ท่องโลกพันธุ์ไม้หลากสี ที่ภูหลวง
เทียบกันแล้ว ภูหลวง อาจไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่ากับภูกระดึง ไม่ได้มีทะเลหมอกงดงามยิ่งใหญ่เท่ากับภูชี้ฟ้า แต่ในผืนป่าบนภูแห่งนี้กลับโดดเด่นด้วยพรรณไม้ที่มีมากกว่าใคร โดยเฉพาะบรรดาดอกไม้ป่า เช่น กุหลาบแดง กุหลาบขาว และกล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ที่ผลัดกันบานสะพรั่ง แต่งแต้มสีสันอันงดงามให้ผืนป่าสีเขียวตลอดทั้งปี ใครได้ไปชมคงรู้สึกสดชื่น ตื่นตาตื่นใจ จนอดชื่นชมความเก่งกาจของศิลปินที่ชื่อ "ธรรมชาติ" ไม่ได้
ดอกกุหลาบแดงบานสะพรั่งที่ผาสมเด็จ โดยมีฉากหลังคือผาเตลิ่น
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "นายรอบรู้" ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ไปเที่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ. ภูเรือ จ. เลย ในช่วงฤดูร้อนที่นับว่าเป็นช่วงที่ดอกไม้ป่า "พีค" ที่สุดช่วงหนึ่งของปี
ชื่อ "ภูหลวง" หมายถึงภูเขาที่ยิ่งใหญ่ เป็นชื่อสิริมงคลที่คนโบราณตั้งไว้ น่าจะมาจากลักษณะภูมิประเทศอันใหญ่โตของบริเวณนี้ คือเป็นเทือกเขาหินทรายสูงตระหง่าน สูงตั้งแต่ 400-1,571 ม. เหนือระดับน้ำทะเล ยอดตัดเรียบ วางตัวทอดขนานไปกับเส้นทางเชื่อมระหว่าง อ. วังสะพุง ไปจด อ. ภูหลวง จ. เลย เป็นระยะทางถึง 50 กม. และกินพื้นที่กว่า 800 ตร. กม. ใน 5 อำเภอของเลย และเพชรบูรณ์ ดังนั้นภาพแรกของภูหลวงที่เราเห็น จึงมีเทือกเขาขนาดใหญ่เป็นดังกำแพงยักษ์ตั้งตระหง่านล้อมเอาไว้
ดอกกุหลาบแดงบานสะพรั่งที่ผาสมเด็จ โดยมีฉากหลังคือผาเตลิ่น
ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม จึงทำให้ภูหลวงมีสภาพป่าที่แตกต่างหลากหลายไปตามความสูงของพื้นที่ สภาพป่าโดยรวมนับว่าอุดมสมบูรณ์มาก เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเลยและแม่น้ำป่าสัก มีสัตว์มากกว่า 300 ชนิดอาศัยอยู่ และมีพรรณไม้หลายร้อยชนิด โดยเฉพาะดอกไม้ป่าที่มีมากชนิดที่สุดในอีสาน จนใครต่อใครต่างขนานนามให้เป็น "มรกตแห่งอีสาน" บ้างก็ว่าเป็น "อาณาจักรแห่งพรรณพืช"
ฉากพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาช้างผ่าน มองเห็นพื้นที่ อ. วังสะพุง อยู่เบื้องหน้า
จากทางเข้าที่ อ. ภูเรือ เรานั่งรถผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวอีก 18 กม. ก็มาถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงในช่วงเย็น เพียงก้าวออกจากรถก็พบกุหลาบแดงบานสะพรั่งต้อนรับ ย้อมสีบริเวณนั้นให้แดงสดถึงใจ ขณะเดียวกันกุหลาบขาวก็ทยอยเริ่มบานบ้างแล้ว เตรียมรับไม้ต่อหลังกุหลาบแดงโรยราในช่วงเดือนมีนาคม
นอกจากกุหลาบสองสีที่ชวนตื่นตา บริเวณรอบที่ทำการเขตฯ ยังเต็มไปด้วยพืชพรรณหน้าตาแปลกๆ ผลัดกันออกดอกให้ชมตลอดทั้งปี โดยเฉพาะบรรดา "เอื้อง" และ "สิงโต" ซึ่งเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ป่า ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้และซอกหิน ต้องใช้ความช่างสังเกตสักนิดจึงจะได้พบ เช่น เอื้องตาเหิน เอื้องหนวดพราหมณ์ สิงโตสยาม สิงโตช้อนทอง สิงโตก้านหลอด สิงโตกลอกตาใหญ่ สิงโตใบพาย แต่ละชนิดมีรูปร่างแปลกตาคล้ายสัตว์ประหลาดบ้าง คล้ายสิ่งของบ้าง ชวนให้เดินดูอย่างเพลิดเพลิน เช่น สิงโตช้อนทองมีดอกรูปร่างคล้ายช้อนเรียงซ้อนกัน สิงโตใบพายก็มีดอกยาวคล้ายใบพัด เรารู้สึกว่ากล้วยไม้เหล่านี้ดู "มีชีวิต" มากกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกอยู่ตามสวน แถมยังสนุกที่ได้มองหา
