ศรีสัชนาลัยสวรรคโลกและสุโขทัย เป็นเมืองฝาแฝดคู่กันเหมือนกรุงเทพฯ และธนบุรี แต่ศรีสัชนาลัยสวรรคโลกเกิดก่อน (เดิมเรียกเมืองเชลียง) ยิ่งพอมีเจ้าเมืองเดียวกันคือพ่อขุนศรีนาวนำถุมก็ยิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่วันนี้สุโขทัยเป็นจังหวัด ส่วนศรีสัชนาลัยและสวรรคโลกแยกออกเป็นสองอำเภอขึ้นกับสุโขทัย
พ่อขุนศรีนาวนำถุมหรือพ่อขุนพิชิตน้ำท่วมเป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกและเมืองสุโขทัยองค์แรก ก่อนหน้านั้นอาจมีเจ้าเมืองอื่นแต่ไม่ปรากฏชื่อ คนรุ่นหลังเรียกตระกูลวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมว่าราชวงศ์นาวนำถุมซึ่งที่จริงก็มีแต่ท่านอยู่องค์เดียว ไม่อีกทีก็นับพ่อขุนผาเมือง ลูกชายท่านเป็นเจ้าเมืองร่วมราชวงศ์ได้อีกองค์ เพราะหลังจากจับมือกับพ่อขุนบางกลางหาวสู้กับขอมสบาดโขลญลำพง (ไม่ใช่ชื่อคนแต่เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายเขมร) จนชนะ พ่อขุนผาเมืองซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองราด (เชื่อว่าอยู่ทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์) ก็ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยแล้วให้พ่อขุนบางกลางหาวไปครองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก แต่ต่อมาก็ขอสลับให้พ่อขุนบางกลางหาวมานั่งเมืองสุโขทัย ตัวพ่อขุนผาเมืองเองยอมไปนั่งเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกแทน
ยิ่งกว่านั้น พ่อขุนผาเมืองเป็นลูกเขยเจ้าเมืองเขมรจึงเคยได้รับชื่อจากเขมรว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ฟังดูเป็นเทพเจ้าอยู่เหมือนกัน แต่พอย้ายไปนั่งเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกท่านก็กลับไปใช้ชื่อผาเมืองตามเดิมแล้วเซ้งชื่อศรีอินทราทิตย์ให้พ่อขุนบางกลางหาวเสียอย่างนั้นแหละ
เชื่อกันว่าพ่อขุนบางกลางหาวอาจเป็นลูกเขยพ่อขุนศรีนาวนำถุมและเป็นพี่เขยพ่อขุนผาเมือง เมียพ่อขุนบางกลางหาวที่ชื่อนางเสืองอาจเป็นพี่สาวพ่อขุนผาเมืองก็ได้ ถ้าอย่างนั้นพ่อขุนบางกลางหาวก็น่าจะอยู่ในราชวงศ์ศรีนาวนำถุมด้วย แต่เพราะท่านเป็นแค่เขยและภายหลังใหญ่โตขึ้นด้วยการสร้างอำนาจบารมีเองจนสุโขทัยเปลี่ยนจากชุมชนธรรมดากลายเป็นอาณาจักรจึงจัดให้ท่านเป็นต้นราชวงศ์ใหม่ของสุโขทัยชื่อราชวงศ์พระร่วง
พูดถึงคำว่าพระร่วง ที่จริงคำนี้ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักใด ๆ แต่มีกล่าวถึงในตำนาน นิทานพื้นบ้าน พงศาวดารเมืองเหนือ และพงศาวดารต่างแดนเช่นในเรื่องราชาธิราชที่พูดถึงพระร่วงและมะกะโท บางครั้งกล่าวถึงพระร่วงอรุณราชกุมาร ฟังดูแล้ว “ร่วง” จึงไม่ใช่ “ร่วงหล่น” แต่เป็น “รุ่งอรุณ” มากกว่า และกล่าวถึงพระร่วงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยบ้าง พระร่วงเจ้าเมืองสุโขทัยบ้าง พระร่วงนั้นตำนานระบุว่ามีวาจาสิทธิ์ สาปแช่งใครได้ผลทุกราย เวลานี้ยังมีสำนวนเรียกคนอย่างนี้ว่า “ปากพระร่วง”
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าพระร่วงคงมีหลายองค์และไม่ใช่ชื่อเฉพาะเจาะจงของคนใด แต่ใช้เรียกเจ้าเมืองไม่ว่าที่ปกครองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกหรือสุโขทัย คงเป็นเพราะอย่างนี้นักประวัติศาสตร์จึงเรียกเชื้อสายที่สืบมาจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) ว่าราชวงศ์พระร่วง
