วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ท่องเมืองกาญจน์...เที่ยวสะพานข้ามแม่น้ำแควย้อนประวัติศาสตร์ “ทางรถไฟสายมรณะ”

วันเสาร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2554 เวลา 0:00 น
 
 
กาญจนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและสถานที่ต่างๆ ในอดีตที่น่าสนใจมากมาย จึงทำให้มีผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวกันไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ...
    
ยิ่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีด้วยแล้ว ดูเหมือนที่นี่จะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาของการจัด งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้!!
   
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดกาญจนบุรีค่อนข้างใกล้เพราะจะใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น และจากตัวเมือง หากเดินทางต่อมาตามทางหลวงหมายเลข 323 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะมาถึง ต.ท่ามะขาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สะพานข้ามแม่น้ำแคว
   
สะพานข้ามแม่น้ำแคว นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง สร้างขึ้นสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดียอีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์แห่งนี้ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น
    
โดยในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นขอทำสัญญาสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ไปสู่พม่า โดยแยกทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟหนองปลาดุก ห่างจากสถานีรถไฟบ้านโป่ง 5 กิโลเมตร ณ บ้านท่ามะขาม (เดิมชื่อบ้านท่าม้าข้าม) ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เนื่องจากญี่ปุ่นสำรวจแล้วเห็นว่า บริเวณบ้านท่ามะขามอยู่ติดกับแควศรีสวัสดิ์หรือแควใหญ่ เป็นพื้นที่เหมาะสมในการที่จะสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยทหารญี่ปุ่นได้ถามชาวบ้านผู้สูงอายุที่บ้านท่ามะขามว่าแม่น้ำนี้ชื่อว่าอะไร การถามไปตอบมาคงไม่เข้าใจชัดเจนนัก ญี่ปุ่นได้ยินแต่คำว่า แคว ชัดเจนกว่าคำอื่น ๆ จึงเรียกลำน้ำนี้ว่า แม่น้ำแคว และเรียกสะพานว่า สะพานข้ามแม่น้ำแคว เมื่อสร้างเสร็จ
    
สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ทั้งสิ้น มีระยะทางยาวประมาณ 300 เมตร การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง
    
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำแควเดิมได้รับความเสียหาย รัฐบาลไทยจึงได้ซ่อมแซม และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ.2489 จึงสามารถกลับมาใช้งานได้ดังเดิม และยกย่องให้สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็น สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
   
หากใครต้องการชื่นชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้อย่างใกล้ชิด บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควจะมีบริการรถรางแฟร์มองให้บริการทุกวัน โดยวันธรรมดา จะมีตั้งแต่เวลา 08.00-10.30 น., 11.20-14.00 น.,15.00-16.00 น. และ 18.00-18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-09.30 น., 11.20-14.00 น. และ 18.00-18.30 น. หรือจะเดินชมบนสะพานก็ได้ ไม่ต้องกลัวเหนื่อยเพราะมีจุดพักเป็นระยะ ๆ
   
นอกจากจะได้ชมความสวยงามของสะพานข้ามแม่น้ำแควแล้ว ยังได้ตื่นตาตื่นใจกับ ทางรถไฟสายมรณะ อีกด้วย ที่เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่าน จ.กาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปทางทิศตะวันตก ผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์จนถึงปลายทางที่เมืองตันบีอุซายัต ประเทศพม่า ใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 แต่ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตกเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร
   
หลังสงครามทางรถไฟบางส่วนถูกเลาะทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้ทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้น เพราะเส้นทางรถไฟสายนี้บุกเบิกก่อสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทหารเชลยศึกสัมพันธมิตรที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์ให้มาสร้าง เพื่อให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านไปยังประเทศพม่า ทิวทัศน์ตลอดเส้นทางนี้สวยงามมาก โดยเฉพาะบริเวณถ้ำกระแซที่เส้นทางรถไฟลัดเลาะผ่านไปตามเชิงผาเลียบไปกับแม่น้ำแควน้อย
    
ปัจจุบันเส้นทางสายนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวันและ จัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ -น้ำตก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ โดยจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาก คือ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และช่วงโค้งมรณะหรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อยยาวประมาณ 400 เมตร รวมทั้งเป็นอนุสรณ์จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามด้วย
   
ส่วนใน งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควปีนี้จะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การแสดงนิทรรศการในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง รวมทั้ง มีการออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัด และการแสดงมหรสพต่าง ๆ สามารถเดินชมได้อย่างเพลิดเพลินตลอดทั้งงาน
   
ไฮไลต์ของงานที่พลาดไม่ได้ คือ การแสดง แสง สี เสียง บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควโดยจำลองเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพา) ที่กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายสะพานเพื่อตัดเส้นทางรถไฟที่เดินทางสู่ประเทศพม่าที่น่าตื่นเต้น ลุ้นระทึกตลอดการแสดง
   
และนี่คือเรื่องราวของ สะพานข้ามแม่น้ำแคว สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับความทรงจำจากสงครามที่ยังคงเล่าขานตำนานสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า...ตลอดกาล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น