วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เห็น 'เรือ' ลอยลำกลางถนน ย้อนยลวัฒนธรรมไทยกับสายน้ำ

วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤศจิกายน 2554 เวลา 0:00 น



 
เรือ จัดเป็นพาหนะที่อยู่คู่เมืองไทยและคนไทยมาช้านาน โดยในอดีตการเดินทางสัญจรของผู้คน มักจะใช้เรือพายไปมาหาสู่กัน นอกจากนี้เรือยังมีบทบาทสำคัญในการค้าขาย สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในแถบชนบท แต่ในช่วงวิกฤติมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งล่าสุดนี้ เรือได้กลับมามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยอีกครั้ง!!
    
อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา แห่งพิพิธภัณฑ์เรือไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าถึงวิวัฒนาการของเรือไทยให้ฟังว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นับพันปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์เรือเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง เพื่อออกไปหาอาหาร เพื่ออพยพไปหาที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ บางครั้งก็เพื่อการศึกสงคราม โดยวัสดุที่นำมาทำเรือก็เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ชาวสยามในแถบสุวรรณภูมิจะนำต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มาขุดเป็นลำเรือเพื่อใช้ในการเดินทาง การค้า หรือใช้ในการสงคราม
   
วัฒนธรรมการใช้เรือของคนไทย ปรากฏหลักฐานไว้มากมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังจะเห็นได้จากบันทึกของ เดอ ลาลูแบร์ และภาพเรือขนาดต่าง ๆ ตามบันทึกยังแสดงถึงการใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง การค้าขาย ขนส่งสินค้า รวมทั้ง การใช้ เรือนแพ เป็นที่พักอาศัย จอดประจำตามแหล่งชุมชน ตลาดน้ำที่มีการค้าขายเป็นประจำ และ เรือประทุน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและล่องไปค้าขายตามที่ต่าง ๆ โดยเป็นเรือขุดที่หลังคาสานด้วยไม้ไผ่อยู่อาศัยกันได้ทั้งครอบครัว
   
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้พัฒนาประเทศสยามให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับตลอดมาในทุกด้าน ตลอดจน การขุดแม่น้ำลำคลองหลายสาย เพื่อเป็นเส้นทางในการค้า การคมนาคม การเกษตร และการชลประทานของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  5 โปรดฯ ให้มีการขุดคลอง เช่น คลองระพีพัฒน์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม และมีน้ำเก็บไว้ใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์
   
ต่อมาเมื่อมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มีการสร้างถนนหนทาง พัฒนาการคมนาคมทางบกมากขึ้น ทำให้การใช้เรือเพื่อกิจการต่าง ๆ ดังเช่นในอดีตเริ่มลดลง เรือไม้ที่เคยมีใช้งานกันทุกบ้านก็ถูกเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่มีความสะดวกรวดเร็วกว่า เรือไม้ทั้งหลายถูกรื้อทิ้ง ปลดระวาง หรือจำหน่ายไปในราคาถูก แม้แต่เรือโดยสาร เรือเมล์ เรือประมง ที่เคยสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก เจ้าของต้องเลิกกิจการ เพราะไม่คุ้มกับการบำรุงรักษาเรือ
   
อ.ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า “ปีนี้ เป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี มากกว่า 30 จังหวัดต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นเวลายาวนานในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง การช่วยเหลือก็ทำได้ยากลำบาก เพราะขาดแคลนเรือแต่หลายคนก็ไม่ยอมแพ้ในการเอาตัวรอด มีการนำเรือหรือวัสดุใด ๆ ที่ลอยน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็น กะละมัง อ่างน้ำ ขวดน้ำพลาสติก แพไม้ไผ่ มาใช้แทนเรือ ในส่วนของเรือที่นำมาใช้มีหลายประเภท ทั้ง เรือไม้ ไฟเบอร์กลาส พลาสติก หรือแม้แต่แผ่นเหล็ก โดยเฉพาะเรือที่ทำจากพลาสติก สีสันสดใสออกมาวางจำหน่ายในราคาที่ทำกำไรให้กับผู้ขายได้อย่างงาม ในยามที่ทุกคนต้องการหาเรือไว้ใช้เป็นพาหนะแทนรถยนต์ที่ต้องนำไปจอดหนีน้ำท่วม”
   
เมื่อมีเรือแล้วแต่ใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ อ.ไพฑูรย์ อธิบายต่อว่า เครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนเรือโดยใช้แรงคนมี 3 ประเภท อย่างแรก คือ ถ่อ เป็นไม้ยาว ส่วนมากใช้ไม้ไผ่ที่ตันหรือไม้กลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาวประมาณ 4 - 6 เมตร สำหรับดันเรือให้แล่นไปข้างหน้าในช่วงที่น้ำตื้น บางครั้งจะมีตะขอเหล็กที่ปลายถ่อเพื่อความแข็งแรง
   
