วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มศว เจาะลึก...อุทกภัยใหญ่ แบ่งคนได้ 7 ประเภท



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม

          หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยผ่านไปได้ไม่กี่เดือน เราได้เห็นการภาพคนของในสังคมถูกเผยแพร่ในมุมมองต่าง ๆ มากมาย...บางคนเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมมือร่วมใจกรอกกระสอบทราย เดินทางไปช่วยแพคถุงยังชีพ บริจาคเงินกันอย่างล้นหลาม แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังได้เห็นการนำเสนอข่าวแก๊งแมวน้ำบุกยกเค้าบ้านที่เจ้าของอพยพหนีน้ำ ภาพของชาวบ้านที่รุมทำลายคันกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในบ้าน ภาพการทะเลาะเบาะแว้ง แผดเสียงต่อว่าเข้าใส่กัน ทำนองว่า "บ้านฉันท่วม บ้านเธอก็ต้องท่วมด้วย"

          ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สังคมที่เกิดขึ้น ซึ่ง ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) บอกว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้สามารถแบ่งคนในสังคมที่มีอยู่หลากหลายออกได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้

1. กลุ่มคนที่เข้าช่วยเหลือ เผื่อแผ่ แบ่งปันแก่ผู้อื่น

          คนกลุ่มนี้มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าคนนั้นจะไม่ใช่ญาติพี่น้อง ไม่ใช่คนรู้จัก หรือแม้แต่เป็นคนที่ตัวเองไม่ชอบหน้า แต่เมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็จะสละแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์เข้าไปช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ทันที เพราะมีจิตสำนึกและมนุษยธรรม

          อย่างไรก็ตาม คนประเภทนี้อาจทุ่มเทกับสิ่งที่ตัวเองทำมากเกินไป ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ ทำให้เกิดความเครียดขึ้น และสุดท้ายกลายมาเป็นกลุ่มเหยื่อ ซึ่งต้องหาคนมาช่วยดูแลตัวเองแทน วิธีแก้ไขคือ ต้องพักผ่อนบ้าง ผลัดเวรกับผู้อื่น เปลี่ยนบทบาทการทำงานลงบ้าง

2. กลุ่มคนที่ต้องทำตามหน้าที่ หรือภาระความรับผิดชอบ

          บางคนมีบทบาทที่ต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และมีจิตอาสาที่จะทำอยู่แล้วจึงยินดีที่จะเข้าไปช่วย โดยเก็บความทุกข์ของตัวเองไว้ก่อน แต่หากทำงานนาน ๆ หรือเห็นเหตุการณ์ใด ๆ ซ้ำ ๆ นาน ๆ จะทำให้ร่างกายล้า เหนื่อย อีกทั้งบางคนจะเกิดความเครียด เพราะคิดว่าครอบครัวตัวเองก็ยังเอาไม่รอด แต่ต้องมาทำงานอีก

          วิธีแก้ไขก็คือ ต้องปรับตัวหาเวลาพัก และหาสิ่งเติมเต็มให้ชีวิตตัวเอง เพื่อจะได้มีแรงเติมเต็มในการทำงานต่อไป

3. กลุ่มคนที่ร่วมด้วยช่วยกัน แม้ตัวเองจะประสบภัยเช่นกัน

          เป็นคนกลุ่มคนที่ประสบกับความทุกข์เช่นเดียวกับผู้อื่น จึงเข้าใจชะตากรรมของผู้อื่นดี และพร้อมที่จะช่วยหากช่วยเหลืออะไรได้ก็จะช่วย โดยคนกลุ่มนี้จะมีกำลังใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น แต่ต้องปรับตัวเองให้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือ ต้องเติมใจตัวเองให้เข้มแข็ง ดูแลตัวเองให้รอด และร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้อื่นด้วย แต่หากวันใดรู้สึกแย่ก็พร้อมที่จะรับกำลังใจจากคนอื่นด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นแรงใจในวันข้างหน้า

