วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำงาน, วันศุกร์, ไม่บาป

วันพฤหัสบดี ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2555, 21.03 น.

วันที่ 4 ตุลาคม นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ส่งหนังสือตอบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงกรณีการทำงานในวันศุกร์ของมุสลิม เพื่อให้เกิดความกระจ่างและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมุสลิมและประชาชนทั่วไป ภายหลังจากที่ ศอ.บต.ได้ทำหนังสือด่วนสอบถามกรณีเกิดกระแสข่มขู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้ามประชาชนทำงานหรือเปิดร้านขายของในวันศุกร์ จนทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.ย.2555) ประชาชนในพื้นที่ไม่กล้าประกอบอาชีพค้าขายเพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย
โดยหนังสือของจุฬาราชมนตรีมีความยาว 3 หน้ากระดาษ สรุปว่า การทำงานในวันศุกร์มิได้ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลาม เพราะการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพเป็นสิ่งที่อิสลามให้ความสำคัญ เป็นอย่างสูง เนื่องจากการดำรงชีพโดยมุ่งสู่เป้าหมายที่องค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าทรง กำหนดนั้น เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น และสามารถทำหน้าที่เพื่ออัลลอฮ์ได้โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ใด ผู้ทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยอาชีพสุจริตจึง เป็นผู้ประเสริฐ

"เมื่อคนเราต้องบริโภคทุกวัน อิสลามจึงไม่ห้ามที่จะทำงานทุกวัน แม้วันนั้นจะเป็นวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ก็ตาม สิ่งที่อิสลามบัญญัติก็คือบุคคลต้องไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานหารายได้ มากกว่าการประกอบพิธีละหมาดญุมอะฮ์ (ละหมาดวันศุกร์) ถวายเป็นอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า" หนังสือของนายอาศิสระบุตอนหนึ่ง

ภายในหลังสือดังกล่าว จุฬาราชมนตรียังได้ยกพระดำรัสแห่งอัลลอฮ์ ซูรอฮ์ (โองการ) อัลญุมุอะฮ์ อายะฮ์ที่ 9-10 ความว่า "ดูกรผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเสียงเรียกร้องสู่การละหมาดดังขึ้นในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงยุติการซื้อขายเสีย นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” และ "ครั้นเมื่อการประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นลง พวกเจ้าก็จงกระจายไปในแผ่นดินเถิด จงแสวงหาคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ (ทำงานหารายได้) และจงรำลึกถึงพระองค์ให้มาก เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสำเร็จ"

หนังสือของจุฬาราชมนตรี ยังระบุอีกว่า ฉะนั้นแม้จะเป็นวันศุกร์ แต่อัลลอฮ์ก็ยังส่งเสริมให้ทำงานเพื่อแสวงหาคุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้ ให้ สิ่งที่ผู้ทำงานทุกคนต้องรำลึกอยู่เสมอก็คือ เมื่อได้ยินเสียงอะซานเรียกร้องสู่การละหมาด งานทุกอย่างต้องยุติลง และบุคคลต้องเตรียมตัวไปละหมาดอย่างรีบเร่ง ครั้นเมื่อละหมาดเสร็จสิ้นแล้วก็รีบไปทำงานต่อ โดยมีจิตรำลึกอยู่เสมอว่าโภคปัจจัยที่ได้มาล้วนเป็นคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ทั้ง สิ้น
"ดังนั้นการข่มขู่ให้สุจริตชนหยุดทำงานในวันศุกร์ นับเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นการแอบอ้างศาสนาอิสลามเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างมิชอบ และเป็นการกระทำที่อยู่นอกกรอบแนวทางของอัลลอฮ์อย่างสิ้นเชิง" หนังสือสรุปในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น