วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิษณุ เครืองาม

เล่าไปเรื่อยๆ (11)

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น.
เล่าไปเรื่อย ๆ ตอนที่แล้ว เล่าเรื่องผู้นำจากประวัติศาสตร์ได้ความอย่างหนึ่งว่าผู้นำที่ดีต้องไม่ ริษยาลูกน้อง ต้องส่งเสริมผู้ตามให้ใช้ศักยภาพของเขาได้ตามความถนัด ต้องรู้จักดึงเอาด้านดีด้านเป็นประโยชน์ของลูกน้องมาใช้ ต้องไม่ส่งเสริมคนชั่วให้มีอำนาจ อย่าเป็นอย่างที่โบราณว่า “เรือดี ๆ มีไม่ขี่ข้ามไปเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตามทั้งนั้น แต่ก็แสดงให้เห็น “ภาวะ” ของคนได้ดีว่าควรเป็นผู้นำได้หรือไม่

ถ้าจะพูดให้ยาวออกไปก็คือผู้นำต้องหาคนดีมาช่วยงาน ต้องกระจายงาน ต้องมีมิตร ผู้นำจึงต้องฉลาดเจรจา ฉลาดผูกใจคน ถ้าทำได้ควรจะมี succession plan ด้วย คือแผนหาคนมารับช่วงงานต่อ จะเรียกว่าทายาทก็ได้ งานจะได้ไม่สะดุด ไม่ใช่ว่าพอหมดผู้นำก็หมดตัว!

แต่เรื่องอย่างนี้อาจทำได้ในภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ เพราะกฎกติกามารยาทในการหาทายาทไม่ยุ่งยากและเอื้อต่อการวางตัวคน ในทางการเมืองการปกครองและในระบบราชการหรือภาครัฐคงทำได้ยากเพราะราชการงาน เมืองเป็นของส่วนรวม เป็นของประเทศชาติ ไม่ใช่สมบัติจะพึงผลัดกันชมหรือยกให้ใครได้ตามใจชอบ ในทางเป็นจริงพอริเริ่มมองใครเล็งใคร เพื่อนก็เล่นเขม่นอิจฉาริษยารวมหัวกันเลื่อยขาเก้าอี้แล้ว หากจะให้เป็นไปได้ก็ต้องตั้งให้เป็นตำแหน่งแห่งหนชัดแจ้งโดยมีกฎบัตรกฎหมาย รองรับไปเลยให้รู้แล้วรู้รอด เช่น การตั้งพระมหาอุปราชหรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้าในสมัยก่อน หรือตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ถ้าแค่เล็ง ๆ หมายตาไว้แล้วเปรยให้คนได้ยินเห็นจะเกิดปัญหาเพราะคนเรามักมีนิสัยเห็นใครดี ไม่ได้ ก็อย่างว่าแหละครับ คนที่นายกฯ วางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองไม่เห็นได้ดีสักราย

รัชกาลที่ 5 นั้นทรงโชคดีมากเพราะทรงมีผู้ช่วยงานที่มีความสามารถอยู่หลายคน และทรงผูกใจคนเหล่านั้นไว้ได้จนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้ที่สำคัญที่สุดเสมือนนั่งอยู่ในพระทัยคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ (ต้นราชสกุลเทวกุล) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ต้นราชสกุลดิศกุล) ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอทั้งคู่ พระองค์แรกทรงสนองงานด้านการต่างประเทศหรือ foreign affairs ได้เรียบร้อยบริบูรณ์ พระองค์หลังทรงสนองงานด้านการปกครองภายใน (มหาดไทย) หรือ interior ได้ราบรื่นสมบูรณ์ ผู้นำที่มีแขนซ้ายด้านรัฐวิเทโศบาย แขนขวาด้านรัฐประศาสโนบายครบครันอย่างนี้ถือว่าครบเครื่อง

