เชียงคาน เมื่อวานนี้ กับชีวิตช้าๆ ความสุขชิลล์ๆ
'เงียบสงบ เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย'
สำหรับผมอาจหมายถึงที่ไหนสักแห่งในเมืองไทย ที่ใจอยากออกเดินทางไปค้นหา
ไกลพอให้รู้สึกผ่อนคลาย และชิลล์ได้จนไม่รู้สึกเงียบเหงาจนเกินไป
คราวนี้ผมเลือกจะเดินทางตามไปหาสายหมอกในช่วงปลายฝนต้นหนาว
ท่ามกลางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเรียบง่ายน่ารักของผู้คนริมแม่น้ำโขง อ. เชียงคาน จ. เลย เมืองเล็กๆ ที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในยุคนี้ไม่ต่างจากปาย หรือ อัมพวา
สนุก! ท่องเที่ยว ร่วมเดินทางไปกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นิตยสารอะเดย์ a day พานักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวตัวจริงเสียงจริง 40 ชีวิต เดินทางท่องเที่ยวแนวกรีนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด 7 Green Ways(เซเว่นกรีนเวย์) ซึ่ง
จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ ร่วมสัมผัส
ไขคำตอบพร้อมสร้าง 7 วิถีกรีน ท่องเที่ยวแบบใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
โดยเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญที่เข้าร่วมกิจกรรม
ได้มีจิตสำนึกรับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใน
อ.เชียงคาน จ.เลย
ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยก้าวสู่ทิศทาง Going
Green พร้อมหนุ่ม "ฌอห์ณ จินดาโชติ" ตัวแทนคนหนุ่มรุ่นใหม่
ร่วมเดินทางไปสร้างประสบการณ์ดีๆ กับเราในครั้งนี้ด้วย
เมื่อไปถึงเชียงคาน
กิจกรรมแรกที่พวกเราทุกคนร่วมกันทำ นอกจากจะปั่นจักรยานทำบุญ 9 วัด
ในตัวเมืองเชียงคานเมื่อช่วงเช้าแล้ว
ตอนบ่ายเราได้ออกไปเยี่ยมชมกรมประมงจังหวัดเลย ดูแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและกบ
โดยมีเจ้าหน้าทีกรมประมงคอยให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวแบบเป็น
กันเอง
จากนั้นพวกเราก็ออกไปร่วมกิจกรรมปล่อยกบปล่อยปลาฟื้นฟูระบบนิเวศในแปลงนา
พร้อมชม การแสดงผีขนน้ำ
ของชาวบ้านนาซ่าว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณของสัตว์จำพวก วัว ควาย
ที่ตายไป บ้านนาซ่าวจะมีการละเล่นผีขนน้ำในเดือนหกของทุกปี เพื่อขอฝน
จึงเรียกว่า ผีขนน้ำ คือ ขนน้ำมาจากฟ้า
หน้ากากของผีขนน้ำจะทำมาจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้จากต้นตีนเป็ด
ไม้จากต้นนุ่น แล้วทำลวดลาย เป็นหน้าผี พร้อมวาดลวดลายให้น่ากลัวยิ่งขึ้น
แต่ปัจจุบันนิยมนำเศษผ้ามาคลุมชะลอมสำหรับสวมศีรษะ
เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม
บนหน้ากากของผีขนน้ำจะต้องมีลายผักแว่น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าดอกบัวเครือ
เนื่องจากในอดีต ชาวบ้านจะนำผักแว่นมาพันรอบๆ ใบหน้าและศีรษะ
ไม่ใช่การระบายสีเหมือนปัจจุบัน
ยามเย็นพวกเราเดินทางเข้าที่พัก ก่อนชวนกันออกไปทอดน่องเดินเล่นตาม ถนนคนเดินเชียงคาน ชมความงามของบ้านโบราณยามต้องแสงไฟประดับประดาสวยงาม ถนนชายโขงที่เคยเป็นเส้นทางมุ่งหน้าไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ในตอนกลางวันพอ ยามค่ำคืนก็กลายเป็น ถนนคนเดินเชียงคาน
