วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน... สักการะรอยพระบาทในหลวง จ.เชียงราย

ได้ยินแว่วๆ จากเพื่อนที่จังหวัดเชียงราย ว่าที่เชียงรายมีสถานที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งนอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ ขึ้นชื่อ นั่นก็คือ ศาลารอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเรา ซึ่งเป็นรอยพระบาทที่มีอยู่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ทำให้เรารู้สึก อยากไปชมให้เป็นบุญตา ในเมื่อเราไม่เคยมีโอกาสได้รับเสด็จพระองค์ท่านเลย อย่างน้อยขอมีโอกาสไปชมรอยพระบาทของพระองค์ก็ยังดี
หลังจากที่เราถึงตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าสู่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ค่ายเม็งรายมหาราชทันที เราเข้าทางประตูด้านหลัง ฝั่งเดียวกับกาดไม้ หรือ ตลาดขายพันธุ์ไม้ ดอกไม้ ภายในค่ายเม็งรายมหาราช เพื่อเข้าไปสู่ศาลารอยพระบาทในหลวงด้านใน ภายในค่ายกว้างขวางมาก เราผ่านแม่น้ำกกที่อยู่ข้างๆ ค่าย ซึ่งยามนี้แลดูน้ำไหลแรง และมีเรือล่องแม่น้ำกก ที่เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้ล่องแม่น้ำกกอย่างใกล้ชิด ขับผ่านตลอดเวลา เราขับรถขึ้นไปเรื่อยๆ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากประตูทางเข้าด้านหลัง จนถึงศาลารอยพระบาทในหลวงด้านบน ซึ่งอยู่บนดอยโหยด และเมื่อขึ้นมาถึงบนดอยแล้ว สามารถมองเห็นวิวด้านล่างได้อย่างสวยงาม เห็นสะพานข้ามแม่น้ำกกอยู่ไกลๆ และเห็นศาลารอยพระบาทในหลวง เด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางภูเขา และแม่น้ำ
ความเป็นมาของรอยพระบาท
เรามาถึงได้มีโอกาสพบกับ พ.อ.ธำรงค์ ถาวร รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย ได้ออกมาให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี พร้อมได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะท่านบอกว่า ท่านก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะเป็นที่มาของศาลารอยพระบาทในหลวงแห่งนี้ พ.อ.ธำรงค์ พาเราเดินไปที่ศาลาที่แสดงแผนที่พื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ก่อการร้ายใน จ.เชียงรายเมื่อปี 2497 ซึ่งพวกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามารุกรานผืนแผ่นดินไทยโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณดอยยาว-ดอยผาหม่น ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเขตงาน 8 ในเขต อ.เทิง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมทั้งพื้นที่ อ.เวียงแก่น และ อ.ขุนตาล ด้วยกองกำลังติดอาวุธของ พคท. ตอนนั้นมีประมาณ 600 คน มีมวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่า ม้งอีกประมาณ 2,300 คน เมื่อมีคนมารุกรานผืนแผ่นดินไทย ทำให้เกิดความหวาดกลัวไปทั่วพื้นที่ ส่งผลให้เกิดแผน
กลยุทธ์การต่อสู้ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้กวาดล้างและทำความสะอาด พื้นที่ดังกล่าวให้จงได้ โดยใช้แผนกลยุทธ์การต่อสู้แบบลุกคืบเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว แล้วชาวบ้านค่อยๆ เข้าพื้นที่เพื่อเข้าไปยืดพื้นที่ ซึ่ง พ.อ.ธำรงค์ ถาวร ในสมัยเป็นทหารหนุ่มไฟแรง ก็เป็นหนึ่งในกองทัพดังกล่าว ที่นำทหารเข้าพื้นที่ โดยมี พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร เป็น ผบ.พัน ในสมัยนั้น ทหารทุกนาย ต่อสู้และเสียสละชีวิตไปจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งแผนกลยุทธ์การต่อสู้ดังกล่าวสำเร็จ ทำให้ พคท.ล่มสลายในที่สุดเมื่อปี 2524 นั่นเอง จากนั้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เพื่อทรงเยี่ยมทหารหาญ และราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิทักษ์ บนสันดอยยาว อ.เทิง จ.เชียงราย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาพระราชทาน ประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ ที่เตรียมไว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญ แก่ทหารกล้าทั้งปวงนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ศาลารอยพระบาทในหลวง
เราเดินออกมาจากศาลาแสดงแผนที่พิกัดทาง ทหาร แล้วเดินไปยังศาลานิทรรศการ รอยพระบาท ที่แสดงเรื่องราว และสิ่งของเครื่องใช้ตอนที่ประทับรอยพระบาทของในหลวง แล้วก็ไปศาลารอยพระบาท ไปชมรอยพระบาทของในหลวงอย่างใกล้ชิด ซึ่ง พ.อ.ธำรงค์ ได้กล่าวว่า ณ เวลานั้น ท่านรู้สึกยินดี รู้สึกปิติที่พระองค์ทรงเสด็จมา ท่านบอกว่าไม่เคยคิดว่า พระองค์จะเสด็จมาในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยขนาดนี้ พระองค์ทรงเสด็จไปในทุกๆ ที่แม้กระทั่งสมรภูมิรบ ทำให้ทหารทุกนาย ชาวบ้านและบรรดา พคท.ที่กลับใจ รู้สึกยินดี ปลาบปลื้ม หาคำพูดไม่ได้จริงๆ การเดินทางมาชมรอยพระบาทในหลวง ไม่เสียค่าเข้าชม ประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางเข้าชมได้เลย ในวันและเวลาราชการ หลังจากที่เราชมรอยพระบาทในหลวงแล้ว เรายังคงเดินทางกันต่อในจังหวัดเชียงราย เพื่อตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริกันต่อ ซึ่งสถานที่ต่อไป ที่เราจะเดินทางไปนั้นก็คือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งติดตามได้ในฉบับต่อไป
ขอขอบคุณ: พ.อ.ธำรงค์ ถาวร รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น