เจาะเบื้องลึก "น้ำท่วม กทม." หลายปัจจัยที่ยังไร้การควบคุม
วันศุกร์ ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555, 02.00 น.
“กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทยที่มีอายุกว่า 200
ปี
และเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าต้องมาเยือนให้
ได้สักครั้งในชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า กทม.มีประชากรมากกว่า 14
ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้มีที่อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านอย่างเป็นทางการราว 8
ล้านคน ส่วนที่เหลือเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนหนังสือ
หรือประกอบอาชีพแต่ชื่อนั้นยังอยู่ในภูมิลำเนาเดิมมหาอุทกภัย 2554 เป็นฝันร้ายของชาวเมืองหลวงในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่เหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2526 ซึ่งอุทกภัยครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายกับภาคธุรกิจและชุมชนเท่า นั้น อีกด้านหนึ่งมันได้ทำให้เกิดความขัดแย้งไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็น กทม. กับปริมณฑล , กทม. ชั้นในกับชั้นนอก หรือ กทม. ฝั่งตะวันออกกับตะวันตก และวันนี้จากปรากฏการณ์ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาทั่วภาคกลาง พร้อมทั้งน้ำท่วมขังในถนนหลายสาย ชาวเมืองหลวงจึงตกอยู่ในสภาพขวัญผวาอีกครั้ง วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปฟังเสียงจากผู้ที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อฟังจบแล้ว บางทีชาวเมืองหลวงอาจจะต้อง “คิด” ให้มากกว่าเดิมก็เป็นได้
ปีนี้สาเหตุอยู่ที่ “ฝน”
“ฝนตกปีที่แล้วกับปีนี้ไม่เหมือนกัน คือปีนี้ฝนตกใต้เขื่อนมาก อย่างที่บางบาล อยุธยา ถ้ามีพายุเข้าอีก ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะท่วมไปถึงปลายๆ พฤศจิกายน ส่วนน้ำเหนือเขื่อน ปีที่แล้วมีน้ำท่วมพื้นที่กว่า 1 หมื่นตารางกิโลเมตร แต่ปีนี้มีแค่พันกว่าตารางกิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นเรื่องน้ำเหนือตัดทิ้งได้เลย แม้วันนี้จะมีพายุเข้าอีก 2 ลูกก็ตาม” เป็นคำอธิบายจาก รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแนวโน้มของการเกิดน้ำท่วมในปีนี้ โดย อ.สุจริต กล่าวว่าปีนี้รัฐบาลห่วงเรื่องน้ำล้นเขื่อน ทำให้เร่งระบายน้ำออกไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่าฝนระลอกใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ล้วนเกิดใต้แนวเขื่อนทั้งสิ้น จนเกษตรกรเหนือเขื่อนเริ่มกลัวกันว่าปีหน้าอาจจะไม่มีน้ำทำนา และหลายจังหวัดอาจประสบภัยแล้ง
ส่วนเหตุที่ กทม. ปีนี้เกิดน้ำท่วมขังตามจุดต่างๆ แม้จะไม่มากเท่าปีก่อน แต่ก็สร้างความเดือดร้อนได้พอสมควร โดยเฉพาะหากน้ำท่วมบนถนน สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือการจราจรกลายเป็นอัมพาต ซึ่งสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่ตกเกินกว่าที่ท่อระบายน้ำของ กทม. จะรับได้ กล่าวคือระบบท่อระบายน้ำทุกวันนี้ รับน้ำได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ฝนที่ตกอยู่ในขณะนี้นั้นมีปริมาณราวๆ 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่น้ำจะท่วมเพราะระบายไม่ทัน
“ระบบท่อเป็นมาแบบนี้ก็ 20 ปีแล้ว ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือเร่งสูบน้ำลงคลอง อย่างไรก็ตามนั้นตอนนี้ กทม. ไปทำอุโมงค์ 2 จุด คือที่คลองตันกับแถวๆ บึงมักกะสัน ใช้งบไป 3 พันล้าน ดูดได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อันนี้เป็นทางลัดในการสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นที่ถามกันว่าทำไมน้ำท่วมกรุงเทพ ฝนคือปัญหาหลักตอนนี้ กรมอุตุคาดว่าหน้าฝนปีนี้จะไปถึงปลายตุลา แทนที่จะเป็นปลายกันยา อีกอย่างคือคลองแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เล็กบ้างใหญ่บ้าง เลยต้องมีทีมเฉพาะกิจสูบน้ำจากท่อลงคลอง หรือจากถนนลงคลอง” อ.สุจริต กล่าว พร้อมกับมองว่าฤดูฝนที่แท้จริงของปีนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เพราะแนวฝนจากฟิลิปปินส์ยังส่งผลต่อประเทศไทย จากภาคอีสานเข้าสู่ภาคกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วปกติตามฤดูกาล มันควรจะลงไปทางใต้ได้แล้ว รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ คือ กทม. ยังมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากทำให้พื้นทีเก็บน้ำลดลงประกอบกับภาวะอากาศ แปรปรวน (Climate Change) ทำให้ปริมาณฝนเข้มข้นขึ้น
“คน” ปัจจัยชี้ขาดอนาคต กทม.
นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักระบายน้ำ กทม. อธิบาย ถึงสภาพภูมิประเทศของ กทม. ไว้ว่า กทม. นั้นเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ดังนั้นถ้ามีปัจจัยหนุน 3 อย่าง คือน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนพร้อมกันก็ถือว่าลำบาก แต่ถ้ามาไม่ครบ ก็ยังพอรับมือได้ ขณะที่อีกสาเหตุคือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ กทม. ทำให้พื้นดิน หรือที่ว่างๆ สำหรับเก็บน้ำ กลายเป็นพื้นคอนกรีตไปหมด ทำให้ไม่มีที่พักน้ำและพื้นคอนกรีตน้ำซึมได้ไม่ดี ขณะที่ระบบท่อนั้น ทาง กทม. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามจะเพิ่มจาก 60 มิลลิเมตรเป็น 80 มิลลิเมตร ถึงกระนั้นก็ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร
“ระยะทางของท่อทั้งหมด 6,400 กิโลเมตร คุณไปกลับกรุงเทพ-เชียงใหม่กี่รอบครับ คิดดูว่ามันต้องใช้งบขนาดไหน แต่คน กทม. ทนไมได้ ท่วมนิดก็โวยแล้ว เมื่อก่อนท่วมเป็นวันๆ ไม่เป็นไร แต่ก็เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องรถติด อย่างตอนนี้หลักๆ คือเราเร่งปรับปรุงท่อช่วงที่จะลงคลองก่อนพร้อมๆ กับปรับปรุงคลองให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น”
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาสำคัญยังมาจาก “คน” ประการแรกคือข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ต้องการให้น้ำเข้า กทม. โดยคุณกังวาฬกล่าวว่าปีที่แล้ว ระดับน้ำทะเลสูงสุดวัดที่สะพานพุทธ อยู่ที่ 2.53 เมตร และพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. มีระดับความสูงไม่เท่ากัน อย่างหน้า ม.รามคำแหง (บางกะปิ) อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 0.20 เมตร ถ้าน้ำท่วมก็จะเท่ากับ 2.73 เมตร ขณะที่พื้นที่อื่นๆ อาจจะท่วมเฉลี่ย 1.50 เมตร ซึ่งถ้า กทม. ไม่กั้นน้ำ ความเสียหายคงไม่อาจประเมินได้
“แถวรามคำแหง ลบ 0.2 ถ้าท่วม ก็ 2.73 คิดดูเลยหัวท่านไปเกือบเมตร ถ้า กทม. ไม่ทำคั้นกั้นน้ำตั้งแต่ 10 ปีก่อน ท่วมกันอย่างต่ำ 1.50 เมตร อยู่กันยังไงครับ กทม. มีคนอยู่ 7 ล้าน 8 ล้านคน จะอพยพยังไง บอกว่าเปิดมาเลยปล่อยมาเลย นี่ไม่นับคนที่ยังไม่มีทะเบียนใน กทม.นะ รวมแล้วก็สัก 10 ล้านคน คุณมีที่อยู่ ที่กิน ทำอาหารให้เขาได้ไหม โรง พยาบาลใน กทม. มีกี่แห่ง คิดหรือเปล่าครับ เรื่องเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว สาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ถนนหนทางไม่ต้องพูด ต้องซ่อมหมด ปีที่แล้วเสียหาย 1.44 ล้าน แต่ถ้าปล่อยมาหมด ท่วมกันเมตรห้าสิบ ก็ไม่จะคิดยังไง ก็หมดทั้งระบบ ก็เป็นเมืองร้าง แล้วจะอยู่กันยังไง หน่วยงานรัฐก็ต้องหยุดหมด น้ำท่วมไม่มีคนมาทำงาน แล้วใครจะช่วยใคร ตรงกันข้าม คุณข้ามคันเข้ามา กทม. ยังจับจ่ายใช้สอย ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ไม่ดีกว่าหรือ”
