|
การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงหลายทศวรรษมานี้ได้พบว่าในเวียดนามมีการทำมัมมี่มานานนับพันปี แต่เทคนิคและวิธีการยังเป็นเรื่องลี้ลับ มัมมี่สตรีสูงศักดิ์อายุ 300-250 ปีผู้นี้แปลกและแตกต่างออกไปจากที่เคยพบก่อนหน้านี้ในหลายเรื่อง รวมทั้งกลิ่นหอมกรุ่นที่โชยออกมาเมื่อเปิดฝาโลง แทนที่จะเป็นกลิ่นสาบรุนแรงหรือกลิ่นเน่าเหม็น. -- ภาพ: โด่ยโซ่ง "ฟ๊าบหลวต". |
|
|
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่เวียดนามร่วมกับนักโบราณคดี และผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ได้ทำการขุดค้นแหล่งฝังศพโบราณแห่งหนึ่งในเขตชนบทของกรุงฮานอย ซึ่งทราบในภายหลังว่า เป็นสุสานเก่าแก่อายุหลายร้อยปี และขุดโลงศพไม้ขึ้นมาได้ เมื่อเปิดออกได้พบร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของมัมมี่เพศหญิง ซึ่งนักโบราณคดีกล่าวว่า น่าจะเป็นสตรีสูงศักดิ์สมัยราชวงศ์เล (Le Dynasty) ราชวงศ์ที่ปกครองเวียดนามยาวนานที่สุด การขุดค้นมีขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. ท่ามกลางชาวเวียดนามหลายพันคนไปเฝ้าติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด หลายคนผละงาน หรือลาหยุดงานเพื่อไปชมการขุดค้นโดยเฉพาะ หนังสือพิมพ์โด่ยโซ่งฟ๊าบหลวต (Doi Song Phap Luat) หรือ “กฎหมายกับชีวิต” รายงานในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนาม การขุดค้นแล้วเสร็จในวันถัดมา และการเปิดโลงเพื่อตรวจสอบมีขึ้นในวันที่ 12 ซึ่งทำได้ทำให้หลายฝ่ายแปลกใจในความสลับซับซ้อน โลงศพที่ทำซ้อนกันหลายชั้น โดยแต่ละชั้นใช้ไม้หนา 3-5 เซนติเมตร เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่หาได้ในป่าดิบของเวียดนาม ภายนอกโลงศพโอบเอาไว้ด้วยวัสดุที่เชื่อว่าเป็นยางไม้ที่ไม่ทราบชนิด ผสมสารที่ไม่ทราบชนิดปิดผนึกโลงศพอย่างแน่นหนา วัสดุดังกล่าวอยู่ในสภาพแห้งสนิท และมีความแข็งปานกลางต้องใช้อุปกรณ์เซาะออก ภายในโลงศพพบว่า ใช้น้ำมันที่ทำจากสารที่ยังไม่ทราบชนิดชุบผ้าที่ใช้ห่อร่างผู้ตาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ศพไม่เน่าเปื่อยเพียงแต่กายเหี่ยวแห้งลงเป็นสภาพหนังหุ้มกระดูก แต่อวัยวะภายนอกทุกชิ้นยังอยู่ครบ และยังเห็นเป็นรูปเป็นร่าง “ฟ๊าบหลวต” กล่าว ขณะเตรียมการเปิดโลงศพนั้น เจ้าหน้าที่รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ทุกคนต่างสวมหน้ากากกรองกลิ่นและสารเคมีซึ่งเป็นมาตรฐานการปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับกับสภาพที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะมีกลิ่นสาบรุนแรง หรือกลิ่นเน่าเหม็นจากร่างเน่าเปื่อยของผู้ตายโชยออกมา แต่การณ์กลับตรงข้าม เมื่อนักโบราณคดีได้เปิดฝาโลงไม้ที่ทำซ้อนกันถึง 4 ชั้น เข้าไปจนถึงชั้นในสุดนั้น สิ่งที่โชยออกมากลับเป็นกลิ่นหอมกรุ่นซึ่งทำให้ทุกคนประหลาดใจ ดร.เหวียนลานเกือง (Nguyen Lan Cuong) นักโบราณคดีอาวุโสซึ่งเป็นผู้นำการขุดค้นกล่าวว่า ศพถูกห่อหุ้มเอาไว้ด้วยผ้าไหมชุบของเหลวพวกน้ำมันเป็นชั้นๆ ถึง 10 ชั้น แต่ละชั้นพันร่างผู้ตายและมัดไว้เอาไว้อย่างประณีต หมอนกับผ้าที่ใช้รองศพทำขึ้นจากผ้าคุณภาพดี และยังอยู่ในสภาพที่เกือบจะเป็นปกติ โลงศพ และการห่อศพเช่นนี้เคยพบหลายครั้งจากการขุดค้นสุสานสมัยราชวงศ์เล (พ.ศ.1971-พ.ศ.2331) ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่า ผู้ตายเป็นสตรีสูงศักดิ์หรือสตรีในราชสำนัก ดร.เกืองกล่าว .
|
2
|
3
|
4
สตรีที่กลายเป็นมัมมี่ในโลงศพมีอายุประมาณ 60 ปี สูงราว 165 ซม. แต่ต่างไปจากศพสตรีสูงศักดิ์อีกหลายศพที่ขุดพบก่อนหน้านี้ รายล่าสุดนี้ไม่เน่าเปื่อย ซึ่งได้ทิ้งปริศนาเอาไว้ให้นักโบราณคดี กับนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้ช่วยกันขบคิดศึกษาต่อไปว่าสตรีผู้นี้เป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร แหล่งเดียวกันนี้ ฝังคนตายเอาไว้ 3 ศพ ในโลง 3 โลงแยกกัน อีก 2 ศพเป็นโลงศพแบบธรรมดาทั่วไป เป็นเด็กชายคนหนึ่ง กับเด็กหญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งร่างกายเน่าเปื่อยไปทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียงสตรีผู้สูงศักดิ์เท่านั้น ยังไม่ทราบว่าเด็กทั้ง 2 คนกับสตรีผู้นี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือไม่ ดร.เกืองกล่าว แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. โดยพนักงานขับรถแบ็กโฮที่กำลังขุดท้องร่องก่อสร้างระบบชลประทานในบริเวณทุ่งนาแห่งนั้น จึงได้แจ้งไปยังทางการท้องถิ่นให้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้พบกับความน่าประหลาดใจ “ฟ๊าบหลวต” กล่าว ยังไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดสตรีสูงศักดิ์ กับเด็กทั้ง 2 คนจึงถูกนำไปฝังยังที่ห่างไกลจากนครหลวง ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณทุ่งนาหมู่บ้านฝูหมี (Phu My) คอมมูนหง็อกหมี (Ngoc My) อ.ก๊วก อวาย (Quoc Oai) ของกรุงฮานอย เมื่อข่าวการขุดค้นพบมัมมี่สตรีผู้สูงศักดิ์อายุ 350 ปี แพร่สะพัดออกไป ได้มีชาวเวียดนามอีกหลายพันคนเดินทางไปที่นั่นเพื่อที่จะได้เห็นด้วยตาของตัวเอง หลายคนพากันจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายด้วย หนังสือพิมพ์รายวันที่ตีพิมพ์โดยกระทรวงความมั่นคงภายในรายงาน. |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น