วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนวคิด 'ป้องกันน้ำท่วม' ไม่ใช้ฝัน...แต่ทำได้ในอนาคต!?

วันพุธ ที่ 16 พฤศจิกายน 2554 เวลา 0:00 น

ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายหลังจากเกิดอภิมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ถาโถมเข้าใส่ ประเทศไทยไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครให้จมน้ำไปครึ่งค่อน พื้นที่ ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งหาตัวคนผิดกันจ้าละหวั่น แต่ ณ เวลานี้สิ่งที่เราคนไทยทุกคนต้องการ คือ แนวทางการป้องกันอุทกภัยของประเทศในอนาคตแบบถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ซ้ำอีกมากกว่า...!!
   
รองศาสตราจารย์กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการประเมินปริมาตรน้ำที่ท่วมขังรอระบายอยู่ ณ วันที่มากที่สุดเป็นจำนวน 10,000 – 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือมากกว่าฝนเฉลี่ยปกติปีที่ผ่าน ๆ มาถึง 42% จึงขอนำเสนอแนวทางต่าง ๆ ที่เราน่าจะได้ลงมือทำ เพื่อสู้กับสถานการณ์ที่สมมุติว่าเป็นกรณีรุนแรงที่สุด (worse case) เพื่อที่เราจะได้ทำไปพร้อม ๆ กันในทุกข้อ
   
เริ่มจากข้อแรก “สหกรณ์ทุ่งน้ำ” พื้นที่ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง มีประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งกันทุกปี  (หลังจากน้ำท่วมให้คอยดูประกาศ) รัฐสามารถขอลงทุนเช่าทำพื้นที่ทุ่งเรือกสวนไร่นาที่แห้งแล้งนั้นมาเป็น “ทุ่งน้ำ” ให้รัฐบาลเช่าเก็บน้ำเฉพาะหน้าน้ำ 3 เดือนตามที่น้ำจะมา (หรือจะเก็บทั้งปีก็ได้) รัฐบาลจ่ายค่าเช่าให้ 2 เท่าของค่าที่เกษตรกรจะได้จากการที่เค้าทำกิน เดือนอื่น ๆ ให้เกษตรกรทำมาหากินอะไรก็ตามสะดวก (หรือจะเวนคืนด้วยการลงทุนซื้อก็ได้) เกษตรกรต้องรวมตัวกันให้เป็นกลุ่ม “สหกรณ์ทุ่งน้ำ” สถานที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงจะเหมาะสมที่สุด หรือประเภทหน้าน้ำก็ท่วมอ่วมบ่อย ๆ หน้าแล้งก็แล้งจนไม่มีน้ำจะกินจะใช้
   
เมื่อเกษตรกรรวมตัวกันได้ก็ให้ขึ้นทะเบียนเป็นสหกรณ์ รัฐบาลออกประกาศขายน้ำในราคาที่เหมาะสม ราษฎรจะได้นำน้ำไปผลิตขายแบ่งปันกำไรเข้าสหกรณ์ พื้นที่อื่น ๆ ที่ขาดแคลนจริง ๆ รัฐต้องช่วยไม่ใช่ขาย ในส่วนนี้คือกำไรเพราะที่อยากป้องกันและแก้ไขจริง ๆ คือตัดยอดน้ำที่จะไหลอย่างมหาศาลลงไปตอนล่างซึ่งระบายไม่ทันตามแม่น้ำลำธาร มาตรการนี้เพียงช่วยตัดยอดน้ำ พื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ถ้าลึกเฉลี่ย 1 เมตร คงกักได้เพียง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้ารวมกันได้หลาย ๆ สหกรณ์ หลายพื้นที่ก็สามารถช่วยได้บ้าง
   
