ชาวหนองคายเรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" และจัดเทศกาลชมปรากฏการณ์นี้เป็นประจำทุกปี
ปีนี้ นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ ผวจ.หนองคาย กล่าวว่า จังหวัดเริ่มจัดเทศกาลออกพรรษา ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องที่พัก ขณะนี้ถูกจองเต็มเกือบทุกที่แล้ว แต่จังหวัดก็จัดเตรียมที่พักแบบโฮมสเตย์ตามอำเภอ และวัดต่างๆ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถกางเต็นท์นอนหน้าศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอได้เช่นกัน
ตามความเชื่อของชาวหนองคาย ปีไหนที่เป็นปีอธิกมาส มีเดือนแปด 2 หน ปีนั้นจะมีบั้งไฟพญานาคให้ชม 2 วันติดต่อกัน ดังนั้น ปีนี้เป็น ปีอธิกมาส เชื่อว่าจะมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้น วันที่ 30 ต.ค. และหลังออกพรรษา 1 วัน คือวันที่ 31 ต.ค. และจำนวนลูกไฟจะมีมากกว่าทุกปีด้วย
มีลักษณะเป็นลูกไฟสีแดงอมชมพู ขนาดตั้งแต่หัวแม่มือถึงฟองไข่ไก่ ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง พุ่งจากแม่น้ำโขงขึ้นสูงเป็นแนวตรง 50-150 เมตร แล้วหายไป
เดิมชาวหนองคายเรียกว่า "บั้งไฟผี" ส่วนชาวเวียงจันทน์ เรียก "ดอกไม้ไฟน้ำ" เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ไปจนถึงเวลาประมาณ 23.00 น. ของคืนวันออกพรรษา
เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่จะมาชมบั้งไฟพญานาคในช่วงออกพรรษานี้ นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกอบจ.หนองคาย เผยว่า อบจ.หนองคาย จัดทำแผ่นพับเกี่ยวกับการชมบั้งไฟพญานาค และเส้นทางการจราจรทั้งสายหลัก และสายรอง ประมาณ 100,000 แผ่น
พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณการจัดงานในแต่ละพื้นที่ โดยมีศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.หนองคาย นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอข้อมูลที่พัก เส้นทาง และแจ้งอุบัติเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจาก อ.เมือง แล้ว จุดใหญ่อีก 2 จุด ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมบั้งไฟพญานาค ได้แก่ ริมฝั่งแม่น้ำโขง อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี
โดยเฉพาะที่ อ.โพนพิสัย นั้น นพ.สรร สุนทร ธนากุล นายกเทศมนตรีตำบลโพนพิสัย ระบุว่า ชาวบ้านเชื่อกันว่า บริเวณวัดไทย อ.โพนพิสัย เป็นวังพญานาค ในวันออกพรรษาจึงมีพิธีบวงสรวง เปิดประตูสวรรค์ ประตูโลก และประตูเมืองบาดาลเชื่อมถึงกัน เพื่อเป็นพุทธบูชา
ชาวโพนพิสัยเน้นจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มาด้วยศรัทธา จะสัมผัสได้กับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างแท้จริง และยังจัดกิจกรรมเสริม ทั้งการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ยาวไปจนถึงวันที่ 8 พ.ย. รวม 9 วัน 9 คืน
ขณะที่ นายวีระชัยโชค มงคลภูมิรัตน์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศบาลเมืองหนองคาย แม้จะไม่ใช่จุดใหญ่ที่พบเห็นบั้งไฟพญานาค แต่ก็จัดกิจกรรมอื่นๆ ไว้รองรับ โดยเฉพาะการแสดงแสง สี เสียง "เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค" เป็นไฮไลต์สำคัญของงานในแต่ละปี จุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดประวัติของบั้งไฟพญานาคตามความเชื่อของชาวหนองคาย
การแสดงปีนี้จะพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระครบถ้วน สลับกับเทคนิคพิเศษอย่างตระการตา เปิดการแสดงให้ชมค่ำคืนวันที่ 28-29 ต.ค. บริเวณลานวัดศรีบุญเรือง รวมถึงกิจกรรมถนนอาหาร การประกวดธิดา 15 ค่ำ เดือน 11
รวมถึง "ไหลกะโป๋" หรือลอยกะลามะพร้าว นับหมื่นลงในแม่น้ำโขงเป็นพุทธบูชา และชื่นชมความงามของเรือไฟในลำน้ำโขง
ส่วนวันที่ 31 ต.ค. รับวันใหม่ด้วยการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ตามถนนสายต่างๆ ในตัวเมืองหนองคาย ช่วงสายชมการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ปีนี้มีฝีพายจากทั่วประเทศนำเรือเข้าชิงชัย ชมและเชียร์ได้ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงหน้าวัดสิริมหากัจจายน์ หรือชมถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีได้เช่นกัน
ด้านความปลอดภัยและการจัดการจราจร พล.ต.ต.สมยศ พรหมนิ่ม ผบก.หนองคาย ระบุว่าจัดระบบการจราจรทั้งทางร่วม ทางแยก ถนนสายหลัก สายรอง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารถติด และจัดกำลังเจ้าหน้าที่นับพันนายให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่ นางอัจฉพรรณ บุญเจริญ ผอ.ททท.สำนักงานอุดรธานี กล่าวว่า นอกจากกิจกรรมระหว่างรอชมบั้งไฟพญานาคช่วงพลบค่ำแล้ว ช่วงกลางวันนักท่องเที่ยวยังสามารถไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระ 9 ส ในอำเภอต่างๆ ของ จ.หนองคาย เพื่อเสริมสิริมงคลในวันออกพรรษา มั่นใจว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 300,000 คน
สำหรับสถิติการเกิดบั้งไฟพญานาคในปีที่ผ่านมา รวบรวมโดยสำนักงานป้องกันจังหวัดหนองคาย พบว่ามีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นใน อ.เมืองหนองคาย 5 ลูก อ.โพนพิสัย 61 ลูก และ อ.รัตนวาปี 425 ลูก
ออกพรรษาปีนี้ ชาวหนองคายขอเชิญชมความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เพียงครั้งเดียวในรอบปี ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง จ.หนองคาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น