สิงโตกับเอื้องก็เป็นพืชสกุลกล้วยไม้เหมือนกัน ต่างกันที่สิงโตจะมีเพียงใบเดียวต่อหัว แต่ถ้าเป็นเอื้องในหัวเดียวจะมีหลายใบ มีการสำรวจพบว่ากล้วยไม้ที่ภูหลวงมีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งนับว่ามากที่สุดของประเทศ เจ้าหน้าที่ถึงกับบอกว่าจำแทบไม่หมด! ก่อนที่อาทิตย์จะสิ้นแสง เราไปที่จุดชมทิวทัศน์ยามเย็นด้านหลังโรงอาหารของที่ทำการ เก็บภาพดวงตะวันค่อยๆ เคลื่อนลับเหลี่ยมเขาไป จากนั้นกลับมารับประทานอาหารและสอบถามข้อมูลเรื่องการเดินป่าในวันรุ่งขึ้น ในภูหลวงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลายเส้นให้เลือกตามความสะดวก ทั้งเส้นทางโคกนกกระบา ลานสุริยัน แต่คณะสื่อเลือกไปเส้นทางผาเตลิ่น-รอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งเหมาะสมกว่าทั้งเวลาและระยะทาง เช้าวันต่อมาเราออกจากบ้านพักตั้งแต่ตีห้า เพื่อไปให้ทันฉากพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาช้างผ่าน ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 1 กม. เจ้าหน้าที่แนะนำว่าไม่ควรออกมาเช้ามืดนัก เนื่องจากเส้นทางนี้พบช้างบ่อยสมชื่อ จึงอาจเกิดอันตรายได้ ระหว่างสาดไฟฉายฝ่าความมืดไปเราก็พบมูลช้างสดใหม่ตลอดทางดังว่าจริงๆ พี่เจ้าหน้าที่เฉลยว่าเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ที่ด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีกระจายสัญญาณโทรทัศน์ อีกฝั่งเป็นหน้าผา จึงเป็นทางแคบ บังคับให้ช้างต้องออกไปหากินโดยผ่านเส้นทางนี้เท่านั้น
ที่ผาช้างผ่านเวลาเช้ามืดเมื่อเราไปถึง มีสายหมอกปกคลุมขาวโพลน จนเหมือนโลกทั้งโลกเป็นสีขาวดำ สายลมพัดกระหน่ำจนต้องกระชับเสื้อหนาวและถือกล้องไว้กับตัวไว้ให้มั่น ไม่นานนักพระอาทิตย์สีทองก็ปรากฎโฉม สาดแสงสีทองให้เห็นพื้นที่ อ. วังสะพุง ที่อยู่เบื้องล่าง เป็นทิวทัศน์ยามเช้าที่งดงามมาก หลังกลับมาล้างหน้าล้างตา รับประทานอาหารเช้าที่หน่วยแล้วเราก็ออกเดินทางไกลกันต่อ พกข้าวคนละห่อไปกินกลางทางเป็นมื้อกลางวัน พร้อมกับทำตัวให้เบาที่สุดโดยเก็บสัมภาระที่ไม่จำเป็นไว้ที่รถ ราวกับจะออกเดินทางไกลในวิชาลูกเสือที่เรียนมาครั้งประถมอีกครั้ง จากนั้น พี่บรรฑิต คำมานิตย์ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ทำงานในพื้นที่มากว่า 20 ปี จนเป็นกูรูเรื่องพืชพรรณไม้ในภูหลวงลำดับต้นๆ ก็พาเราออกเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่ทำการเขตฯ-ผาสมเด็จ-ผาเตลิ่น-รอยเท้าไดโนเสาร์ เลียบเลาะไปตามหน้าผาด้านตะวันออก ซึ่งมีระยะทางประมาณ 4-5 กม. ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง
เอื้องน้ำเต้าฤาษี ดอกมีกลิ่นหอม
ช่วงแรกบนเส้นทางนี้เป็นยอดภูตัดเรียบเดินได้สะดวก พื้นบางช่วงเป็นทรายขาวละเอียดนุ่มเท้า พี่บรรฑิตบอกว่าสภาพป่าบริเวณนี้เป็นป่าดิบแคระ คือร้อยวันพันปีไม่โตเนื่องมาจากสภาพลมแรง และสภาพดินที่เป็นหิน ทราย พืชที่พบส่วนใหญ่คือก่อดำที่ทนลมได้ดี บนเส้นทางเรายังพบเอื้องโดยเฉพาะเอื้องตาเหิน และเอื้องสร้อยระย้าที่ออกเยอะที่สุดในช่วงนี้ ขึ้นแซมอยู่ตามคาคบไม้แทบตลอดทางที่เราเดินผ่านไปยังผาช้างผ่าน นอกจากนี้ยังมีดอกเอื้องสำเภางามบานตามซอกหิน โคลงเคลงหรือเอนอ้าอวดดอกสีม่วง ส้มแปะที่ออกดอกเป็นช่อห้อยระย้า มองดูคล้ายกระดิ่งจิ๋วที่ห้อยเรียงกัน และก๊กหม่อง หรือสะเม็ก ที่มองเผินๆ คล้ายดอกรักสีชมพูมีเกสรแหลม ส่วนเหนือหัวขึ้นไปนั้นก็คือต้นก่วมหรือเมเปิ้ล ซึ่งใบแก่สีเหลืองสีแดงของมันหลุดร่วงมาเติมสีสันให้พื้นดิน
