วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ป่าแม่วงก์ ความหวังสำคัญของชีวิตเสือ


ภาพ : wcsthailand
 
เรื่อง : กรวิกา วีระพันธ์เทพา

ภาพเสือโคร่งเดินทางระหว่างห้วยขาแข้งกับพื้นที่แม่วงก์ มีความสำคัญมากกว่าเพียงภาพถ่าย
ภาพรอยเท้าสัตว์ บอกอะไรได้มากกว่าเพียงสถานที่ที่สัตว์เดินผ่าน
ข้อมูลจำนวนสัตว์ แสดงให้เราเห็นได้มากกว่าเพียงจำนวนตัวเลข
ณ วันนี้ ประเทศไทยเรามีจำนวนเสือโคร่งอยู่เท่าไร ทำไมเราต้องรู้
ข้อมูลที่คนธรรมดา ใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ อยู่บนท้องถนน อาจฟังดูไกลตัวเหลือเกิน แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพหรือตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง เปิดใจมองความเป็นไปของเสือโคร่งแล้วเราอาจจะได้เห็นอะไรมากกว่าเป็น “สัตว์ป่า” ชนิดหนึ่งก็ได้

ทำไมต้องเป็นเสือโคร่ง
ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) อธิบายว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของระบบนิเวศ มีหน้าที่หลักคือควบคุมประชากรสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์กินพืชทั้งหลายไม่ให้เยอะเกินไป จึงช่วยรักษาสมดุลในระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัย เสือโคร่งเป็นผู้คัดเลือกให้ประชากรสิ่งมีชีวิตโดยรวมแข็งแรงขึ้น เพราะเสือจะล่าสัตว์ที่อ่อนแอ ซึ่งช่วยหยุดยั้งการกระจายตัวของโรคและยีนที่ไม่ดีจากการผสมพันธุ์
เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำและเหยื่อที่เพียงพอตลอดปี เสือโคร่งตัวเต็มวัยต้องการอาหารประมาณ 6-7 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นจึงมักล่าเหยื่อขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง เช่น กวางป่า เก้ง หมูป่า วัวแดง หรือกระทิง มากกว่าสัตว์เล็ก พูดได้ว่า เสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การอนุรักษ์เสือโคร่งก็เท่ากับอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นๆ และระบบนิเวศทั้งระบบด้วย
แต่ในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา จำนวนเสือโคร่งหายไปจากโลกอย่างน่าตกใจ และส่งผลกระทบให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป
“จากที่ทั่วโลกเคยมีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 100,000 ตัว ปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียง 3,500 ตัว เรียกว่าใกล้สูญพันธุ์แล้ว เพราะถูกมนุษย์ล่า ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย รวมทั้งสัตว์ที่เป็นเหยื่อก็มีจำนวนลดลง ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เช่น เขมร ลาว พม่า แทบจะบอกได้ว่าจะหมดจากประเทศแล้ว แต่ในบ้านเราตอนนี้ยังมีอยู่ประมาณ 200 ตัว ซึ่งเฉพาะในผืนป่าตะวันตกก็ร้อยกว่าตัวแล้ว” ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งให้ข้อมูล

แม่วงก์-คลองลาน ความหวังของราชันย์แห่งป่า
หนึ่งในพื้นที่ที่เป็นความหวังของการรักษาเสือในระดับโลก คือป่าตะวันตกของประเทศไทย
จากหลักฐานทางวิชาการและการวิจัยล่าสุด โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ผืนป่าแม่วงก์คลองลานเป็นบ้านและแหล่งหากินที่สำคัญของเสือโคร่งไม่แพ้กับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเลย เพราะพื้นที่นั้นเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ ทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ง่าย
ดร.รุ้งนภาเปิดเผยว่า การติดตามสำรวจประชากรเสือโคร่งล่าสุด โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพบริเวณรอยต่อป่าแม่วงก์-คลองลาน พบเสือโคร่งอย่างน้อย 8 ตัว ที่น่าสนใจคือในจำนวนนั้น มี 1 ตัวที่เคยถ่ายภาพได้ที่ห้วยขาแข้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และปี 2555 ถ่ายภาพได้อีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ระยะทางห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตร ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่หากินของเสือโคร่งกินอาณาเขตกว้างขวาง นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2555 ยังได้ภาพของแม่เสือโคร่งกับลูก 2 ตัวในป่าแม่วงก์ด้วย

