วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้พระปิดตาเมืองกาญจน์ (หลวงปู่ยิ้ม)

พระผงปิดตา หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ท่านเป็นพระที่ชาวเมืองกาญจน์เคารพนับถือมากที่สุด และท่านก็ได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างและทุกอย่างเป็นที่นิยมและหวงแหนทั้งสิ้น  หลวงปู่ยิ้มท่านเป็นชาว จ.กาญจนบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2389 ในสมัยรัชกาลที่สี่เมื่ออายุครบบวชท่านก็อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน ได้รับฉายาว่า "จันทโชติ" ท่านได้ศึกษาบาลีมงคลทีปนีมูลกัจจายน์ พระเจ้า 10 ชาติ และสูตรสนธิจนมีความชำนาญ ทั้งยังสามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาที่ 2 ท่านแสวงหาความรู้และวิทยาคมต่างๆ ได้ศึกษากับพระอาจารย์เก่งๆ หลายท่าน เช่น เรียนด้านทำน้ำมนต์โภคทรัพย์ วิชาทำธงกันอสุนีบาตและพายุคลื่นลม วิชาหวายลงอักขระและลูกอม เป็นต้น  ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์กลิ่น เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ศึกษา วิทยาคมกับพระอาจารย์กลิ่น พอหลวงพ่อกลิ่นท่านถึงแก่มรณภาพ ท่านจึงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน หลวงปู่ยิ้มท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  ใครเดินทางมาที่กาญจนบุรีต่างก็มาหาหลวงปู่ยิ้มกันมิขาดสาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ครั้งหนึ่งยังเคยธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัวและท่านก็ได้แลกเปลี่ยนวิชาความรู้กัน แม้แต่เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ท่านก็ยังมาหาหลวงปู่ยิ้ม 2 ครั้งด้วยกัน และได้รับมีดหมอจากหลวงปู่ยิ้มไปด้วย  หลวงปู่ยิ้มท่านเป็นพระสมถะ ปฏิบัติเคร่ง ครัด ปัจจัยที่มีผู้นำมาถวายท่านไม่เคยเก็บไว้เลย หลวงปู่ยิ้มท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดลูกอม ทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง กระดาษ เชือกคาดเอว มีทั้งทำด้วยหวาย และทำด้วยผ้า ตะกรุดก็มีอยู่หลายชนิด ผ้าประเจียด ผ้าเช็ดหน้า หมวก เสื้อยันต์ ธง ขันน้ำมนต์และพระผงปิดตาพระผงปิดตาของท่านนั้นโด่งดังมากและสนนราคาสูงมากเช่นกัน เฉพาะพระผงปิดตานั้นทำด้วยผงอิทธิเจ ปถมัง พุทธคุณ ว่าน 108 เกสรดอกไม้บูชาพระ ไคลโบสถ์ ไคลเจดีย์ ไคลเสมา ใบโพธิ์ ข้าวสุกบาตรพระพุทธ ขี้เหล็กจาร หนังสือใหญ่ ผสมคลุกเคล้า แล้วนำมากดพิมพ์พระ  การพิมพ์พระนั้นท่านจะให้พระภิกษุสามเณร เและถ้าเป็นฆราวาสต้องนุ่งขาวห่มขาวและถือศีลอุโบสถแล้วทำในพระอุโบสถ เมื่อเสร็จแล้วท่านจึงปลุกเสกอีกทีในพระอุโบสถ พระปิดตาของท่านนั้นมีอยู่หลายพิมพ์เนื้อพระละเอียดบวกเนื้อหยาบส่องกล้องมองเห็นมวลสารชัดเจนมาก มีหลายพิมพ์เช่น พิมพ์ใหญ่(ชะลูด) พิมพ์สังกัจจายน์ (พิมพ์อุ้มท้อง) พิมพ์เล็ก และพิมพ์แข้งซ้อน ปัจจุบันหาทุกพิมพ์ได้ยากยิ่ง ถ้านับเวลามาถึงปัจจุบันพระของท่านมีอายุเกินร้อยปีแล้วเนื้อพระปิดตานั้นจะแห้งมองเห็นธรรมชาติของกาลผ่านเวลามายาวนาน เนื้อพระต้องไม่สดหรือดูเปียกๆ หลวงปู่ยิ้มท่านมรณภาพ ในปี พ.ศ. 2455 สิริอายุได้ 66 ปี พรรษาที่ 46  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น