ในด้านการทหารบก ทหารเรือ การศึกษา การช่าง ศิลปะ กฎหมาย รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเจ้าน้องยาเธอและพระราชโอรสอีกหลายพระองค์มาช่วยงานได้ดังพระทัยนึก ข้าราชการขุนนางที่จงรักภักดีและมีความสามารถก็มีมาก ต่างทุ่มเทช่วยกันคนละไม้คนละมือจนการปฏิรูปประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลุล่วงไปได้ ประเทศสยามได้ทั้งอำนาจอิสราธิปไตย ได้ทั้งความเป็นสมบูรณาญาสิทธิของพระราชา ได้ทั้งความเจริญของบ้านเมือง

กลับมาที่ประเด็นเดิม คนเป็นหัวหน้าอาจไม่ได้เป็นผู้นำ คนเป็นผู้นำอาจไม่ได้เป็นหัวหน้า สังคมที่มีหัวหน้าและเป็นผู้นำด้วยจึงโชคดี การที่ผู้นำจะทำให้คนตามหรือยอมทำงานให้อย่างรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่เรื่องง่าย จริงอยู่ที่ความเป็นน้องเป็นลูกอาจยอมเป็นผู้ตามที่ว่าง่ายใช้คล่อง แต่ทำอย่างไรจึงจะผูกใจคนไว้ได้ด้วย “ใจ” ไม่ใช่แค่สายสัมพันธ์ทางเครือญาติ ก็ญาตินั้นลุกขึ้นเล่นงานกันเองเจ็บแสบกว่าคนอื่นมามากต่อมากแล้ว สมเด็จพระบรมราชาหรือขุนหลวงพะงั่วก็เป็นญาติข้างแม่ของพระราเมศวร เจ้าอ้ายพญากับเจ้ายี่พญาชนช้างจนตายทั้งคู่ก็พี่น้องกัน สมเด็จพระชัยราชาธิราชก็เป็นอาของสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร สมเด็จพระมหินทราธิราชกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็เป็นพี่เมียน้องเขยกัน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ก็ญาติกัน สมเด็จเจ้าฟ้าไชยกับสมเด็จพระนารายณ์ก็พี่น้องคนละแม่กัน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชากับสมเด็จพระนารายณ์ก็เป็นอาหลานกัน สมเด็จพระเจ้าบรมโกศกับเจ้าฟ้าอภัยก็อาหลานกัน สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศก็พี่น้องกัน ลงท้ายก็ฆ่าฟันกันเองจนตายไปข้างหนึ่ง

ถ้าวัดโคกพระยา นอกเกาะอยุธยาดินแดนที่สำเร็จโทษกษัตริย์และเจ้านายมามากต่อมากแล้วมีวิญญาณ พูดได้สถิตอยู่คงเล่าให้เราฟังได้สนุกนักว่าเขาโค่นล้มแย่งชิงอำนาจกันอย่าง ไร

สมัยต้นกรุงเทพฯ ปลายรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้ากับพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงผิดพ้องหมองพระทัยกัน เมื่อสิ้นวังหน้า พระเจ้าลูกยาเธอของวังหน้า เช่นพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปักจะเข้ายึดอำนาจในวันพระราชทานเพลิงพระศพวังหน้าตามสูตร “วันสวดเขาจะเอา วันเผาเขาจะเล่น” จนจับได้ต้องถูกสำเร็จโทษ ต้นรัชกาลที่ 2 ก็เกิดเรื่องเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรีที่รอดอยู่ถูกหาว่าจะก่อการขบถยึดอำนาจจาก รัชกาลที่ 2 ผู้เป็นน้าแท้ ๆ (น้องของแม่) จนถูกจับสำเร็จโทษ