“นี่เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าป่าแม่วงก์อุดมสมบูรณ์มาก เพราะเสือโคร่ง 1 ตัวจะใช้กวางเป็นเหยื่อประมาณ 50 ตัวต่อปี ฉะนั้นการที่มันสามารถออกลูกได้แสดงว่าต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่านั้น อีก และเสือตัวนี้เป็นเสือประจำถิ่นด้วย เพราะเวลาที่มันมีลูก จะต้องอยู่ในบริเวณที่ไม่ไปไหนไกล ซึ่งจุดที่พบอยู่ห่างจากจุดที่น้ำในเขื่อนจะท่วมประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แม้ว่าจะไม่ได้เจอตรงจุดที่จะสร้างเขื่อนจริงๆ แต่พื้นที่หากินของเสือโคร่งค่อนข้างที่จะใหญ่ หากมีภาวะคุกคามจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูประชากรเสือและเหยื่อ”
ดร.รุ้งนภากล่าวอีกว่า จุดที่เป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง พบหนาแน่นทางตะวันตกของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นอกจากนี้ยังพบเสือพบสัตว์ป่าอีก 32 ชนิด เช่น กระทิง หมู่ป่า สัตว์ป่าสงวน สมเสร็จ เก้งหม้อ เลียงผา ช้าง หมาไน หมีขอ ลิง ชะมด อีเห็น กวางป่า แสดงถึงพื้นที่ป่าใหญ่สมบูรณ์ โดยจุดที่สร้างเขื่อนจะกระทบประชากรสัตว์ป่าแน่นอน ทั้งที่ตอนนี้จำนวนกวางกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ

การล่าสัตว์ป่า : สิ่งที่อีไอเอไม่ได้บอก
ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล (WCS) ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ป่าแม่วงก์ควรค่าแก่การรักษาอย่างยิ่ง เพราะบริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นป่าที่มีพื้นที่เหมาะสมในการฟื้นฟูประชากร สัตว์ และหากความเจริญเข้าไปในป่าไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังสร้างเขื่อน หรือสร้างเสร็จแล้ว สัตว์ป่าจะถูกล่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ กล่าวถึงตรงนี้เลย
“ผมยกตัวอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง หลังจากมีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ปัจจุบันนี้พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าทรุดโทรมมาก และไม่พบเสือโคร่งมานานแล้ว เพราะคนเดินทางเข้าไปล่าได้ง่ายขึ้น ต่อให้มีการลาดตระเวนอย่างไรก็ไม่พอ มันมีตัวอย่างที่เห็นอยู่ ซึ่งเราควรเรียนรู้จากอดีต ไม่ใช่ทำตามรอยเดิมแบบนี้ การอนุรักษ์เสือโคร่ง รวมทั้งเสือชนิดอื่นๆ ทำให้เราสามารถรักษาผืนป่าใหญ่ได้ ซึ่งประโยชน์นั้นไม่ใช่เพื่อเป็นเพียงบ้านของสัตว์เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ฟอกอากาศบริสุทธิ์และแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของมนุษย์”
เขาเน้นอีกว่า ไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ด่วนตัดสินใจสร้างเขื่อนเพียงเพราะถูกกดดันจากกระแส น้ำท่วมปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นของคนทั้งชาติ ควรจะทำประชาพิจารณ์ในระดับประเทศ จะทำเฉพาะอำเภอลาดยาวหรือเฉพาะนครสวรรค์ไม่ได้ และที่สำคัญถ้าเรายอมให้มีการสร้างเขื่อนตรงนี้ มันจะกลายเป็นตัวอย่างที่อุทยานอื่นๆ ก็สามารถสร้างเขื่อนได้
           ----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ทั่วโลกให้ความสำคัญกับจำนวนเสือโคร่ง เพราะเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอย่างเร่งด่วนภายใต้การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ระดับโลก The Globe Tiger Recovery Program ซึ่งรัฐบาล 13 ประเทศที่เป็นพื้นที่อาศัยของเสือโคร่ง รวมถึงประเทศไทย ได้ลงนามที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553  
ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ต่อโครงการว่า “ภายในปีเสือ 2565 ประชากรเสือโคร่งจะได้รับการฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนในผืนป่าสำคัญของประเทศ โดยการจัดการและระบบตรวจวัดประชากรที่มีมาตรฐานสูง และประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์เสือโคร่ง สัตว์ป่า และการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้”
ความสำเร็จของการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติภารกิจตามที่ประกาศไว้หรือไม่
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น