รัชกาลที่ 6 โปรดเรื่องพระร่วงมาก เมื่อมีการเรี่ยไรซื้อเรือรบลำใหญ่ในสมัยนั้นก็พระราชทานชื่อว่า “พระร่วง” เมื่อพบเศียรพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยชำรุดก็โปรดให้นำมาซ่อมแซมต่อเติมจนกลายเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามพยาธิองค์ใหญ่ประดิษฐานที่ซุ้มหน้าพระปฐมเจดีย์ นครปฐม พระราชทานชื่อว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อสวรรคตและถวายพระเพลิงแล้วก็เชิญพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้าถ่าน) ไปบรรจุไว้ที่นั่น
ยุคของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นช่วงเวลาของการ “สร้างบ้านแปงเมือง” แปลว่าก่อสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นเพื่อจะก้าวข้ามจากการเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไปสู่การเป็นอาณาจักรใหญ่มีกรุงสุโขทัยเป็นเมืองหลวง โดยยังต้องระวังภัยจากอาณาจักรหริภุญไชย อาณาจักรโยนก อาณาจักรสุพรรณภูมิ และอาณาจักรละโว้ และที่สำคัญคือภัยจากอาณาจักรกัมพูชาและจีนพวกมองโกล
จีนนั้นอยู่ไกลจึงไม่เป็นภัยมากนัก ทั้งยังมีนิทานเรื่องพระร่วงองค์ใดองค์หนึ่งไปเจริญไมตรีถึงเมืองจีน จะจริงหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานชัดแต่ที่แน่คือเริ่มมีการค้าขายกันโดยใช้เส้นทางจากยูนนานในจีนผ่านเชียงทั้งหลายและอาณาจักรพุกามลงมาทางตากจนเข้าสู่สุโขทัย อย่าลืมว่าสุโขทัยเป็นชุมทางการค้าที่แวะพักของกองเกวียนมาก่อน
ข้างฝ่ายอาณาจักรโยนกนั้นก็ดูจะผูกมิตรกันดีและมาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในภายหลังจนเจ้าเมืองโยนกและเจ้าเมืองสุโขทัยเป็นมิตรร่วมน้ำสาบานกัน ดังที่พ่อขุนมังรายจากโยนก พ่อขุนรามคำแหงจากสุโขทัย และพ่อขุนงำเมืองจากพะเยาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ (เดิมเรียกนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่) ในขณะที่สุโขทัยก็พยายามผูกมิตรทางแต่งงานกับอาณาจักรสุพรรณภูมิด้วยเพราะมีชายแดนประชิดติดกัน ทุกอาณาจักรมีศัตรูร่วมกันคือละโว้และกัมพูชา แต่สิ่งหนึ่งที่สุโขทัยน่าจะเฝ้ามองอย่างระแวดระวังอยู่ด้วยคือภัยจากศรีสัชนาลัยที่ใกล้ตัวโดยเฉพาะเมื่อสิ้นพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แล้ว ญาติก็ญาติเถอะ ในวงการเมืองแม้แต่ญาติก็ไม่ควรวางใจ
ขณะนั้นพระเจ้าอู่ทองยังไม่เกิด กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่มี!
เรื่องพวกนี้เก่าแก่โบราณเต็มที ถามว่ารู้มาจากไหนได้อย่างไรขอเรียนว่าแหล่งความรู้ใหญ่มาจากศิลาจารึกซึ่งเป็นก้อนหิน แผ่นหิน สลักจารึกเป็นเรื่องราวและพบในเวลาต่อมามากมายหลายหลัก ศิลาจารึกหลักแรกที่พบว่าด้วยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น หลักที่ 2 พบที่วัดศรีชุมซึ่งดูจะเป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนกว่า และยังมีอีกหลายสิบหลัก
นอกจากนั้นก็มีพงศาวดารเมืองเหนือซึ่งว่าด้วยบ้านเมืองสมัยก่อน บางตอนเป็นนิทานเช่นพญานาคออกลูกเป็นคน แต่ถ้าอ่านด้วยวิจารณญาณก็จะได้อะไรไปปะติดปะต่อกับข้อความในศิลาจารึกอยู่มาก พงศาวดารเมืองเหนือเป็นการรวมเรื่องเก่าที่มีมานานแต่ซ้ำซ้อนหรือกะรุ่งกะริ่งมาเขียนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงว่าเราเริ่มสนใจเรื่องเมืองเหนือมากว่า 200 ปีแล้ว
