วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

: สถานีเกษตรหลวงปางดะ, รายงานพิเศษ,
สถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นสถานีวิจัยหนึ่งในสี่ของมูลนิธิโครงการหลวง ที่มุ่งเน้นดำเนินงานวิจัยและขยายพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวและกึ่งหนาว พืชผักและพืชไร่ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2522 เนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์เพื่อช่วยให้ชาวเขามีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้มีรายได้มั่นคง โดยนำพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดให้เกษตรกรปลูก พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีการผลิต การใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย ตลอดจนให้เกษตรกรใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักของการอนุรักษ์ดิน และน้ำ
นายวิพัฒน์ ดวงโภชน์ หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงปางดะ เล่าว่า สถานีเกษตรหลวงปางดะ ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์คือการขยายพันธุ์พืชผัก พืชไร่ ไม้ผลเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างไปจากสถานีเกษตรหลวงอื่นที่ส่วนใหญ่จะก่อตั้งเพื่อแก้ปัญหาของ ชาวเขา โดยเฉพาะเรื่องลดพื้นที่การปลูกฝิ่นด้วยการปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทน ดังนั้น สถานีเกษตรหลวงปางดะ จึงมีการวิจัยและขยายพันธุ์พืชหลากหลายชนิดนอกจากไม้ผล เมืองหนาว ยังมีไม้ดอกเมืองร้อน ไม้ผลเมืองร้อนและกึ่งร้อน พืชผัก ถั่ว ชา กาแฟ ไม้โตเร็ว ไผ่ต่างถิ่นและแฝกสาเหตุที่มีการขยายพันธุ์พืชเมืองร้อนและกึ่งร้อนได้นั้น เพราะพื้นที่ตั้งของสถานีฯ อยู่ในพื้นที่ไม่สูงมากนัก โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 720 เมตร อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 35.76 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 12.82 องศาเซลเซียส

สถานีเกษตรหลวงปางดะ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,232 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการทำแปลงศึกษาวิจัยรวม 804 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะคงสภาพป่าไม้เพื่อให้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของสถานีฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.งานวิจัย ซึ่งมีทั้งงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาว เป็นการศึกษาพันธุ์นำเข้า เพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ ส่วนงานวิจัยพืชผัก จะทำแบบผสมผสาน ผักใหม่ ผักอินทรีย์และทดสอบพันธุ์ต่างๆ งานวิจัยไม้ดอก เน้นงานวิจัยและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกเมืองร้อน ทดสอบและขยายพันธุ์ งานวิจัยพืชสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยถั่วบนพื้นที่สูง เพื่อศึกษาการปลูกถั่วและรักษาพันธุ์ วิจัยไผ่ต่างถิ่น
โดยมีการปลูกไผ่ร่วมกับพืชเกษตรในกระบวนการเกษตร ศึกษาการทำลายของแมลงกินหน่อไผ่และศึกษาแมลงกินได้จากไผ่
2.งานด้านการผลิตและขยายพันธุ์เป็นการดำเนินงานผลิตเมล็ดพันธุ์และขยาย พันธุ์พืชชนิดต่างๆ เพื่อนำไปส่งเสริมจำหน่าย และสนับสนุนแก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ พันธุ์ไม้ผล เช่น พลับ มะเฟือง อะโวกาโด มะละกอ เลมอน เสาวรส ส่วนพืชผักและสมุนไพร เช่น กุยช่ายขาว ถั่วแขก พริกหวาน อะติโชค ผักใหม่ต่างๆ สำหรับพันธุ์ไม้ดอก ก็จะมีหน้าวัวลูกผสมกระเจียว บัวชั้น เฮลิโคเนีย ถ้าเป็นไม้โตเร็วและไผ่ต่างถิ่น มีการบูร จันทร์ทอง เพาโลเนีย ไผ่หวานอ่างขาง ไผ่หยก รวมถึงมีงานผลิตและขยายพันธุ์แฝกด้วย
งานด้านที่ 3 เป็นงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานสองสี และพืชผักเป็นกิจกรรมหลัก ในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย ผลผลิตที่ได้ส่งจำหน่ายผ่านงานตลาดโครงการหลวง ซึ่งจากการส่งเสริมอาชีพนี้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนงานด้านที่ 4 คืองานพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัยแก่กลุ่ม เกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก อบรมผู้นำเยาวชนร่วมงานมูลนิธิโครงการหลวง จัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกพืชและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่และดำเนินงานสร้าง จิตสำนึกเพื่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร การพัฒนาและอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น
ด้วยพื้นที่บริเวณสถานีฯ รวมถึงในบริเวณใกล้เคียงมีสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชัน มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้น การจะส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวบ้านที่อยู่ในที่นี้ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่บุกรุกป่าไม้ ทางสถานีฯ จึงได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการจัดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อแบ่งแยกพื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่าไม้ให้ชัดเจน โดยมีการจัดทำเป็นโมเดลต้นแบบ คือ พื้นที่สูงให้คงไว้เป็นป่าต้นน้ำ ถัดลงมาที่มีความลาดชันให้ปลูกไม้ผล ส่วนพื้นที่ราบให้ปลูกพืชไร่ พืชผัก ซึ่งในส่วนของแปลงไม้ผลที่อยู่ในพื้นที่ลาดชันกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่ง เสริมการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ คือ ทำขั้นบันไดดิน และปลูกแฝกขวางทางลาดเท เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ทำกินมีจำกัดเป็นเหตุให้ชาวเขาที่อาศัยอยู่บริเวณสถานีฯ มักจะรุกล้ำแนวเขตป่าไม้บ่อยครั้ง จึงแก้ปัญหาโดยให้กรมพัฒนาที่ดินเข้าไปทำเส้นทางลำเลียง เมื่อตัดถนนก็สามารถแบ่งเขตได้อย่างถาวร อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแนวกันไฟป่าได้ด้วย

นายวิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการศึกษาวิจัยของสถานีเกษตรหลวงปางดะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น สามารถพัฒนาพันธุ์พืช ไม้ผลเมืองหนาวที่สามารถนำมาปลูกในพื้นที่เขตร้อนได้สำเร็จเป็นแห่งแรก โดยเฉพาะ กีวีฟรุ้ท ที่มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ที่ปลูกได้ในเขตร้อนหรือพื้นที่ที่ ไม่สูงมากนัก ซึ่งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อุณหภูมิบนพื้นที่สูงอาจจะร้อนขึ้น ก็ยังคงมีพันธุ์พืชที่สามารถปลูกได้ทดแทน นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการปลูกไม้ผลขนาดเล็ก ได้แก่ องุ่น ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยปกติเกษตรกรทั่วไปจะปลูกองุ่นได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 กิโลกรัม/ต้น แต่ที่สถานีฯ สามารถปลูกแล้วให้ผลผลิตสูงถึง 85 กิโลกรัม/ต้น ทั้งนี้ ทางสถานีฯ ได้ส่งเสริมขยายผลให้เกษตรกรนำไปปลูกทดแทนพืชอื่น เพราะเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยมีชาวเขานำไปปลูกในพื้นที่ 2 งาน ประมาณ 40 ต้น สามารถขายสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลสำเร็จของงานวิจัยและพัฒนาของสถานีเกษตรหลวงปาง ดะ หากท่านใดสนใจสามารถมาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานได้ซึ่งสถานีฯ ตั้งอยู่ที่ 192 ม.10 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หรือ โทร. 0-5337-8046
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น