การที่ผู้นำจะผูกใจผู้ตามให้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ จะใช้วิธี “ปรองดอง” “สมานฉันท์” “สามัคคี” “ให้อภัย” หรืออะไรก็ตาม แต่เป็นคุณธรรมที่ผู้นำที่ฉลาดได้ใช้มามากต่อมากแล้ว แต่ต้องใช้อย่างถูกจังหวะเพราะการผูกใจที่ผิดจังหวะจะกลายเป็น “การหวานเจี๊ยบหวานจ๋อย” อาจถูกหาว่าไม่จริงใจหรือกลายเป็นว่าผู้นำไม่แน่จริง กลัวผู้ตาม ยอมให้คนอื่นขี่คอ อ่อนแอ อันพลอยให้เสียภาวะผู้นำไปได้ประการหนึ่ง

เรื่องอย่างนี้ต้องยกให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระองค์ออกผนวชตั้งแต่พระชนมายุ 20 พรรษา ผนวชอยู่ 27 ปี อดทนอดกลั้นต่อภยันตรายในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เล่นเพราะคนกลั่นแกล้งและมุ่ง ร้ายหมายขวัญมีสารพัด ต่างคิดจะกีดกันไม่ให้ทรงกลับมามีอำนาจทางบ้านเมือง ถ้าเป็นคนเจ็บแล้วต้องจำ จำแล้วจำนาน เมื่อทรงกลับขึ้นมีอำนาจเป็นรัชกาลที่ 4 ครองราชย์ถึง 17 ปี คงใช้อำนาจความเป็นเจ้าแผ่นดินล้างเจ็บล้างอายยกใหญ่ แต่ไม่ทำเลย จึงทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่อยู่ได้

รัชกาลที่ 4 เป็นผู้นำที่ฉลาด แม้จะไม่ได้ทรงขึ้นมาเป็นผู้นำท่ามกลางความขัดแย้ง แต่ก็น่าจะทรงรู้ว่าคนที่เคยก่อเหตุเภทภัยไว้กับพระองค์มีอยู่มากจนเขาน่าจะ ระแวงว่าอาจทรงถือโอกาสนี้ “เอาคืน” วิธีจะทำให้คนเหล่านั้นวางใจว่าแผ่นดินใหม่นี้จะแก้ไขไม่แก้แค้นก็คือการทำ ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นอย่างที่พวกเหล่านั้นคิด เทคนิคที่ทรงใช้หรือกุศโลบายคือ “ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง”

กุศโลบายของรัชกาลที่ 4 มีดังนี้ เริ่มต้นคือทรงสมานไมตรีกับพระราชอนุชาร่วมพระราชชนนีนั่นคือเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยทรงยกย่องให้เป็น “ยิ่งกว่าอุปราชวังหน้า” ทรงบวรราชาภิเษกให้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่ 2 เลยเชียวล่ะ ทรงอ้างว่าดวงพระชะตาแข็ง ที่จริงสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณีทรงพระปรีชาสามารถมากเพราะทรงทำราชการมาตลอด 27 ปี เพียงแค่นี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงยอมถวายชีวิตทำราชการสนองพระเดชพระคุณสุดฝีมือจนสวรรคตไปก่อน”

เทคนิคหรือกุศโลบายต่อไปคือทรงสมานไมตรีกับสายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพระบรมเชษฐาต่างพระชนนี เมื่อจะอภิเษกสมรสครั้งแรกก็ทรงเลือกพระเจ้าหลานเธอ (หลานปู่) ในรัชกาลที่ 3 ชื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสมาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี โดยทรงยอมเป็น “หลานเขย” ของรัชกาลที่ 3 อีกทาง เมื่อสมเด็จฯ พระองค์นี้สวรรคตก็ทรงรับเอาหม่อมเจ้าหญิงรำเพย หลานปู่อีกองค์ของรัชกาลที่ 3 มาเป็นพระอัครมเหสีจนมีพระราชโอรสคือรัชกาลที่ 5 เท่านี้ก็ทรงผูกใจเจ้านายสายรัชกาลที่ 3 ไว้ได้

