วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กษัตริย์สีหนุ


มติชนสุดสัปดาห์

ข่าวงานพระเมรุ "พระกรุณาพระบรมรัตนโกศ" (เทียบภาษาไทยคือพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ) ในกัมพูชา ทำให้นึกได้ว่าเจ้าสีหนุเป็นคนสุดท้ายของ "คนรุ่นนั้น"

รุ่นไหนหรือครับ ก็รุ่นเดียวกับประธานาธิบดีโฮจิมินห์, ประธานาธิบดีซูการ์โน, นายกรัฐมนตรีอองซาน, เจ้าเพชรราชและเจ้าสุภานุวงศ์, และนายกรัฐมนตรีตุนกูอับดุล เราะห์มัน
นั่นคือนักชาตินิยมที่ได้ต่อสู้กับมหาอำนาจจักรวรรดินิยม จนสามารถนำเอกราชมาสู่ประเทศของตนในภูมิภาคนี้ได้ และในที่สุดก็ได้เป็นผู้นำทางการเมืองให้แก่ประเทศเอกราชใหม่ของตนสืบต่อมา สั้นบ้างยาวบ้าง แน่นอนยังไม่ได้พูดถึงพรรคพวกของคนเหล่านั้นอีกมาก ที่ส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว

ดูเหมือนยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอุษาคเนย์ได้ปิดฉากลงสนิท ด้วยการสวรรคตของ "พระกรุณาบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระมหาวีรกษัตริย์"



"คนรุ่นนั้น" ผ่านประสบการณ์ชีวิตภายใต้ระบอบอาณานิคมที่คล้ายกันบางอย่าง มีโลกทรรศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ตรงกันหลายเรื่อง ต่างเป็นคนที่มีอาณาบารมี (charisma) ที่ดึงดูดความภักดีจากประชาชนได้กว้างขวาง สยบอำนาจที่หลากหลายให้ต้องพึ่งพิงตน ทำให้พวกเขาสามารถรักษารัฐเอกราชใหม่เหล่านี้ให้ดูเหมือนมีความสงบได้... อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง

แต่ในท้ายที่สุด บารมีของพวกเขาก็เริ่มลดลง เมื่อคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์เดียวกัน เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในอำนาจมากขึ้น ทั้งหมดเสียชีวิตหรือหมดอำนาจลง เหลือก็แต่เจ้านโรดมสีหนุพระองค์เดียว แม้ไม่ได้มีพระราชอำนาจดังเคย แต่ก็เป็นกุญแจไปสู่ความสงบที่ขาดไม่ได้ในกัมพูชา จนเสด็จสวรรคตลง

ปูมหลังของคนเหล่านี้มีอะไรที่คล้ายๆ กัน หากไม่นับลุงโฮแล้ว ทั้งหมดเกิดในตระกูลของ "ชนชั้นสูง" แต่ก็ "สูง" ในแต่ละสังคมซึ่งไม่เหมือนกัน

เจ้าสีหนุ, เจ้าเพชรราชและเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นเจ้านายในราชวงศ์ ได้รับการศึกษาดีที่สุดเท่าที่ฝรั่งเศสจะจัดให้แก่ชนชั้นนำตามจารีตในอาณานิคมของตนเอง คือได้ไปเล่าเรียนในวิทยาลัยฝรั่งเศสในเวียดนาม ในส่วนเจ้าชายสีหนุยังได้เสด็จไปศึกษาในโรงเรียนทหารม้าในฝรั่งเศสอีกด้วย

อองซานเป็นเชื้อสายขุนนางเก่า ปู่ของเขาเคยรบกับอังกฤษในตอนที่อังกฤษจะผนวกพม่าครั้งสุดท้าย ได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งจนจบปริญญาตรี (ด้านวรรณคดี, ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์-ปริญญาตรีสมัยนั้นมีหลายวิชาเอก) ส่วนซูการ์โนก็เป็นเชื้อสายข้าราชการของอาณานิคมอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ได้เข้าเรียนและจบวิทยาลัยเทคโนโลยีที่บันดุงอันมีชื่อเสียง ผู้ร่วมงานของเขาอีกมากเคยไปศึกษาต่อที่ฮอลันดา แม้ตุนกูอับดุลเราะห์มันเป็นโอรสของสุลต่านไทรบุรี แต่ก็จบเคมบริดจ์ด้วยการชิงทุนจากรัฐบาลอาณานิคมด้วยตนเอง

กล่าวโดยสรุปก็คือคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ในประเทศตนเอง หรือเมืองแม่ในยุโรปทั้งสิ้น รู้จักสิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชของชาติตามมาตรฐานตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1



ประสบการณ์ที่ได้ก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่งซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากบ้านเกิดของตน มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อเด็กหนุ่มๆ เหล่านี้ นักชาตินิยมอินโดนีเซียคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อเขาลงรถไฟที่อัมสเตอร์ดัมเป็นครั้งแรก เขาตกใจมากที่พบว่าคนผิวขาวซึ่งเป็นกุลียกของตามสถานีรถไฟ เข้ามาให้บริการหิ้วกระเป๋าของเขาไปส่ง สังคมที่ไม่มีใครเป็นนายประทับใจเขาสืบมาตลอดชีวิต