ที่มีร้านค้าขายของที่ระลึกมากมายในราคาไม่แพง
มีทั้งงานไอเดียทันสมัยและของโบราณที่หาชมยาก
ของประดับน่ารักชิ้นเล็กไปจนถึงของตกแต่งบ้านชิ้นใหญ่สวยงาม
ที่คุณสามารถเดินซื้อได้อย่างเพลิดเพลิน และไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกิน
เพราะตลอดเส้นทางเดินเท้าถนนคนเดินเชียงคาน มีร้านอาหารมากมาย
รวมถึงร้านขนมโบราณรสชาติอร่อยและขนมพื้นบ้านที่หากินได้ยากที่นี่ที่เดียว
เข้าร่วมพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญตอนหัวค่ำ
เมื่อ
คืนพวกเรานอนหลับฝันดีมาก อากาศเชียงคานยามฝนตกพรำๆ เย็นสบายตลอดทั้งคืน
เช้านี้เราตื่นกันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อออกไปตักบาตรข้าวเหนียว
ทำบุญรับอรุณยามเช้า ที่ว่ากันว่า
ถ้ามาเชียงคานแล้วไม่ได้ตักบาตรข้าวเหนียว อาจถูกแซวว่า
มาไม่ถึงเชียงคานเอานะ ซึ่งพระสงฆ์ที่เชียงคานจะออกบิณฑบาตรยามเช้า
เวลาประมาณตีห้าครึ่งถึงหกโมงเช้า
โดยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทุกคนจะแต่งตัวกันแบบสุภาพ
คือผู้ชายใส่กางเกงขายาว ส่วนผู้หญิงควรนุ่งผ้าถุง
ไม่ควรใส่กางเกงหรือกระโปรงสั้น
โดยนักท่ิิองเที่ยวสามารถสั่งจองชุดใส่บาตรได้จากที่พักหรือโฮมสเตย์
หรือจะมาซื้อที่ร้านค้าแถวๆ ที่พักก็ได้
การตักบาตรข้าว
เหนียวของคนเชียงคานจะแตกต่างกับการตักบาตรของคนในเมืองที่ใส่ทุกอย่างทั้ง
ข้าวเปล่า ข้าวสาร อาหารแห้ง
หรือแม้กระทั่งใส่ปัจจัยหรือเงินทำบุญลงไปในบาตร แต่สำหรับชาวเชียงคาน
จะใช้เฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้นใส่ลงไปในบาตร ส่วนอาหารอื่นๆ
ชาวบ้านจะนำไปถวายที่วัด ด้วยธรรมเนียมการตักบาตรแบบนี้นี่เอง
นักท่องเที่ยวจึงเรียกว่า การตักบาตข้าวเหนียว
ซี่งกลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองนี้ไปแล้ว
นางพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ นางอัจฉพรรณ บุญเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเลย ร่วมตักบาตรข้าวเหนียวกับนักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียว
เมื่ออิ่มบุญและอิ่มใจจากการตักบาตรข้าว
เหนียวแล้ว พวกเราออกไปหาของอร่อยๆ กินในตัวเมืองเชียงคาน
ที่มีของกินให้เลือกแบบละลานตา
โดยเราเลือกเติมพลังกันที่ร้านข้าวเปียกเส้นซอย 10
ซึ่งนอกจากมีข้าวเปียกเส้นให้ชิมแล้ว ยังมีไข่กะทะ และต้มเลือดหมู
รสชาติแซบๆ ให้ลิ้มลองด้วย หรือหากใครอยากชิมอาหารพื้นถิ่นเชียงคาน อย่าง
‘ตำซั่วด๊องแด๊ง' ซึ่งเป็นส้มตำนี่แหละ
แต่ใส่เส้นขนมจีนที่มีลักษณะพิเศษคือเหมือนเส้นลอดช่องตัวเล็กๆ เรียกว่า
"เส้นด๊องแด๊ง" ก็แซ่บจนวางช้อนไม่ลงเลยทีเดียว
สายๆ พวกเราทุกคนพร้อมใจเดินทางสู่วัดป่าใต้ แล้วร่วมแรงร่วมใจกันประกอบอาหารพื้น
เมืองอร่อยๆ อาทิ ส้มตำ ลายหมู ต้มแซบหมู เพื่อถวายเพลพระในวัด
พร้อมฝากท้องเป็นลูกศิษย์วัดกันหนึ่งมื้อ อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้าทีเดียว
จากนั้นเราก็ออกเดินทางไปหมู่บ้านวัฒนธรรมไทยดำ
ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทดำกลุ่มสุดท้ายที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว
ช่วงสงครามปราบจีนฮ่อ
ชาวบ้านยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีแบบไทดำไว้ได้เป็นอย่างดี นับถือผี
นับถือแถน นอกจากนี้ยังมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง
จะใส่เสื้อผ้าสีดำในวันสำคัญ เช่น วันโฮมไทดำ (ช่วง เม.ย. ของทุกปี)ด
โดยพวกเราได้เยี่ยมชมหัตถรรมพื้นบ้านและการแสดงพื้นบ้านของชาวไทดำ
ก่อนแบ่งกลุ่มเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยดำ
พร้อมฟังตำนานเรื่องเล่าและความเชื่อของตุ้มนกตุ้มหนู
เครื่องรางของขลังของชาวไทยดำ ที่เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดี
ช่วยนำพาสิ่งมงคลมาสู่ชีวิต
นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องบรรณาการให้แก่ภูติผีที่ช่วยปกป้องรักษาชีวิตผู้
คน อีกทั้งยังช่วยให้พลังแก่พ่อหมอที่รักษาโรคให้กับคนในชุมชนด้วย
ซึ่งพวกเรายังได้นั่งล้อมวงเรียนรู้การทำตุ้มนกตุ้มหนูเป็นของที่ระลึกกลับ
บ้านด้วย
เช้าวันสุดท้าย พวกเรามีโปรแกรมไปเที่ยว
ภูทอก จุด
ชมวิวที่ขึ้นชื่อที่สุดของเชียงคาน
โดยเฉพาะช่วงเช้าจะมีทะเลหมอกขาวปกคลุมเกือบทั้งเทือกเขา
ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์อย่างเต็มปอด พร้อมดื่มด่ำกับบรรยากาศที่แสนสดชื่น
และยังสามารถชมวิวพระอาทิตย์ได้ทั้งขึ้นและตก เรียกได้ว่า
สวยงามไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวใดๆ ในเมืองไทยเลยทีเดียว
ซึ่งเราออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง
โดยใช้เวลาไม่นานนักก็ไปถึงยอดภูทอก
อากาศบนภูทอกนั้นเย็นสบายมาก
และมีพื้นที่กว้างพอสมควรให้นักท่องเที่ยวยืนชมทะเลหมอก
ท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อนและวิวแม่น้ำโขงได้สุดสายตา
นักท่องเที่ยวหลายคนใช้ช่วงเวลานี้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพกันเป็นที่ระลึก
ทั้งหมู่และเดี่ยว รอจนกระทั่งพระอาทิตย์อุ่นขึ้นมาอีกหน่อย
เราจึงโบกมือลาภูทอกกลับไปตัวเมืองเชียงคานเพื่อแวะซื้อของฝาก
แวะเติมพลังมื้อเช้าด้วย
‘ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว'
ลักษณะเป็นขนมจีนใส่เครื่องในแล้วใส่น้ำซุปคล้ายๆ กับต้มเลือดหมู
มีเครื่องเคียงเป็นผักสดท้องถิ่นจิ้มกับกะปิ
บางคนอาจนำข้าวเหนียวที่เหลือจากการใส่บาตรมากินร่วมด้วยก็อร่อยดีไปอีกแบบ
ก็อร่อยดี
ปิดท้ายทริปนี้ เราไปตะลุยชอปและชมการทำ
ข้าวหลามยาวซอย 0
ถือเป็นของฝากขึ้นชื่อของชาวเชียงคาน รสชาติหอมหวานอร่อย
ต่างจากข้าวหลามแห่งอื่นๆ
โดยในอดีตนั้นหากจะเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องก็มักมีข้าวหลามยาวติดไม้ติด
มือไปฝากด้วยเสมอ ซึ่งข้าวหลามยาวนั้นใช้ไม้ไผ่กาบแดง
เป็นไม้ไผ่ชนิดพิเศษที่มีความยาวกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่นๆ
พวกเราได้เข้าชมกรรมวิธีการทำข้าวหลามยาวและไม่ลืมซื้อเป็นของฝากกลับไปฝาก
เพื่อนๆ กันด้วย
ความวุ่นวายต่างๆ
ในสังคมเมืองทุกวันนี้มีมากมายเหลือเกิน เวลาเดินเร็วขึ้นทุกขณะ
