ที่นี่ร่วมสมัย
รื่นรมย์
พุกาม..วันนี้
อย่าง
ที่เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้ คนต่างแดนเข้าไปท่องเที่ยวในพม่าหรือเมียนมาร์
เป็นทัวร์แสวงบุญตามศาสนสถาน เจดีย์วัดชื่อดังเป็นเสียส่วนใหญ่
ซึ่งรวมไปถึงคนที่ชอบดื่มด่ำโบราณสถานมักไม่พลาดโปรแกรมเจดีย์สี่พันองค์
แห่งพุกามเป็นแน่
แต่จะเข้าสำนวน “ได้เห็นเจดีย์แห่งพุกามก่อนตายหรือไม่นั้น” มิรู้ได้
เจดีย์สี่พันองค์ เป็นไฮไลต์ของการท่องเที่ยวเมืองพุกาม (Bagan)
อย่างแท้จริง ยิ่งเมื่อได้ขึ้นไปบนชั้นฐานสุดของเจดีย์ชเวสันดอ (Shweandaw
Pagoda) อันเป็นจุดชมวิว 360
องศาก็แลเห็นเจดีย์ใหญ่น้อยแทรกอยู่วางกลางดงไม้และผืนทราย
กินอาณาเขตกว้างไกลจากฝั่งหนึ่งไปจรดถึงริมแม่น้ำอิรวดี (Ayeyarwaddy
River) บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของเจดีย์จำนวนมากที่ได้รับสมญานามดังกล่าว
ทั้งบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในพม่าได้เป็นอย่างดี
ดังที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะขนานนามเมืองพุกามนี้ว่าเป็นอู่อารยธรรมของ
ประเทศ
ร่องรอยของอาณาจักโบราณพุกาม (พ.ศ. 1587–1830) แห่งการสถาปนาของพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. 1587-1620) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม
วันนี้เหลือเพียงกำแพงเมืองด้านในและด้านตะวันออก
พอเป็นแค่ประจักษ์พยานของความยิ่งใหญ่ในอดีต
ก่อนที่ล่มสลายภายหลังกองทัพมองโกลนำโดยกุ๊บไลข่าน (Kublai Khan)
เข้าตีทำลายในปี พ.ศ. 1830 ถึงกระนั้น
สถาปัตยกรรมสถูปเจดีย์ชเวสิกองที่สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ
(สร้างเสร็จในสมัยพระราชโอรส คือพระเจ้ากยันสิตถา) ยังคงตั้งตระหง่าน
รวมทั้งเจดีย์อนันดา เจดีย์สัพพัญญู วิหารติโลมินโล และองค์อื่นๆ
กล่าวกันว่า ในสมัยอาณาจักรพุกามรุ่งเรือง
ความศรัทธาในพุทธศาสนานั้นมีมากเหลือคณานับ บรรดาเหล่าขุนนาง อำมาตย์
แข่งกันสร้างเจดีย์ เพื่อสิริมงคล เสริมบารมี เพื่อสืบทอดพุทธศาสนา
และเพื่อศิลปะวิทยาการ มีมากกว่า 10,000 องค์
ซึ่งภายหลังเจดีย์จำนวนมากมีการผุผังไปตามกาลเวลา (มีการสำรวจเหลือประมาณ
2,200 กว่าองค์) อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3ปีมานี่
รัฐบาลพม่าได้เปิดทางให้บรรดากองทุนโบราณคดีจากประเทศต่างๆ
เข้าไปดำเนินการบูรณะ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนฯ อิตาลี จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
นัยว่าการบูรณะเจดีย์แห่งพุกามนี้
เพื่อเตรียมความพร้อมเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม หลังจากที่ชื่อ Bagan
Archaeological Area and Monuments อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative
List ) ของศูนย์มรดกโลก ยูเนสโกมาเป็นเวลา 18 ปี
หรือหลังจากที่พม่าเข้าร่วมภาคีอนุสัญญามรดกโลกมาแต่ปี 2537
และอีกสองปีถัดมามีการเสนอชื่อนี้ (และอีก 7
แหล่งมรดกอยู่ในบัญชีรายชื่อข้างต้น)
ทว่ารัฐบาลพม่าในร่างทหารเวลานั้นถูกยูเนสโกเมิน
ต่างกับปัจจุบันที่ให้ความสนใจ มิเช่นนั้นแล้ว Irina Bokova
ผู้อำนวยการยูเนสโกคงมิลงทุนเดินทางมาดูเจดีย์พุกามด้วยตาตนเอง (8 ส.ค.
2555)
สอดรับกับมุมมองคุณวีระ โรจน์พจนรัตน์
อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยก็เคยเดินทางเข้าร่วมหารือกับ Oo Lwin
อธิบดีกรมโบราณคดีฯ เมื่อไม่นานมานี้ “พม่ามีแผนจะเสนอเมือง Pyu
ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในปีหน้า ถัดจากนั้นจะเสนอ Bagan เจดีย์พุกามตามลำดับ”
กระนั้น แวดวงนักประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดีก็วิตก Bagan
จะเป็นมรดกโลกได้จริงหรือ
เนื่องจากเจดีย์ที่เป็นของแท้ดั้งเดิมมีเหลืออยู่ไม่มาก
(เท่าที่สายตาเห็นเมื่อนั่งรถผ่าน
มีการบูรณะและสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ทั้งองค์ตามร่องรอยหลักฐานเดิม
เป็นเจดีย์ขนาดย่อม) ประกอบกับมีชุมชนใหม่แทรกลงอยู่ชั้นในโบราณสถาน (Core
Zone) เป็นหย่อมๆ และพื้นที่กันชน (Buffer Zone) รอบๆ
มีการพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับการท่องเที่ยว
ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลพม่าก็ตระหนักดีถึงปัญหา จึงหาทางแก้ไขก่อนเสนอ Bagan
เป็นมรดกโลก
แน่นอน วันนี้เจดีย์แห่งพุกาม สถาปัตยกรรมคุณค่ายุคโลกโบราณร่วม 2,000 ปี
ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ร้อนแรงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
บันทึกภาพกลางหน้าฝน 8 กันยายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น