นี่คือที่มาของคำ "ธะขิ่น" ที่อองซานและพรรคพวกใช้เรียกตนเอง ธะขิ่นในภาษาพม่าแปลว่า "นาย" ซึ่งอังกฤษหวงไว้ใช้กับตนเองเท่านั้น ธะขิ่นอองซานบอกว่า ในพม่าคนที่เป็นนายที่แท้จริงก็คือชาวพม่าเอง ฉะนั้นคนพม่าต่างหากที่เป็นธะขิ่นที่แท้จริง

นอกจากประชาธิปไตยมวลชนที่คนเหล่านี้ได้รับจากการศึกษาแบบตะวันตกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ติดมาด้วยคือความคิดสังคมนิยม อันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในยุโรปสมัยนั้น ทุกคนที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว ล้วนได้รับอิทธิพลสังคมนิยมทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้าง เจ้าสีหนุเองเคยตั้งพรรคการเมืองชื่อสังคมราษฎร์นิยม

ทั้งนี้ อาจยกเว้นตุนกูอับดุลเราะห์มัน เพราะมีนโยบายที่จะสร้างพันธมิตรกับเชื้อสายจีนและอินเดีย เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับอังกฤษ อย่างไรเสียก็ไม่สามารถเอนเอียงไปทางสังคมนิยมได้ในขณะที่พันธมิตรอยู่ฝ่ายทุนนิยมเต็มตัวเช่นนั้น



แม้ว่าสังคมนิยมมีอิทธิพล แต่หากจะนับความเคลื่อนไหวชาตินิยมของ "คนรุ่นนั้น" ว่าเป็นการ "ปฏิวัติ" ส่วนใหญ่ของการปฏิวัติชาตินิยมก็เป็นการปฏิวัติจากเบื้องบน กล่าวคือไม่ผนวกเอาประชาชนระดับล่างเข้าไปในความเคลื่อนไหวมากนัก ยกเว้นแต่พรรคเวียดมินห์ของโฮจิมินห์, พรรคประชาชนลาว, และเขมรแดง

ปฏิวัติจากเบื้องบนก็คือรักษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างสังคม ปฏิวัติจากเบื้องล่างคือขยายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้รื้อทำลายโครงสร้างสังคมลงทั้งหมด

จะจากเบื้องบนหรือเบื้องล่าง มันไม่ง่ายที่จะยกเหตุให้แก่ผู้นำการปฏิวัติว่า หากพวกเขามาจากเบื้องบนก็ย่อมปฏิวัติจากเบื้องบน (เช่น เจ้าสุภานุวงศ์เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าไม่จริง) หรือหากเขามาจากเบื้องล่าง ก็ย่อมปฏิวัติจากเบื้องล่าง

กรณีอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า บางทีก็ไม่มีทางเลือกในการปฏิวัติมากนัก เมื่อซูการ์โนประกาศเอกราชของอินโดนีเซียทันทีที่ญี่ปุ่นยอมแพ้นั้น ประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะบนเกาะชวาได้ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการกลับมาของฮอลันดาอย่างคึกคัก ทั้งนี้ โดยการนำของกลุ่มคนหนุ่ม (Pemuda) หัวรุนแรงหลายต่อหลายกลุ่ม

ทางที่จะได้มาซึ่งเอกราชของอินโดนีเซียประกอบด้วยสองทาง คือการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับฮอลันดา (ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง) และชาวอินโดนีเซียระดับล่างก็ได้เข้าร่วมต่อสู้อย่างอาจหาญ ทางที่สองคือการดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อแสวงหาการรับรองจากนานาชาติ ทั้งสองทางนี้มีความสำคัญเท่าๆ กัน

การลุกฮือของประชาชนภายใต้การนำของกลุ่มคนหนุ่มทำให้หนทางที่สองดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนัก และบังคับให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องขจัดการมีส่วนร่วมของคนหนุ่มเหล่านี้ออกไปจากการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียเข้ามาช่วงชิงการนำประชาชนในการต่อสู้ไปได้โดยลำพัง เมื่อได้รับคำรับรองเอกราชจากนานาชาติ กองทัพกลายเป็นอำนาจอีกส่วนหนึ่งของประเทศ และไม่ต้องการให้ประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นอิสระจากกองทัพ

ตรงกันข้ามกับพรรคเวียดมินห์ที่ปลุกประชาชนขึ้นต่อสู้มานานแล้ว ชัยชนะในการต่อสู้ต่างหากที่ทำให้นานาชาติต้องยอมเจรจาสงบศึกและรับรองเอกราชของเวียดนาม (เหนือ) ซูการ์โนไม่มีกองทัพประชาชนหนุนหลังอย่างที่ลุงโฮมี การปฏิวัติจากเบื้องล่างจึงไม่เป็นทางเลือกแก่ซูการ์โนเอาเลย

ในส่วนพม่า ผมไม่รู้จะบอกว่าเป็นการปฏิวัติจากเบื้องบนหรือเบื้องล่างกันแน่ เพราะนายพลอองซานถึงแก่มรณกรรมเร็วมาก ในขณะที่โครงสร้างสังคมพม่าก็ถูกอังกฤษทำลายไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว



ชาตินิยมกัมพูชานั้น อาจเริ่มต้นที่พระภิกษุ บางส่วนได้เคยเดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทย (ส่วนใหญ่ในสำนักวัดบวรนิเวศ) ความเคลื่อนไหวทางสังคมของพระภิกษุเหล่านี้คือการแปลคัมภีร์บาลีเป็นภาษาเขมร และคล้ายกับธรรมยุติในเมืองไทย คือขจัดคำสอนที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลออกไปจากพุทธศาสนาเขมร

ฝรั่งเศสเกรงว่าอิทธิพลของกรุงเทพฯ ในการศึกษาทางพุทธศาสนาในกัมพูชาจะมีมากเกินไป จึงไม่สนับสนุนให้พระภิกษุเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาในกรุงเทพฯ อีกต่อไป พร้อมกันนั้นก็ตั้งวิทยาลัย, ห้องสมุดและสถาบันศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูงขึ้นในพนมเปญ

อิทธิพลของไทยลดลงจริงตามที่ฝรั่งเศสมุ่งหวัง แต่กระบวนการรื้อฟื้นและสร้างพระพุทธศาสนาของเขมรเองนี้ทำให้สำนึกในความเป็นตัวตนที่อิสระของเขมรเกิดขึ้นแก่พระภิกษุไปพร้อมกัน จำนวนไม่น้อยของนักชาตินิยมกัมพูชา ที่ไปร่วมกับเขมรอิสระ หรือกับกษัตริย์นโรดมสีหนุ คือทิดที่ได้เคยบวชเรียนมาในสำนักพระพุทธศาสนาปฏิรูปนี้เอง

กษัตริย์สีหนุเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในภูมิภาคนี้ที่เป็นผู้นำขบวนการชาตินิยม การปฏิวัติจากเบื้องบนของกัมพูชาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ แต่ดูเหมือนไม่มีทางเลือกมากนักสำหรับกัมพูชา

ฝรั่งเศสอนุรักษ์กัมพูชาไว้เหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง มีชนชั้นสูงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ แม้แต่เมื่อรวมพระภิกษุและศิษย์เก่าในสำนักปฏิรูปแล้ว ก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่นั่นเอง นักชาตินิยมกัมพูชาแทบจะไม่มีเวลาสร้างฐานมวลชนขึ้น เมื่อโอกาสมาถึง นั่นก็คือกองทัพยึดครองของญี่ปุ่นยอมแพ้ จึงไม่อาจต้านทานการกลับเข้ามาของฝรั่งเศสได้ ต้องอาศัยบารมีของกษัตริย์สีหนุเท่านั้น ที่จะต่อรองทางการทูตกับฝรั่งเศส

และประสบความสำเร็จในที่สุดเพราะการเจรจาสงบศึกที่เจนีวาระหว่างเวียดนามและฝรั่งเศส



ปัญหาสำคัญของกษัตริย์สีหนุตลอดเวลาที่ทรงมีอำนาจอยู่ก็คือ จะรักษาเอกราชและบุรณภาพทางดินแดนของกัมพูชาไว้จากเพื่อนบ้านทั้งสองฝั่งของกัมพูชาได้อย่างไร (ไทยและเวียดนามใต้) พระองค์เลือกการสร้างอำนาจต่อรองด้วยนโยบายต่างประเทศเป็นหลัก และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

แต่ล้มเหลวที่จะทำให้ชาวนาเขมรกลายเป็นฐานมวลชนที่แข็งแกร่งของรัฐสมัยใหม่ อันที่จริงศัตรูทางการเมืองของพระองค์คือนายซอนง็อกทันห์ มีความสามารถในการจัดองค์กรระดับมวลชนมากกว่าพระองค์ด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่สามารถล้มกษัตริย์สีหนุลงได้

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไป เมื่อสงครามเวียดนามมีความเข้มข้นขึ้น สหรัฐขยายสงครามป่าเถื่อนเข้ามาในกัมพูชา สนับสนุนทหารให้ล้มกษัตริย์สีหนุลง ทิ้งระเบิดปูพรมด้านทิศตะวันออกของกัมพูชา ขับไล่ชาวเขมรส่วนหนึ่งให้หลบภัยมาอยู่ในพนมเปญ และอีกส่วนหนึ่งหนีไปร่วมกับกองทัพเขมรแดง

แม้สถาบันกษัตริย์กัมพูชาได้รับการฟื้นฟูกลับขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ยิ่งเมื่อขาดกษัตริย์สีหนุซึ่งได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งชาติ โอกาสที่สถาบันจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างสมัยกษัตริย์สีหนุไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันพอจะมองเห็นได้ข้างหน้า

เมื่อถวายพระเพลิง "พระกรุณาพระบรมรัตนโกศ" แล้ว สถาบันกษัตริย์กัมพูชาก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป กลายเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ใกล้ไปทางยุโรป อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ในเอเชีย ที่น่าจับตาดูที่สุด ถัดจากญี่ปุ่นมาทางตะวันตกถึงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น