ปัญหาเกี่ยวกับคนอีกประการหนึ่ง คือการขวางทางเดินของน้ำโดยความมักง่ายของคน ไม่ว่าจะเป็นการโยนเศษหินลงท่อระบายน้ำโดยผู้รับเหมาที่มาขุด เจาะพื้นที่บริเวณใกล้ท่อระบายน้ำ รวมไปถึงการทิ้งเศษขยะลงสู่ลำคลอง ทั้งนี้ยังไม่นับบ้านที่รุกล้ำทางน้ำอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณกังวาฬยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแสการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองของ กทม. ไม่ว่าผู้ว่าฯ หรือ สก. สข. ทุกยุคสมัยมักจะเห็นแก่ฐานเสียงมวลชน มากกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายเสมอ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีมติ ครม. ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าไปวางนโยบายในการหาที่อยู่ใหม่แก่ชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่คลองดังกล่าว แล้ว
“เราไม่มีการใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด ทิ้งขยะก็ลงคลอง น้ำเสียก็ลงคลอง เราทำแทบตาย พวกนี้ก็ปล่อยขยะ ไม่รู้วันๆ กี่ตัน ตู้เย็นก็มี เตียงก็มี มาทั้งหลังเลย ผมว่ามันไม่ใช่นะ ไปดูญี่ปุ่นยังไม่มีเลย นี่บ้านเรา โต๊ะ ยางรถยนต์ ลงมาหมดในคลอง ไปดูได้เวลาพวกเราเก็บขยะกันที่สถานีสูบน้ำ อย่างที่พระโขนง มันไม่สนใจว่า บ้านเมืองจะเป็นยังไง ทิ้งได้ทิ้งหมด อีกเรื่องคือการใช้ผังเมือง คือผังเมืองมันมีระยะเวลา พอหมดระยะเวลาแล้วยังไม่ได้ต่อเวลาใหม่ ช่วงนี้เป็นช่องว่างให้คนเข้าไปจับจองพื้นที่ อย่างพื้นที่ไหนเคยจดไม่ได้ พอผังเมืองหมดปุ๊บ พวกนี้เข้าไปขออนุญาต ก็ต้องให้ เพราะเป็นช่วงไม่มีกฏหมายควบคุม ช่องว่างไม่กี่เดือนนี่ล่ะครับ กรณีนี้ไม่ใช่คนจน คนรวยทั้งนั้น อย่างตรงไหนที่เป็นโรงงานไม่ได้ พอเกิดช่องว่างตรงนี้ก็รีบไปขอเลย ก็ไปกีดขวางทางน้ำ หมู่บ้านจัดสรรทั้งหลายก็เช่นกัน ไปดู Flood Way นอกคันสิครับ หมู่บ้านเกิดเยอะมาก พวกนี้ใช้ช่วงนี้แหละครับไปขออนุญาต” คุณกังวาฬกล่าวทิ้งท้าย
ปัญหาน้ำท่วม กทม. แม้จะมีสาเหตุมาจากลมฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝนตกเหนือเขื่อน ใต้เขื่อน พายุ หรือน้ำทะเลหนุน สิ่งเหล่านี้เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่สิ่งที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ก็คงต้องอยู่ที่วิธีการใช้ชีวิตของชาว กทม. ไม่ว่าขาประจำหรือขาจร ที่ต้องมีวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้กี่รัฐบาล หรือกี่ผู้ว่า กทม. หรือจะใช้งบประมาณมหาศาลแค่ไหน ก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
“กฏแห่งกรรม” ทำอะไรไว้ย่อมได้ผลเช่นนั้น...วันนี้ ชาว กทม. รับรู้หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น