ก๊กหม่อง หรือ สะเม็ก ดอกลักษณะคล้ายดอกรัก
หากก้มลงมองพื้นป่า จะพบดอกหรีดสีม่วงอ่อนแซมบนพื้นทรายขาวที่ละเอียดราวฝุ่น ข้าวตอกฤาษีซึ่งเป็นไลเคนที่ขนาดใหญ่ที่สุด เฟินชนิดต่างๆ รวมทั้งฟองหินที่ดูเหมือนปะการังขึ้นมาอยู่บนบก พืชพรรณแปลกตาเหล่านี้ชวนให้การเดินเท้าที่น่าจะเหน็ดเหนื่อยกลับเป็นความรื่นรมณ์ตลอดเส้นทาง ไม่นานนักเราก็มาถึงผาสมเด็จ ซึ่งห่างจากผาช้างผ่านมาประมาณ 1 กม. เป็นสถานที่ค้นพบต้นสร้อยสมเด็จเป็นแห่งแรกจึงเป็นที่มาของชื่อหน้าผาแห่งนี้ เดินถัดอีกไม่ถึง 10 ม. ก็ถึงจุดชมทิวทัศน์ผาสมเด็จ ซึ่งมองเห็นแนวผาเตลิ่นอันกว้างใหญ่อันเป็นเป้าหมายของเราอยู่ด้านหน้า ริมหน้าผามีดอกกุหลาบแดงบานสะพรั่ง นั่งรับลมเย็นพักเหนื่อยแล้วก็เดินผ่านป่าที่รกขึ้นอีกเล็กน้อยประมาณ 1 กม. ก็มาถึงผาเตลิ่น หน้าผาสูงแห่งนี้ลดหลั่นเป็นขั้นบันได สมกับชื่อ "ผาเตลิ่น" ที่คนเลยแปลว่า "ลื่น" เมื่อมองฉากหน้าที่เป็นเมืองเลยจากมุมสูง งดงามยิ่งใหญ่และคุ้มค่าสมกับที่เดินทางไกลมาถึง พี่บรรฑิตเล่าว่าเคยพบเลียงผา หรือ "ม้าเทวดา" สัตว์ป่าสงวนสุดหายากบริเวณนี้ด้วย
รองเท้านารีปีกแมงปอ หรือรองเท้านารีสุขะกุล ออกดอกในช่วงฤดูหนาว นับเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก พบที่ภูหลวงเท่านั้น
ระหว่างทางกลับเราผ่านไปชมรอยเท้าไดโนเสาร์ หลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่าบริเวณนี้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มานับล้านปีแล้ว นักวิชาการมาตรวจสอบแล้วพบว่าพันธุ์ทีเร็กซ์ หรือ ไทแรนโนซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์เดียวกับที่พบที่กาฬสินธุ์ ช่วงท้ายของเส้นทางเราต้องเดินผ่านป่าดงดิบก่อนกลับมาที่ถนนสายหลัก ไม่นานนักรถยนต์ของหน่วยก็แวะมารับเรากลับมายังที่ทำการเขตฯ นับเป็นโชคดีของพวกเรามากที่ได้พบกับกล้วยไม้รองเท้านารีปีกแมลงปอ หรือรองเท้านารีสุขะกุล อยู่หลังห้องน้ำที่ทำการเขตฯ รองเท้านารีปีกแมลงปอเป็นกล้วยไม้หาได้ยากมาก หนึ่งในพรรณพืชที่พบเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ภูหลวง นอกจากสิงโตนิพนธ์ เอื้องสุริยัน สิงโตธานีนิวัต รองเท้านารีชนิดนี้ออกดอกในช่วงฤดูหนาวและมีไม่มากนักที่จะบานมาจนถึงฤดูร้อนเช่นนี้ เราจึงดีใจที่ได้เก็บภาพสุดหายากนี้เป็นของขวัญก่อนกลับออกมาจากภูหลวง
พี่ๆ เจ้าหน้าที่ฝากบอกว่า ไม่ว่ามาถึงฤดูไหน ป่าภูหลวงก็ยังมีดอกไม้นานาพันธุ์บานต้อนรับเสมอ ช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้คือช่วงเวลาแห่งดอกไม้บนภูหลวงอย่างแท้จริง ทั้งดอกเปราะสีชมพูบานที่โคกนกกระบา หญ้าข้าวก่ำและดอกเทียนน้อยขึ้นแซมตามยอดหญ้า รวมถึงเอื้องแซะภูและสิงโตปากนกแก้วจะเกาะตามเปลือกไม้สน ต่างรอให้ทุกคนได้มาค้นพบในช่วงหลังฝนตกที่ผืนป่าเย็นฉ่ำและเขียวชอุ่ม...
-------------------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น