วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


ชี้กม.นิรโทษทำคดีทุจริตเกือบ5หมื่นเรื่องต้องยุต

ชี้กม.นิรโทษทำคดีทุจริตเกือบ5หมื่นเรื่องต้องยุติ
"วิชา"แถลงป.ป.ช.ส่งความเห็นให้วุฒิสภาประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษ ชี้ทำให้การไต่สวนคดีทุจริตการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 5 หมื่นเรื่องต้องยุติ
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นสมควรให้มีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ข้อดังนี้
1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาตรา3 และมาตรา4 มีผลกระทบต่อเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ดำเนินการ ไต่สวนและส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว และเรื่องกล่าวหาที่ คตส. ส่งมอบสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมจำนวน 24 เรื่อง รวมทั้งเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่จำนวน 25,331 เรื่อง เป็นเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงจำนวน 400 เรื่อง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปจำนวน 24,931 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจำนวน 666 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตจะเป็นอันต้องระงับสิ้นไป และเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
2.ประเทศไทยได้ยินยอมเข้าผูกพันเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ส. 2003 (UNCAC) ซึ่งหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตที่มีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคม ซึ่งบ่อนทำลายสถาบันและหลักของระบอบประชาธิปไตย คุณค่าทางจริยธรรม ความยุติธรรม และเป็นอันตราย ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยินยอมจำกัดอำนาจอธิปไจยบางส่วนเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว
ดังนั้นหากประเทศไทยจะออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริตจะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการถูำประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา UNCAC ดังกล่าวอยู่ด้วย
นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้แจ้งต่อ สำนักงานบาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) โดยมีรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีต่อวุฒิสภาดังกล่าวข้างต้น เพื่อแสดงถึงเจตจำนงในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริต คอร์รัปชัน
อนึ่งมาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีเนื้อหาดังนี้
"...ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น