ข้อที่สอง “ทางด่วนน้ำ” เราสามารถเห็นได้ชัดว่าการระบายน้ำผ่านคันดินได้ แต่ผ่านด่านปราการคนไม่ได้ คนจะช่วยกันมีส่วนร่วมแบบมองไม่ครบระบบ คือมองแต่จุดของตน อีกอย่างคนทนไม่ไหวเพราะน้ำขังมานานแล้ว ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น ใครไม่เคยเหม็นไม่รู้ ซึ่งรัฐเอาเงินที่ต้องกู้ต้องแจก ต้องเสียหายเพราะเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เสียโอกาสจากการย้ายฐานการผลิต ฐานการลงทุนไปประเทศอื่น เสียโอกาสจากการยกเลิกที่พักโรงแรมการท่องเที่ยว เสียเงินไปฟื้นฟู กู้เงินมารักษาสภาพจิตใจ ลงทุนสร้างบิ๊กแบ็ก สมอลแพ็ก แต่ถ้าเอาจำนวนเงินนี้ไปลงทุนยกแนวคันกั้นน้ำถาวรตามคันแม่น้ำ คันคลอง คันคลองประปา รวมทั้งค่าขุดลอก กำจัดผักตบชวาแบบประชาอาสารัฐส่งเสริมสนับสนุนค่าดำเนินการ
   
ที่สำคัญอย่าขุดลอกหน้าน้ำ ต้องขุดหน้าแล้งที่ต้องรีบขุดลอก แต่สำหรับปีนี้คงต้องทำไปก่อน ถ้ากรณีนี้ทำไม่ได้เพราะติดขัดด้วยประการต่าง ๆ ก็ลองคิดสร้างทางด่วนน้ำ ไม่ต้องทำเส้นเดียวใหญ่ ๆ ไม่ต้องทำปีเดียวเสร็จ เพราะเราคงไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น กำแพงเมืองจีน กำแพงเบอร์ลิน ออกแบบจรวดไปต่างโลกได้แล้ว ถ้าเราจะลองทำอะไรแบบนี้ดูบ้าง เชื่อว่าวิศวกรโยธาที่เก่ง ๆ ในประเทศไทยน่าจะออกแบบได้ เพราะว่ามันเกี่ยวกับ head หรือระดับความสูง ความลาดเท อย่าลืมว่าต้องเวนคืน ประชาชนที่เค้าให้เวนคืนให้ประโยชน์อะไรเค้าได้บ้างในเมื่อทางด่วนน้ำผ่านหัวเค้า ทางด่วนน้ำลอยฟ้า ถ้าให้รถวิ่งได้ก็เก็บค่าทางด่วน ถ้าวิ่งไม่ได้คงต้องออกแบบเป็นท่อขนาดใหญ่หลาย ๆ ท่อ บางคนบอกเอาน้ำไปแวะเติมลงพื้นที่ต้องการน้ำหรือที่ขาดน้ำได้ไหม ถ้าเป็นท่อต้องมีสถานีสูบ บางคนแย้งว่าแพงค่าไฟฟ้าสูบ ให้กลับไปดูที่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในปีนี้รวมย้อนหลัง 10 ปีที่แล้วรวมกันว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่หรือย้ายเมืองหลวงจะถูกกว่า อีกอย่างถ้าเวนคืนทางระบายน้ำเดิม (flood way) ตามธรรมชาติได้ โครงการทางด่วนน้ำนี้ก็ไม่ต้องทำ แต่คงเป็นเรื่องที่ยาก
   
มาถึงข้อที่สาม “เตรียมสถานการณ์จัดการน้ำในภาวะวิกฤติ” ต้องเปลี่ยนแนวคิดการจัดการน้ำแบบ “น้ำมาแล้วปล่อยไป” ตามที่คุ้นเคยกันมาเป็นการเตรียมสถานการณ์สมมุติ ที่เรียกว่าภายใต้ภาวะวิกฤติไว้ทุก ๆ สถานการณ์ โครงการบริหารจัดการน้ำจะทำอย่างไรถ้าน้ำมาถึงโครงการท่านเพียง 60-70% และ 70-80% ทำนองเดียวกัน ถ้าน้ำมา 120-130% หรือ 140-150% แบบปีนี้ ผู้รับผิดชอบกับโครงการบริหารจัดการน้ำทุกองค์กรที่ควบคุมประตูระบายน้ำอยู่ทั่วประเทศจะทำอะไรอย่างไร รัฐต้องเตรียมองค์กรรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกว่านี้ ในสถานการณ์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันว่า โกลาหลและอย่าให้นักการเมืองและนักธุรกิจน้ำมายุ่งกับการจัดการน้ำ เพราะน้ำไม่มีการเมือง มันไปของมันไม่พูดไม่จา ถ้าระดับเท่ากันมันจึงจะหยุดไหล แต่อย่างไรก็ตามเมื่อระดับน้ำนิ่งอย่างในทะเลสาบแล้วมันก็ยังระเหยไหลลงเป็นทะเล และมีคลื่น สรุปคือน้องน้ำก็ไม่หยุดอยู่ดี
   
