ปลุกกระแสอนุรักษ์ พลับพลึงธาร...ฤา จะถึงกาลอวสาน?
ปลุกกระแสอนุรักษ์ พลับพลึงธาร...ฤา จะถึงกาลอวสาน?


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก โรจนา บุญชูวงศ์
ภาพบรรยากาศสวย ๆ ที่คุ้นตา หากได้แวะเวียนไปเที่ยวคลองนาคา จังหวัดระนอง คือภาพของต้นพลับพลึงธาร ไม้หายากที่เป็นเอกลักษณ์ของคลองแห่งนี้ ชูช่อไสวไปกับสายน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ได้ดื่มด่ำความงามตามธรรมชาติ แต่แล้ววันหนึ่ง..ความงามที่คุ้นตาของต้นพลับพลึงธาร กลับมีอันต้องเลือนลางหายไปอย่างน่าใจหาย จากการคุกคามด้วยน้ำมือมนุษย์..
เรื่องราวการลดจำนวนลงของต้นพลับพลึงธาร ถูกเปิดประเด็นขึ้นโดย โรจนา บุญชูวงศ์ ผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่พร้อมผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย เพื่อสำรวจบริเวณคลองนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง จนพบว่าต้นพลับพลึงธารที่เคยมีอยู่หนาแน่น กลับมีน้อยลงจนแทบไม่เหลือให้เห็น โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากการลักลอบขุดหัวไปขาย และโครงการขุดลอกคลองป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสภาพที่กลุ่มสำรวจได้พบ คือ คลองนาคามีขนาดกว้างขึ้น เนื่องจากตลิ่งพังเสียหาย น้ำในคลองเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้ หิน ดิน ทราย ต่าง ๆ เคลื่อนย้ายที่ เป็นต้น
เมื่อเป็นดังนั้นชาวเน็ตต่างก็ตื่นตัวในการเดินหน้าอนุรักษ์ความงามที่หายากของต้นพลับพลึงธารเอาไว้ ด้วยการบอกต่อและปลูกจิตสำนึกกันอยู่เป็นระยะ โดย คุณ Kingpai สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาบอกต่อ จนเกิดกระแสการอนุรักษ์ต้นพลับพลึงธารไปทั่วอินเทอร์เน็ต แม้จะมีบางเสียงที่แย้งว่า ภาพการลดจำนวนของต้นพลับพลึงธารนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ยังไม่ถึงฤดูออกดอก (เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน) เท่านั้น

หากนับระยะเวลาที่ต้นพลับพลึงธารถูกค้นพบขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 มาจนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. 2555 เป็นเวลาเพียง 40 ปี แต่เจ้าต้นพลับพลึงธาร พืชหายากเฉพาะถิ่นที่จะพบได้ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดระนองและจังหวัดพังงา กลับถูกคุกคามมาตลอดทั้งลักลอบขุดหัวไปขาย รวมถึงการขุดลอกคูคลองโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติที่ทำให้ได้รับผลกระทบหนัก จนมีเหลืออยู่เพียงแค่ 1% เท่านั้น ทำให้ต้องมีการงดการท่องเที่ยวชมต้นพลับพลึงธารออกไปก่อน




โดยข้อมูลสำคัญที่ โรจนา บุญชูวงศ์ ได้นำมาเปิดเผยก็คือ เอกสารตอบกลับการขอความอนุเคราะห์ให้ยับยั้งการขุดลอกคูคลอง ที่ส่งจากกระทรวงมหาดไทย ถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554) ว่าได้แจ้งไปยังจังหวัดระนองและจังหวัดพังงาเพื่อให้ยับยั้งการขุดลอกคูคลองแล้ว แต่ทว่า..หลายเสียงกลับยืนยันว่าการขุดลอกคูคลองยังคงดำเนินอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีกระแสเรียกร้องให้อนุรักษ์เจ้าต้นพลับพลึงธารมากเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่เสียไป ยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นแบบเดิมได้ทั้งหมด และผลกระทบที่ได้รับจากการลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายของต้นพลับพลึงธารก็คือ การขาดรายได้ของคนในชุมชน ที่เคยทำรายได้มากถึง 7 แสนบาทต่อปี จากนักท่องเที่ยวนับพันคนที่แวะเวียนไปเก็บความประทับใจ ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงความว่างเปล่า เพราะไม่มีต้นไม้หายากอย่างพลับพลึงธารให้ชมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้กำหนดให้ต้นพลับพลึงธารจัดอยู่ในประเภทพืชที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมากแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะทำได้ ก็คือการช่วยกันรณรงค์และร่วมมือกันดูแลรักษาต้นพลับพลึงธารที่ยังเหลืออยู่ แม้ความหวังนั้นจะริบหรี่ก็ตามที ..
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น