4. กลุ่มคนที่เอาตัวเองให้รอด คนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่สน


          คนอื่นเป็นอย่างไรไม่สนใจ แต่ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ค่อยคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อ คนกลุ่มนี้จะขอบคุณคนที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ถ้าใครมารุกล้ำก็จะโมโหขึ้นมาทันที เพราะจะไม่ยอมให้ตัวเองประสบชะตากรรมคนเดียว ต้องให้ผู้อื่นเป็นอย่างเขาด้วย อย่างเช่นคำพูดที่ว่า "ทำไมฉันต้องโดนทำไมบ้านฉันต้องโดนน้ำท่วม ทำไมคนอื่นไม่โดนอย่างฉัน"

          ทั้งนี้ คนกลุ่มนี้ต้องรู้จักปรับตัวให้มาก โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ ต้องตั้งสติให้มากขึ้น รู้จักคำว่า "เรา" มากกว่า "ฉัน" ดังนั้นต้องหัดดับอารมณ์การสูญเสียลงบ้าง และต้องฝึกความเสียสละ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น เพื่อจะสร้างความสุขให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

5. กลุ่มคนที่จิตตกไปแล้ว ทั้งที่น้ำยังไม่ท่วมบ้าน

          มีมากทีเดียวสำหรับคนกลุ่มนี้ถึงได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว และรับฟังข่าวสารอยู่เสมอ ทำให้เกิดอาการผวา วิตกจริต คิดแต่ด้านลบไปต่าง ๆ นานา พร้อมกับตื่นตูมกับเรื่องร้าย ๆ ที่ได้ยินมา ใครที่มีอาการเช่นนี้ ต้องเลิกรับรู้ข่าวสารร้าย ๆ หันมามองเรื่องดี ๆ ฟังเรื่องบวก ๆ บ้าง เพื่อปลดอาการเครียด อาการรนให้ออกไป และทำอะไรก็ได้ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

6. กลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีสติ

          คนกลุ่มนี้ต่างจากกลุ่มคนประเภทที่ 5 คือ แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ตื่นตระหนก ตั้งสติ เตรียมพร้อมป้องกันคิดหาทางออก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไว้อย่างดี ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องเก็บใจ เก็บแรง เก็บกาย ไว้เป็นหลักให้กับคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วยก็จะดีไม่น้อย

7. กลุ่มคนที่ไม่พายแต่เอาน้ำราน้ำตลอดเวลา

          คนกลุ่มนี้เอาแต่พูด วิจารณ์คนอื่น หาเรื่องตำหนิได้เสมอ แต่ไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเลย มักจะสนุกกับการทำให้ผู้อื่นตื่นตระหนก สร้างความแตกแยกในสังคม มักจะพูดแต่ด้านลบด้านเดียว ซึ่งหากใครเป็นเช่นนี้ ต้องคิดใหม่ พูดให้น้อยลง ทำให้มากขึ้น เปลี่ยนการเสียดสีมาเป็นการอาสา และลงมือทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น เช่น ปลอบใจ ให้กำลังใจกับคนในประเทศดีกว่ามากล่าวโทษกัน

          จะเห็นได้คนทั้ง 7 ประเภท ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน และทุกกลุ่มก็ต้องรู้จักปรับตัวเองให้ได้ ที่สำคัญก็คือต้องยึดหลัก กายต้องรอด ต้องไม่เจ็บป่วย ใจต้องแกร่ง คือ จิตไม่ตก เพราะหากไม่มีแรง กาย แรงใจ เราจะไม่สามารถมองไกลไปถึงวันหน้าได้ นอกจากนี้ยังต้องตั้งสติ เพราะสติจะช่วยคลายปัญหาทุกอย่างได้อย่างราบรื่น

          อ่านจบทั้ง 7 ประเภทนี้แล้ว บอกได้ไหมว่า สังคมไทยในวันนี้มีคนแบบไหนมากกว่ากัน แล้วตัวคุณเองล่ะ...เป็นคนประเภทไหน?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น