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตาย ลูกชายคนโตและเกิดจากนางเสืองคือพ่อขุนบานเมืองได้เป็นเจ้าเมือง สมัยนั้นเรียกกันง่าย ๆ ตายก็ว่าตายไม่ใช่สวรรคต (ยังไม่รู้จักคำนี้) นางเสืองก็ว่านางเสืองไม่ต้องเรียกสมเด็จพระนางเจ้าเสือง
ครั้นพ่อขุนบานเมืองตาย น้องชายพ่อขุนบานเมืองคือพ่อขุนรามคำแหงก็ได้เป็นเจ้าเมืองคนที่ 3 ของราชวงศ์พระร่วงดังที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวว่า “พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม” พงศาวดารอยุธยาออกพระนามท่านว่าพระรามราชา องค์นี้ (ขอเรียกองค์เถอะนะครับ) ยิ่งใหญ่มากจนแทบจะกล่าวว่าเป็นพระร่วงตัวจริงเสียงจริงเพราะสมัยของท่านมีอะไรให้กล่าวถึงมากและล้วนเป็นความเจริญของบ้านเมือง ซึ่งก้าวขึ้นสู่ความเป็นอาณาจักรอย่างแท้จริง
ในทางการเมืองการปกครองท่านฉลาดที่จะผูกมิตรกับพ่อขุนมังรายแห่งอาณาจักรโยนก (บัดนั้นรวมเอาอาณาจักรหริภุญไชยเข้าไว้แล้วและเรียกว่าอาณาจักรล้านนา) ทั้งแผ่อิทธิพลไปทุกทิศ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่าสุโขทัยเริ่มเป็นเมืองสมบูรณ์แบบอย่างที่เรียกว่านครรัฐคือเป็นรัฐที่โตขึ้นจากนครเดียวและถือเอาประโยชน์สุขของราษฎรเป็นใหญ่ การแผ่อิทธิพลก็เพื่อเพิ่มพูนประโยชน์แก่ชาวเมือง ไม่ใช่เพราะอยากครอบครองเมืองขึ้นมาก ๆ ทั้งยังปกครองกันง่าย ๆ แบบพ่อกับลูก
การกำหนดยุทธศาสตร์ของอาณาจักรก็ทำแบบตำราพราหมณ์คือมีสุโขทัยอยู่กลางเหมือนเมืองพระนครในเขมร ล้อมรอบด้วยศรีสัชนาลัยเป็นเมืองใหญ่ฝ่ายเหนือ เมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองใหญ่ฝ่ายตะวันออก เมืองนครชุม (กำแพงเพชร) เป็นเมืองฝ่ายใหญ่ตะวันตก เมืองสระหลวง (พิจิตร) เป็นเมืองใหญ่ฝ่ายใต้ นอกจากนั้นยังมีเมืองประเทศราชคือขึ้นต่อสุโขทัยแต่จัดการปกครองกันเองอีกหลายสิบเมือง
พงศาวดารและศิลาจารึกสะกด “ศุโข ทัย” เป็นการสนธิคำว่าศุขกับอุทัยเข้าด้วยกัน แปลว่าการขึ้นของพระอาทิตย์อันนำสุขมาให้คล้าย ๆ บทสวดรับอรุณในโมระปริตรและสอดคล้องกับชื่อพระร่วงหรือรุ่งอรุณ การสะกดอย่างนี้อาจเป็นแบบโบราณ แต่ต่อมาก็เขียนเป็นสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงทรงสร้างเรือนหอพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ (รัชกาลที่ 7) ก็ทรงใช้คำว่า “วังศุโขทัย”
ในทางศาสนา พ่อขุนรามคำแหงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดี สร้างวัด หล่อพระ ชวนราษฎรถือศีล ฟังธรรม ทอดกฐิน นิมนต์พระเถระจากอาณาจักรนครศรีธรรมราชขึ้นไปบวชให้ราษฎรและสอนชาวเมือง เรียกว่ารับเอาพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทอย่างลังกาเข้ามาเต็มที่ ผิดจากเดิมที่เป็นลัทธิมหายานแบบเขมร (มหายานมีหลายแบบเช่นแบบจีน แบบทิเบต ดูได้จากลามะ พระจีน พระญวน และแบบผสมฮินดูซึ่งนับถือพระเป็นเจ้าของแขกด้วยดังที่ปรากฏอยู่ในเขมร ชวา)