และข้อสุดท้าย “ออกแบบการดำเนินชีวิตใหม่” เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตก็น่าที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้ เช่น ภาคเกษตรกรรมปรับเปลี่ยนฤดูกาลเพาะปลูกตามสภาพการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล นักเรียนนักศึกษาขยับปรับเปลี่ยนช่วงปิดเทอมและเปิดเทอม ภาคเอกชนลงทุนสร้างที่จอดรถหลาย ๆ ชั้นแบบสุวรรณภูมิกระจายไว้หลาย ๆ พื้นที่ให้ใช้ได้ทั้งในยามปกติและยามคับขัน เพราะโจรขโมยชุกชุมต้องมีคนเฝ้า ต้องมีรถบริการรับส่งจากที่จอดรถไปอาคารจุดหมาย หรือรถบ้านต้องออกแบบที่จอดรถใหม่ยกเป็นลิฟต์ขึ้นไว้ชั้นสูงได้ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ตามตรอกซอกซอย
   
นอกจากนี้กางเกงลุยน้ำท่วมเป็นพลาสติกต้องออกแบบอย่างดี บางคนขอให้ออกแบบใหม่เพิ่มให้ถึงแขนและคอ บางคนบอกว่าออกแบบให้แข็งแรงที่แขนเพื่อการต่อสู้กับจระเข้ บางคนบอกออกแบบให้มีกลิ่นที่จระเข้ไม่ชอบด้วย ที่สำคัญนักวิจัยควรช่วยกันคิดว่าจะบอกพวกทำลายป่าต้นน้ำอย่างไรไม่ให้เกินสมดุลธรรมชาติ ออกแบบหน่วยงานเรือยามฝั่ง เรือสุขาภิบาล ที่สามารถเข้าออกตรวจตราไปในยามค่ำคืนตามหมู่บ้านที่ปิดไฟมืด ออกแบบรถที่สามารถปรับเป็นเรือได้ ออกแบบถนนที่สามารถปรับเป็นทางระบายน้ำได้ ยางพาราที่เรามีเยอะน่าจะได้มาประยุกต์อะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่าต่างคนต่างทำต้องเตรียมแผนรับมือแล้วนำเอาแผนมาใช้ด้วย ในภาวะฉุกเฉินอย่างนี้ทุกกระทรวงที่เริ่มทำงานไปแล้วให้บอกกล่าวประชาสัมพันธ์ด้วยว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว เพื่อเราจะได้ทราบว่าอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ที่ไหนที่ยังไปไม่ถึง เข้าไม่ได้ ตอนนี้คำตอบจึงอยู่ที่การกระจายความช่วยเหลือ การฟื้นฟูให้ทั่วถึงและเป็นธรรม
   
แนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถทำได้จริงและคงไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป ถ้ามีใครมาช่วยกันสานต่อให้บ้านเมืองเรานั้น “สงบและร่มเย็น” รอดพ้นจากมหันตภัยธรรมชาติเฉกเช่นเวลานี้.

............................

แหล่งค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม


หากใครสนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความข้างต้นสามารถหาได้ที่เอกสารอ้างอิงต่อไปนี้ : ธวัชชัย ติงสัญชลี เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เสรี ศุภราทิตย์ และกัมปนาท ภักดีกุล 2546. “รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการพัฒนาแผนหลัก การจัดการภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ : น้ำท่วม น้ำแล้ง และแผ่นดินถล่ม” สกว.กัมปนาท ภักดีกุล 2554. จุดอ่อนการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย สภาวิจัยแห่งชาติ 4 มี.ค.2554 รร.รามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ Bhaktikul,K. (National Expert Team Leader), To-Im, J., Induwongs, N., Gajaseni, J. and Pumijamnong, N., 2009 The Final Country Review Report: Activities of Thailand with Respect to Climate Change and Adaptation in The Lower Mekong Basin, March 2009, MRC. [4] Bhaktikul, K. and Munchaona, N. 2011.Watershed Ecological Carrying Capacity Analysis: A Case Study of Lam Phra Phloeng Sub-basin of Mekong, International Conference on Ecological Security: Climate Change and Socio-economic Policy Development Implications in The GMS, MFU, Chieng Rai, Thailand.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น