กุศโลบายที่ 3 คือ ทรงสมานไมตรีกับเจ้านายสายรัชกาลที่ 1 (เป็นปู่) และสายรัชกาลที่ 2 (เป็นอา) รวมถึงพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 (เป็นพี่หรือน้อง) ด้วยการทรงยกย่องให้มีตำแหน่งทางราชการ และมีพระยศสำคัญเช่นพระราชโอรสรัชกาลที่ 2 ที่ประสูติจากสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น แม้แม่จะเป็นเจ้าฟ้าแต่รัชกาลที่ 2 ก็ทรงเกรงพระทัยพระอัครมเหสีบุญรอดจึงไม่ทรงกล้ายกย่องพระราชโอรสจากสายนั้น แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามีพระยศยิ่งใหญ่มาก

กุศโลบายที่ 4 คือ ทรงสมานไมตรีกับบรรดาขุนนางและเสนาบดีทั้งหลาย แม้บางคนจะมีส่วนในการยกรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์มาก่อน ทรงตั้งเจ้าพระยาพระคลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ตั้งพระยาศรีพิพัฒน์ผู้น้องเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ให้มีอำนาจราชการเหมือนนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ เมื่อจะปูนบำเหน็จตั้งเจ้าพระยาหรือเสนาบดีอื่นก็เสด็จไปพระราชทานพรและ เครื่องยศจนถึงบ้านของผู้นั้นเป็นที่ปลาบปลื้มทั่วกัน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ธรรมเนียมมาก่อน

กุศโลบายที่ 5 คือ ทรงสมานไมตรีกับศัตรูหรือ “ไพรี” เก่าของพระองค์ด้วยการไม่ถือโทษโกรธเคือง ลืมเรื่องเก่าตั้งต้นกันใหม่ พระพุทธโฆษาจารย์ วัดโมลีโลกยารามนั้นเคยขัดเคืองกันหนัก เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ท่านจะสึกหนีราชภัยเอาทีเดียว แต่โปรดฯ ให้เลื่อนเป็นสมเด็จพระราชาคณะ พระอุดมปิฎก วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี เคยกระทบกระทั่งกันเรื่องนิกายสงฆ์ พอขึ้นครองราชย์ก็ลี้ภัยไปอยู่พัทลุง โปรดฯ ให้นิมนต์กลับมาครองวัดหงส์ ข้าราชการอีกคนเคยทะเลาะกับพระองค์มาหนัก โปรดฯ ให้เลื่อนเป็นพระยา รับสั่งว่าเรื่องส่วนตัวก็เรื่องหนึ่ง แต่ฝีมือของเขาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กุศโลบายที่ 6 คือ ทรงสมานไมตรีกับคนต่างด้าวท้าวต่างแดน ทรงส่งราชทูตไปฝรั่งเศสหลังจากที่ห่างเหินมานานกว่าร้อยปี ทรงยอมต้อนรับราชทูตอังกฤษ ยอมทำสัญญาพระราชไมตรีด้วย ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ทรงคบค้ากับเจ้าเมืองสิงคโปร์แบบไม่ให้เขาดูถูกเราได้ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รักษาประเทศไว้ได้

กุศโลบายที่ 7 คือ ทรงสมานไมตรีกับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ความที่พระองค์เป็นผู้สถาปนาคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อขึ้นครองราชย์เชื่อว่าคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายคงจะวิตกอยู่เหมือนกันว่าจะ ไม่ทรงเป็นธรรมต่อคณะนิกายเดิม เช่น อาจบังคับให้พระมหานิกายนุ่งห่มอย่างพระมอญแบบธรรมยุตดังที่รัชกาลที่ 3 ก็เคยวิตก พอดีพอร้ายอาจบังคับให้เปลี่ยนมาเป็นธรรมยุตกันหมดซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะ เกิดสงครามศาสนาเป็นแน่ แต่กลับทรงดำเนินพระบรมราโชบายตามปกติ “แล้วแต่ศรัทธา” ทรงยกย่องสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เช่น สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ วัดพระเชตุพน และยังทรงบูรณะวัดมหานิกายเช่นเดิม เช่น วัดหงส์รัตนาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดพระเชตุพน วัดพระปฐมเจดีย์ วัดอรุณฯ วัดโมลีฯ สงฆ์มหานิกายก็ยังอยู่ได้เป็นปกติสุข

