วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'อาสาฬหบูชา'วันแห่งการศึกษา (โดยพระชาย วรธัมโม)

'อาสาฬหบูชา'วันแห่งการศึกษา 

'อาสาฬหบูชา'วันแห่งการศึกษา : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม

             โดยปกติแล้วเหตุการณ์ วันอาสาฬหบูชา ไม่ค่อยมีใครคิดกันว่าเป็นการศึกษา เพราะเวลาพูดถึงคำว่า "การศึกษา" เรามักนึกถึงการเรียนหนังสือในโรงเรียน มีครูเป็นผู้สอน มีนักเรียนนั่งฟัง มีอุปกรณ์การศึกษา สมุด ปากกา ดินสอ นั่นคือการศึกษาที่เราเข้าใจกัน

               แต่คำว่า “การศึกษา” มีความหมายกว้างกว่านั้น

               คำว่า “ศึกษา” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า “สิกขา” ซึ่งแปลว่า ศึกษา เวลาพูดถึงการศึกษาทางพุทธ พุทธให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติมากกว่าการฟังคำสอนจากครูบาอาจารย์เฉยๆ เพราะการฟังคำสอน ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่การปฏิบัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านลึกแก่ผู้ปฏิบัติ ทั้งนี้การลงมือปฏิบัติยังแบ่งออกเป็นการปฏิบัติทางกายและการปฏิบัติทางจิต

               เหตุการณ์ วันอาสาฬหบูชา มีการศึกษาเกิดขึ้นเช่นเดียวกับการศึกษาในโรงเรียน มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้บรรยาย มีปัญจวัคคีย์เป็นนักเรียน มีต้นไม้และธรรมชาติเป็นห้องเรียนแทนห้องสี่เหลี่ยม แตกต่างกันตรงที่มีการลงมือปฏิบัติทางกายและการปฏิบัติทางจิตด้วย

               การลงมือปฏิบัติทางกาย คือ นักบวชทั้งห้าสละตัวเองมาเป็นนักบวช มีการประพฤติวัตรปฏิบัติตนต่างๆ นานา เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าก็อยู่ในอาการสำรวม น้อมฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ การปฏิบัติทางจิต คือ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้นักบวชทั้งห้าฟัง นักบวชทั้งห้ามีการพิจารณาตามภายในใจ ขณะที่พิจารณาตามคือ การปฏิบัติทางจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การกระทำในใจ” ในที่สุดนักบวชหนึ่งในห้าก็บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน หากไม่มีการปฏิบัติทางจิต หรือไม่มีการกระทำในใจแล้ว ก็ไม่อาจเกิดการบรรลุธรรมได้

               “การกระทำในใจ” เป็นกุญแจสำคัญแห่งกระบวนการเรียนรู้ทางพุทธ เพราะการกระทำในใจจะนำผู้ปฏิบัติไปสู่การรู้แจ้ง

               ผู้เขียนพบบทความเรื่อง “วันอาสาฬหบูชา : วันการศึกษาของโลก” เขียนโดย ผศ.ดร.สมบูรณ์ บุญโท ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

               ผศ.ดร.สมบูรณ์ เขียนไว้ในบทความดังกล่าวว่า

               "ผู้เขียนอยากเรียกวันอาสาฬหบูชาว่าเป็น วันการศึกษาโลก เป็นการวางรากฐานทิศทางการศึกษาเพื่อปลดปล่อยพันธนาการของมนุษย์ โดยมีนักพรตทั้งห้าเป็นนักศึกษารุ่นแรก และมีพระพุทธองค์เป็นบรมครูที่โลกบูชา เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงวางรากฐานการศึกษาให้เป็นแบบอย่างของการศึกษาที่ แท้จริง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ก้าวถึงจุดสูงสุดของ ความเป็นมนุษย์”

               ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น เพราะเนื้อหาที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นหลักสูตรที่สามารถทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งเกิดการเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ความเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เช่นเดียวกับพระองค์ นั่นหมายความว่า มนุษย์มีศักยภาพซ่อนเร้น รอเวลาการบ่มเพาะให้เกิดการเปล่งประกายฉายแสงออกมา โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดทางผ่านคำสอนของพระองค์ นับเป็นแบบอย่างการศึกษาที่มีความมหัศจรรย์

               แต่การที่มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ความเป็นพุทธะได้นั้น หลักสูตรการศึกษาก็มีความสำคัญไม่น้อย หลักสูตรการศึกษาที่พระพุทธเจ้าออกแบบมาให้ปัญจวัคคีย์ทดลองเรียนรู้เป็นนัก เรียนรุ่นแรกมีชื่อเรียกว่า “ไตรสิกขา” ประกอบไปด้วย ๓ วิชชาที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการรู้แจ้ง คือ  ศีล สมาธิ ปัญญา

