วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พบสุสานราชินีเผ่ามายา ในกัวเตมาลา



พบสุสานราชินีเผ่ามายา ในกัวเตมาลา

พบสุสานราชินีเผ่ามายา ในกัวเตมาลา
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  eltiempo.com

          เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เว็บไซต์เทเลกราฟของอังกฤษ รายงานว่า คณะนักโบราณคดีชาวอเมริกันและกัวเตมาลา เปิดเผยการค้นพบสุสานของราชินีแห่งชนเผ่ามายาทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา เชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้จะนำไปสู่การค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสตรีในสมัยอาณาจักรมายา

พบสุสานราชินีเผ่ามายา ในกัวเตมาลา

          โดยทีมนักโบราณคดีชาวสหรัฐฯ และกัวเตมาลา นำโดยนายเดวิด ไฟรเดล นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยว่า ทีม นักโบราณคดี พบโหลหิน เศษภาชนะเซรามิก หยก ดาบที่ตีจากหินภูเขาไฟ และหินแกะสลักลวดลายต่าง ๆ บริเวณสุสานแห่งหนึ่ง ในเมืองเอล เปรู - วากา (El Peru-Waka) ทางตอนเหนือของกรุงกัวเตมาลาซิตี้ จึงสันนิษฐานว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ฝังพระศพของราชินี เคเอเบล (Lady K'abel) จอมทัพหญิงผู้ปกครองอาณาจักรมายาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7

พบสุสานราชินีเผ่ามายา ในกัวเตมาลา

          นอกจากนี้ ยังมีตัวอักษรไฮโรกลิฟ (Hieroglyph) สลักอยู่ที่ด้านหลังของเหยือกหินอะลาบาสเตอร์ แสดงชื่อ Lady Snake Lord และ Lady Water Lily โดยนักโบราณคดีเชื่อว่า สิ่งของ ข้าวของเครื่องใช้ ที่พบอยู่นั้นน่าจะถูกฝังพร้อมกับร่างราชินีเคเอเบลลึกลงไป 11 เมตรใต้ดิน และเป็นตำแหน่งพิเศษที่คนธรรมดาจะถูกฝังที่นี่ไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่า ประชาชน ในตอนนั้นเป็นผู้ฝังเธอในตำแหน่งสำคัญของเมือง นั่นหมายความว่า ประชาชนยังคงมาเคารพสักการะเธออยู่ แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตแล้วหรือราชวงศ์จะล่มสลายไปแล้วก็ตาม

          ทั้งนี้ ลักษณะของสุสาน ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ภายใน สื่อให้เห็นว่า สตรี ผู้นี้มีอำนาจปกครองอาณาจักรวาการ่วมกับพระราชสวามี คือ พระราชา เคอินอิช บาห์ลาม (K'inich Bahlam) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 และยังเป็นผู้นำกองกำลังของอาณาจักร โดยมีคำนำหน้าชื่อว่า "คาลูมเต" ( Kaloomte ) หมายความว่า นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี เหล่านักโบราณคดีอยู่ระหว่างการศึกษา และวิเคราะห์บทบาทของราชินีเคเอเบลในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ว่ามีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมใด ๆ ต่อระบบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น