก้าวเดินไปข้างหน้าหยุดกึกโดยไม่ยอมรับคำสั่งจากสมองต่อไป ลมหายใจสุดแผ่วกลัวมันจะได้ยิน
“ผมว่าเผ่นดีกว่าตัวมันใหญ่มาก” ว่าแล้วคู่หนุ่มสาวก็จ้ำอ้าวออกไป ทิ้งฉันให้เดียวดายโด่เด่อยู่ผู้เดียว
“เฮือก” ฉันสูดลมหายใจเฮือกใหญ่ นึกถึงคำสอนพระอาจารย์ที่เล่าถึงพระธุดงค์ที่ประจันหน้ากับเสือกลางป่าสามารถรวมจิตจนบรรลุเป็นพระอริยะเจ้าได้  แล้วตัดสินใจเผ่น โดยเดินถอยหลังดูเชิง ก่อนจ้ำพรวดตามเขาไป
 

          ขุนเขาแมกไม้สายธารที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตาของอลาสก้าช่างยิ่งใหญ่จนทำให้ฉันรู้สึกตัวกระจ้อยร่อยกระจิดริด เป็นเพียงแค่จุดหนึ่งในธรรมชาติที่ไร้ขอบเขต  แต่กลับเผลอใจให้อหังการอยู่ในโลกสมมุติอยู่ร่ำไป ปล่อยโอกาสแสนดีที่ได้เกิดมาเป็นคนไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องกลับตัวกลับใจใช้สติกำกับสัมมาทิฐิในห้วงเวลาที่เหลือน้อยลงไปทุกที และ มิรู้ได้ว่าจะหมดสิ้นเมื่อใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น