               ศีล คือวิชชาแห่งการควบคุมกายกับวาจาให้เป็นปกติ เมื่อเราควบคุมกายกับวาจาให้เป็นปกติ นั่นคือ เรากำลังสร้างเหตุปัจจัยให้ชีวิตของเราปลอดภัยจากอาการขึ้นๆ ลงๆ ยกตัวอย่างเมื่อเราไม่ปฏิบัติในศีล ๕ ชีวิตของเราก็ไม่มีศีล เราจึงมักมีอาการขึ้นๆ ลงๆ เพราะเหตุจากการล่วงละเมิดและเบียดเบียนผู้อื่น เวลามีสุขก็มีสุขจนโลดโผน เวลามีทุกข์ก็ตกต่ำสุดๆ ศีล ๕ จึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันให้จิตของผู้ปฏิบัติอยู่ในสภาพสมดุล ถึงแม้จะเป็นเพียงการปฏิบัติที่กายกับวาจา แต่ก็ถือว่าเป็นฐานที่สำคัญอันจะนำผู้ปฏิบัติไปสู่การเจริญเติบโตในเรื่อง อื่นๆ ตามมา หากฐานไม่แข็งแรง เราก็ไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่การเรียนรู้ที่สูงขึ้นไปได้

               สมาธิ คือวิชชาที่จะฝึกฝนให้ผู้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรไตรสิกขา มีจิตใจที่มั่งคงยิ่งขึ้น หมายความว่า ก่อนที่จะมาเรียนวิชชานี้ ผู้เรียนอาจจะมีสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ จิตใจวอกแวกฟุ้งซ่าน เมื่อมาเรียนวิชชานี้แล้วจะมีผลทำให้กลายเป็นบุคคลที่มีจิตใจตั้งมั่น มั่นคง เมื่อจิตมีความมั่นคงมากขึ้นก็พร้อมจะเข้าใจธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไป อันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ปัญญา ตามมา

               ปัญญา นอกจากจะเป็นชื่อวิชชาแห่งการเรียนรู้แล้ว ปัญญายังเป็นผลสืบเนื่องมาจากศีลกับสมาธิด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปฏิบัติในศีลผู้เรียนเกิดปัญญาเห็นคุณค่าของศีล เมื่อปฏิบัติในสมาธิผู้เรียนเกิดปัญญาเห็นคุณค่าของสมาธิ นำไปสู่การมองเห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้พิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิตและนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่าการ บรรลุธรรมในที่สุด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เราเรียกว่าการเกิดขึ้นของ “ปัญญา”
--------------------------------------------------------------------------------
               ปราชญ์บางท่านกล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้เรื่องไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันในชั่วขณะจิตหนึ่งๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน แต่ ศีล สมาธิ ปัญญา เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว ท่านอธิบายว่า ขณะที่ปัญจวัคคีย์ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้าขณะนั้นก็เกิดศีล ศีลในความหมายของการควบคุมจิตให้นิ่ง เมื่อจิตนิ่งก็มีสมาธิในการรับฟัง ขณะรับฟังก็มีการพิจารณาตาม การพิจารณาก่อให้เกิดปัญญา

               ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ช่วงขณะจิตหนึ่งๆ สามารถเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมๆ กัน ผู้ปฏิบัติจึงบรรลุธรรมได้ทุกขณะ หากมีการกระทำในใจ นั่นจึงเป็นเหตุให้ "โกญธัญญะ" เกิดการรู้แจ้งขณะฟังธรรมจากพระพุทธองค์

               เหตุการณ์ในวันเพ็ญเดือน ๘ จึงเป็นสถานการณ์ของเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อม เมื่อโกญธัญญะนักพรตหนึ่งในห้ามีภูมิธรรมที่พร้อมจะสุกแสงเปล่งประกาย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในวันนั้นพอดี เมื่อพระองค์แสดงธรรม โกญธัญญะน้อมรับฟังคำสอนด้วยความเคารพ มีสมาธิตั้งมั่นในคำทุกคำที่พระองค์แสดง จิตน้อมพิจารณาตามนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง จนเกิดการรู้แจ้งเป็นพระโสดาบัน และเมื่อมีโอกาสฟังธรรมในครั้งถัดไปก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

               การที่มนุษย์ธรรมดาได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลจึงถือได้ว่า เป็นหัวใจของการศึกษาที่แท้จริง

               วันอาสาฬหบูชา เราควรหันมาบูชาด้วยการเริ่มต้นปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาอย่างจริงจัง ไตรสิกขาอันเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ที่มีอายุยาวนานหลักสูตรหนึ่ง เป็นหลักสูตรที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงศักยภาพภายในที่ซ่อนเร้น อันนำไปสู่การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งยังไม่มีหลักสูตรไหนจะสามารถทำได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น