ยังไม่ทันทำอะไรก็หมดเวลาอีกแล้ว หมดเวลากับการเดินทาง การรอคิวซื้ออาหาร
ฯลฯ แต่จะมีที่ไหนเล่า...ที่จะให้เราได้ใช้เวลาคุ้มค่ากับ 1 วัน ที่มี 24
ชั่วโมง ให้เราได้นั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดอย่างเย็นใจ
ได้สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด ได้ใช้ชีวิตกับตัวเองมากขึ้น
นี่คือเสน่ห์ของเมืองเชียงคาน เมืองเงียบๆ กับชีวิตง่ายๆ
ที่ทุกคนต้องลองไปสัมผัสสักครั้ง
ชวนเที่ยวสีเขียวแนวกรีน ‘7 Green Ways'
รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวสีเขียวแนวกรีน ‘7 Green
Ways'ไม่ได้หยุดอยู่แค่การไปแล้วกลับ
แต่จะเป็นการต่อยอดรวมพลังคนรุ่นใหม่ทำสารคดีสั้น
ซึ่งจะรวบรวมภาพถ่ายในอดีตและปัจจุบันของเชียงคานมาร้อยเรียงต่อกัน
พร้อมเก็บความรู้สึกของผู้คนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว ในประเด็น
‘เชียงคานเมื่อวานนี้' ที่สำคัญร่วมถอดรหัส ‘7 Green Ways' ของเชียงคาน
โดยเผยแพร่ผ่านช่องทาง Youtube และ Social media
เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วประเทศ
ยึดเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแนวกรีนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
พร้อมสร้างวิธีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว
รวมถึงศิลปวัฒนธรรม
และวิถีชุมชนรอบตัวให้คงความสวยงามตามธรรมชาติและคงอยู่ตลอดไป
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ททท.
ได้มุ่งมั่นกับบทบาทและภารกิจหลักสำคัญด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่อง
เที่ยวของประเทศ
ควบคู่กับการส่งเสริมและรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแนวทางที่ถูกต้อง
เหมาะสม ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ วัฒนธรรม
และวิถีชีวิตของผู้คน ชุมชน
ในบริเวณโดยรอบที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งท่องเที่ยว
โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในที่สุด
ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะมีผลโดยตรงต่อวงจรชีวิตของแหล่งท่องเที่ยว (Product
life cycle) ที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ
จะคงรักษาระดับความนิยมและสามารถแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ
ได้อย่างยาวนาน โดยในปี 2555
ททท.จึงได้กำหนดกลยุทธ์รณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรู้ค่า
รักษาแหล่งท่องเที่ยว โดยยกเอาพื้นที่หลักของภาคต่างๆ
ที่อยู่ในกระแสความนิยมเป็นพื้นที่นำร่องในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้า
ประสงค์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบ
ไป รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมเริ่มต้นทำสิ่งดีดีให้กับโลกน่ารักใบนี้
เริ่มต้นที่ตัวเรา เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด...ขอให้เที่ยวให้สนุก และเที่ยวอย่างมีสามัญสำนึกที่ดี...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น