เรารู้เรื่องสุโขทัยมากจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งรัชกาลที่ 4 ครั้งเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่เสด็จหัวเมืองเหนือไปทรงพบเข้า จึงนำกลับมาไว้ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) และพยายามอ่านจนได้ความทำให้เรารู้ว่าพ่อขุนท่านคิดตั้งอักษรไทยขึ้นซึ่งคงดัดแปลงมาจากตัวอักษรในภาษาอื่น สมัยนั้นสุโขทัยอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีการแขวนกระดิ่งให้คนมาสั่นแล้วร้องทุกข์ ไม่มีการเก็บภาษีสินค้าผ่านแดนที่เรียกว่าจังกอบหรือจกอบ ไม่ใช่เพราะเราไปทำ เอฟทีเอกับใคร แต่เจ้าเมืองท่านไม่เก็บเอง ส่วนภาษีอื่น ๆ น่าจะยังเก็บอยู่ ใครทำมาหาอะไรได้ก็ตกได้แก่ลูกหลาน เพราะทรงสร้างความเจริญเหล่านี้เราจึงยกย่องพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นมหาราช
พวกที่อ่านศิลาจารึกออกเข้าใจว่าข้อความแรก ๆ พ่อขุนท่านคงจารึกเองหรือสั่งให้จารึกโดยท่านนั่งคุมอยู่ จึงใช้คำว่าพ่อกู แม่กู พี่กู กู แต่อยู่ ๆ ไปพ่อขุนคงไม่ว่าง ต้องลุกไปทำโน่นทำนี่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่สลักกันเองซึ่งอาจทำภายหลังหลายสิบปีต่อมา คำว่ากูจึงหายไป บางคนเชื่อว่าศิลาจารึกนี้เป็นของสมัยพ่อขุนรามคำแหงจริง แต่ข้อความ
หลัง ๆ น่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพราะยกยอว่าสุโขทัยดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ จริงไม่จริงไม่รู้
ที่ร้ายกว่านั้นคือบางคนเข้าใจว่าดูจากตัวอักษรและสำนวนภาษาแล้ว ศิลาจารึกหลักนี้น่าจะมาทำขึ้นในตอนต้นยุคกรุงเทพฯ นี่เองเพื่อให้ฝรั่งรู้ว่าเรามีประวัติศาสตร์เจริญย้อนหลังไปหลายร้อยปี แต่หลายคนคัดค้านว่าไม่มีอะไรพิรุธที่แสดงว่าเป็นของทำใหม่ และสามารถอธิบายให้สอดคล้องกับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ได้ เรื่องนี้กลายเป็นวิวาทะสำคัญ ปล่อยให้ผู้รู้เถียงกันให้เข็ดเถอะครับ แต่ข้อที่ว่าสุโขทัยมีจริง เก่าจริง เจริญจริง พ่อขุนรามก็มีตัวตนจริงและเก่งจริงนั้นไม่มีใครเถียง
สุโขทัยสมัยแรก ๆ ไม่ได้อยู่ตรงที่ตั้งทุกวันนี้แต่อยู่ห่างออกไป ยังมีวัดพระพายหลวงเป็นวัดเก่าในเมืองเดิมให้เห็น ภายหลังจึงขยับเข้ามาอยู่ตรงที่ทุกวันนี้ สถาปัตยกรรมศิลปกรรมสุโขทัยยุคเมืองเก่าจะคล้ายขอมคล้ายเขมรมากคือใช้ศิลาแลงและเทอะทะ แต่พอตั้งเป็นอาณาจักรแล้วความเป็นขอมเป็นเขมรจะลดลง พระพุทธรูปจะอ่อนช้อยเอวบางร่างน้อย พระพักตร์ยาวรี อาจารย์สันติ เล็กสุขุมนักประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบายว่ายังมีการใช้ศิลาแลงก่อสร้างเหมือนที่วัดพระพายหลวง ศาลาตาผาแดงบ้าง แต่ไม่เทอะทะอย่างขอม ยอดเจดีย์เริ่มมีปล้องไฉนซ้อนเป็นชั้น ๆ จนปลายแหลมเสียดฟ้าเช่นที่วัดศรีสวาย ภายหลังเมื่อพัฒนาเป็นอาณาจักรเต็มที่จึงใช้แบบเฉพาะของตัวเองเรียกว่าศิลปะสุโขทัย เช่น ยอดเจดีย์จะเป็นทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์
ว่าแต่ว่าขอมกับเขมรนี่เป็นใคร เป็นพวกเดียวกันไหม.
พงศาวดารและศิลาจารึกสะกด “ศุโขทัย” เป็นการสนธิคำว่าศุขกับอุทัยเข้าด้วยกัน แปลว่าการขึ้นของพระอาทิตย์อันนำสุขมาให้คล้าย ๆ บทสวดรับอรุณในโมระปริตรและสอดคล้องกับชื่อพระร่วงหรือรุ่งอรุณ การสะกดอย่างนี้อาจเป็นแบบโบราณ แต่ต่อมาก็เขียนเป็นสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงทรงสร้างเรือนหอพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ (รัชกาลที่ 7) ก็ทรงใช้คำว่า “วังศุโขทัย”
วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น