ต่อมา คือ พาย  มีลักษณะเป็นแผ่นไม้กว้าง ประมาณ 6 นิ้ว เรียกว่า ใบพาย โดยช่วงกลางจะกว้าง เรียวลงไปทางด้านข้างทั้งสองข้างเพื่อไม่ให้ต้านน้ำ เพราะจะเป็นส่วนที่พายลงไปในน้ำ เมื่อออกแรงก็จะผลักให้เรือแล่นไปข้างหน้า ส่วนไม้กลมสำหรับจับ เรียกว่า ด้ามพาย ซึ่งการพายเรือนั้น มักจะนั่งพายที่หัวเรือหรือท้ายเรือ นิยมใช้ในเรือขนาดเล็ก ไม้พายส่วนใหญ่ทำจากไม้โมก ไม้สัก เพราะเป็นไม้ที่ลอยน้ำได้และน้ำหนักเบา 
   
สุดท้าย คือ แจว ส่วนปลายใบแจวจะแบนคล้ายใบพายแต่ยาวกว่า และด้ามแจวจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว มีความยาวประมาณ 4 เมตรขึ้นไป การแจวเรือจะต้องมีหลักแจว สำหรับคล้องเชือก ซึ่งเรียกว่า หูแจว ทำจากด้ายสีขาว มีความเหนียวมาก ผูกไว้กับด้ามแจวเป็นจุดหมุน ส่วนปลายสุดของด้ามแจว จะมีไม้กลม ยึดในแนวขวางตั้งฉากกับด้ามแจว เรียกว่า หมวกแจว เพื่อให้จับด้ามแจวได้กระชับ ไม่หลุดมือได้ง่ายและใช้ในการพลิกใบแจว เพื่อให้กินน้ำได้มากหรือน้อยตามต้องการ การแจวเรือจึงต้องยืนแจว นิยมใช้สำหรับเรือที่มีขนาดใหญ่ และไปได้ระยะทางไกล เช่น เรือจ้าง เรือกระแชง เรือมาด
    
“การพายเรือที่ถูกต้องจะต้องวาดไปข้าง ๆ เพื่อให้เรือแล่นไปและดึงใบพายเข้าหาตัวและเมื่อใบพายจะพ้นน้ำขึ้นมา ก็จะต้องคัดใบพายลงใต้น้ำก่อนจะให้ใบพายโผล่พ้นน้ำ มิฉะนั้นเรือจะหมุนเป็นวงกลม การพายเรือจึงมักจะมีคนพายที่หัวเรือหรือท้ายเรือ โดยจะพายซ้ายที ขวาที สลับกัน เพื่อให้เรือแล่นตรงทาง ส่วนการจะเลี้ยวซ้าย หรือขวา ก็จะออกแรงในด้านตรงข้ามกับทิศที่จะเลี้ยวให้มากกว่าอีกด้าน เรือก็จะหันไปในทิศทางที่ต้องการได้ ส่วนการหยุดเรือจะใช้ใบพายราน้ำหรือต้านน้ำไว้ เป็นการลดความเร็วของเรือลงก่อนจะหยุดเรือ เพราะเรือไม่มีเบรกเหมือนรถยนต์จึงต้องลดความเร็วก่อนถึงที่หมาย เพื่อให้เรือแล่นช้าลงและจอดเทียบท่าได้ในจุดที่ต้องการ”
   
หากต้องนั่งเรือ อ.ไพฑูรย์ แนะนำว่า ถ้าเป็นเรือขนาดเล็กที่นั่งได้คนเดียวต่อหนึ่งแถวควรนั่งกลางลำเรือ เพื่อให้เรือสมดุล ไม่โคลง แต่ถ้านั่งได้สองคนต่อแถวก็นั่งให้ห่างจากกลางลำเรือเท่า ๆ กัน เมื่อนั่งในเรือแล้วควรจะนั่งนิ่ง ๆ ไม่เอนตัวไปมา เมื่อถึงที่หมายจะต้องรอให้เรือจอดที่ท่าเรือให้สนิทและก้าวขึ้นจากเรือช้า ๆ ไม่ต้องรีบ ถ้ามีเด็กเล็กผู้ปกครองควรเดินทางไปด้วยและให้เด็กสวมเสื้อชูชีพไว้เสมอขณะอยู่ในเรือ รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย ในขณะเรือแล่น จะมีเรือแล่นสวนมาควรระวังคลื่นจากเรืออื่นกระแทกเรือของเราทำให้เปียกน้ำได้ ระวังอย่าให้น้ำเข้าตาและปากอาจเป็นอันตรายได้
   