กุศโลบายที่ 8 คือ ทรงสมานไมตรีกับคนต่างชาติโดยเฉพาะที่เคยมีความสัมพันธ์กับพระองค์มาแต่เดิม เช่น หมอบรัดเลย์ สังฆราชปาลเลอกัวส์ เวลาตายก็เสด็จไปส่งศพ เรือศพสังฆราชปาลเลอกัวส์ผ่านที่ประทับก็ทรงลุกขึ้นยืนถอดพระมาลา พระราชทานเกียรติจนบาทหลวงและชาวต่างประเทศต่างแซ่ซร้องสดุดีไปทั่ว

สุดท้ายคือทรงสมานไมตรีกับพสกนิกร พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ต่าง ๆ และทรงสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ทรงตัดถนน ขุดคูคลอง พระราชทานสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา จนถึงการให้เจ้าจอมลาออกไปมีครอบครัวได้ ทรงยกเลิกประเพณีหมอบกราบก้มหน้าทหารไล่ยิงลูกตาราษฎรเวลาเสด็จฯ ผ่าน โปรดฯ ให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทรงออกประกาศเตือนราษฎรนับร้อยฉบับในเรื่องความเป็นอยู่ สุขอนามัย อาหารการกิน อาชีพ อย่างเป็นกันเอง

กุศโลบายทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการสถาปนาบรรยากาศความเป็นกันเองหรือ “ไมตรี” เมื่อผู้นำมีไมตรีต่อผู้ตาม ผู้ตามย่อมมีไมตรีตอบ เพราะเหตุฉะนี้รัชสมัย 17 ปีของพระองค์ที่ผู้ใหญ่สมัยนั้นเคยกลัวกันว่าการไปอาราธนาพระที่บวชมานาน 27 ปี ไม่เคยจับราชการบ้านเมือง เคยแต่เทศน์ ไม่เคยรบ เคยแต่เป็นแม่ทัพธรรม และไม่มีเสนาพฤฒามาตย์คอยประคับประคอง มีแต่พระลูกวัดไม่กี่รูปและทายกทายิกาจะเป็นการคิดถูกหรือไม่ จะทรงบริหารบ้านเมืองหรือปกครองเป็นไหม แต่แล้วก็ไม่มีเหตุอันน่าผิดหวังแต่ประการใด กลับทรงเป็นหัวหน้าที่สามารถในการนำ ทรงผูกใจครองใจเจ้านายและเสนามนตรี อาณาประชาราษฎร์ได้อย่างดีตลอดรัชกาล

คราวหน้าจะได้พูดกันเรื่องใหญ่อีกเรื่องคือความมีวิสัยทัศน์ของผู้นำ.
กุศโลบายทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการสถาปนาบรรยากาศความเป็นกันเองหรือ “ไมตรี” เมื่อผู้นำมีไมตรีต่อผู้ตาม ผู้ตามย่อมมีไมตรีตอบ เพราะเหตุฉะนี้รัชสมัย 17 ปีของพระองค์ที่ผู้ใหญ่สมัยนั้นเคยกลัวกันว่าการไปอาราธนาพระที่บวชมานาน 27 ปี ไม่เคยจับราชการบ้านเมือง เคยแต่เทศน์ ไม่เคยรบ เคยแต่เป็นแม่ทัพธรรม และไม่มีเสนาพฤฒามาตย์คอยประคับประคอง มีแต่พระลูกวัดไม่กี่รูปและทายกทายิกาจะเป็นการคิดถูกหรือไม่ จะทรงบริหารบ้านเมืองหรือปกครองเป็นไหม แต่แล้วก็ไม่มีเหตุอันน่าผิดหวังแต่ประการใด

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น