’การใช้บริการเรืออย่างปลอดภัย ควรทำตามคำแนะนำของคนขับเรือ เพราะเขาจะทราบดีว่า เรือมีสภาพอย่างไร รับผู้โดยสารได้กี่คน แต่บางครั้งเราก็ต้องสังเกตด้วยตนเอง ไม่ควรลงเรือที่มีคนลงไปในเรือจำนวนมาก ๆ และควรดูสภาพของเรือว่ามีความพร้อมหรือไม่ ถ้ามีเหตุฉุกเฉินควรส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือให้เด็ก สตรีและผู้สูงอายุขึ้นจากเรือ หรือได้รับการช่วยเหลือก่อน และที่สำคัญควรสวมเสื้อชูชีพ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิด“
   
การใช้เรือในสถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ กนก ขาวมาลา ผู้สืบสานพิพิธภัณฑ์เรือไทยทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยว่า การพายเรือในสภาวะที่ไม่ปกติ คือจะต้องพายเรือบนถนนเช่นนี้ ควรระวังสิ่งกีดขวางที่มองไม่เห็นที่จมอยู่ในน้ำ เช่น รถยนต์ หรือจะเป็น ตู้ โต๊ะ ที่ลอยน้ำมา รวมทั้ง ท่อระบายน้ำที่ไม่มีฝาปิด ตลอดจนต้องระวังเรื่องกระแสไฟฟ้าที่มาจากไฟส่องสว่างริมถนนที่ยังไม่ได้ตัดไฟ หรือพายเรือผ่านเข้าไปใกล้หมู่บ้านหรือชุมชนที่พักอาศัย จึงควรสวมรองเท้า ตลอดจนควรมีสัญญาณติดเรือเมื่อจำเป็นต้องแล่นในเวลากลางคืนด้วย การขับเรือไม่ควรใช้ความเร็ว เพราะจะทำให้คลื่นไปกระแทกกระสอบทราย หรือบ้านเรือนริมถนนได้รับความเสียหายได้.

การดูแลรักษาเรือประเภทต่างๆ

เรือไม้ ควรจอดไว้ในที่ร่ม หรือหาวัสดุคลุมเรือไว้ไม่ให้เรือร้อนหรือได้รับแสงแดดจัด เพราะจะทำให้เนื้อไม้แห้งและแตกได้ สำหรับเรือไม้ประเภทเรือต่อนั้น ควรดูแลโดยการทาน้ำมัน ทาสี และตอกหมัน ยาชัน เป็นประจำทุกปีหรือสองปีครั้ง ถ้ามีส่วนใดผุ เช่น เปลือกเรือ ควรจะเปลี่ยนกระดานแผ่นนั้น และซ่อมให้มีสภาพดีดังเดิม ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านั้น
    
เรือเหล็ก เป็นเรือที่แข็งแรง ทนทาน แต่มีข้อเสีย คือ ถ้าเป็นเรือที่มีราคาถูกและไม่มีมาตรฐานจะไม่มีห้องลอย ถ้าเรือคว่ำ เรือจะจมลงทันที ต่างจากเรือไม้ ที่ส่วนมากต่อจากไม้ที่ลอยน้ำได้ แม้ว่าเรือจะคว่ำก็สามารถกู้ขึ้นมาได้ การดูแลเรือเหล็กนั้น ควรจะต้องทาสีเป็นประจำ เพื่อป้องกันสนิม ส่วนการซ่อมแซมถ้าเรือผุ จะสามารถซ่อม ปะผุได้
    
เรือไฟเบอร์กลาส เรือพลาสติก สิ่งสำคัญที่ต้องระวังเพราะจะทำให้เรือเสื่อมสภาพ คือ แสงแดด รังสียูวี แต่เรือไฟเบอร์กลาสจะทนทานกว่าเรือพลาสติก เพราะหล่อขึ้นรูปด้วยใยแก้ว ยึดติดกันด้วยน้ำยาเรซินและผสมเนื้อสีลงในเนื้อวัสดุ ทำให้สีคงทน ส่วนการซ่อมแซมเรือประเภทนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงขัดผิวส่วนที่ชำรุด และตัดแผ่นใยแก้วปิดในส่วนที่ชำรุด และทาน้ำยาเรซิน โดยเรือพลาสติกจะทนทานน้อยกว่าแต่มีราคาถูกกว่าเรือประเภทอื่น สามารถผลิตได้คราวละมาก ๆ ทำให้ต้นทุนถูกลงอีกด้วย

ทีมวาไรตี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น