วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระราชวังจันทรเกษม



บูรพา  โชติช่วง



 
พระราชวังจันทรเกษม
มัณฑนศิลป์ไทย – จีนยุคสุดท้าย
     พระราชวังจันทรเกษม โบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ราวพ.ศ. 2120 ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา
    พระราชวัง หลังนี้ เป็นที่ประทับของวังหน้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (เวลาเสด็จมากรุงศรีอยุธยา ครั้งทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก) นอกจากนี้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชที่สำคัญองค์อื่นๆ
    พระราชวัง จันทรเกษม เดิมเรียกว่า วังจันทรบวร หรือพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีพระราชดำริให้ซ่อมแซมวังหลังนี้ เมื่อพ.ศ. 2394 เพื่อเป็นที่ประทับในเวลาเสด็จประพาสกรุงเก่า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาสิริธรรมเจ้าเมืองกรุงเก่าในเวลานั้นเป็นผู้ดูแลการซ่อมแซม เริ่มก่อสร้างกำแพงพระราชวังในปี 2400 พระองค์ได้เสด็จฯ ขึ้นไปทอดพระเนตรการบูรณะในปี 2401
    ในปี พ.ศ. 2403 มีพระราชดำริให้ขุดสระน้ำ ทำน้ำพุ และสร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นมาใหม่ตามร่องรอยของแนวฐานอาคารเดิม (มีฐานรากของพระราชมณเฑียรที่เคยเป็นท้องพระโรง พระวิมาน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ, อ้างหนังสือสมุดภาพงานมัณฑนศิลป์ เล่ม 1 สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร)
    ในปี พ.ศ. 2404 โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์เป็นแม่กองในการดูแลก่อสร้างพระตำหนักและพลับพลา ที่ประทับ ได้พระราชทานนามพระราชวังนี้ว่า วังจันทรเกษม และได้เสด็จฯ มาประทับที่พระราชวังนี้อยู่หลายครั้ง
    หมู่อาคารและพลับพลาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้
    1.พลับพลาจัตุรมุข อาคารเครื่องไม้ที่สร้างขึ้นบนฐานพระที่นั่งองค์เดิม บริเวณประตูทิศเหนือ
    2.หมู่อาคารพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง
    3.พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) อยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
    4.โรงละคร อยู่บริเวณด้านหน้าพลับพลาจัตุรมุข
    5.ห้องเครื่อง อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่อาคารพระที่นั่งพิมานรัตยา
    6.ตึกโรงม้าพระที่นั่ง อยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
    “พลับพลาจัตุรมุขได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และในปี พ.ศ. 2469 สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ซ่อม ได้รื้อตัวพลับพลาหมดทั้งหลัง เสา รอด ตง ขื่อ หล่อเฟโรคอนกรีตแทนของเดิม หน้าบันทั้ง 6 ลายปูนปั้นของเดิมชำรุดเปลี่ยนเป็นลายไม้แกะสลัก เป็นการรักษาเอกลักษณ์ของพลับพลาจัตุรมุขที่มีความหมายสำคัญไว้ หลังคากระเบื้องกาบกล้วย ปั้นปูนทับเป็นแนว ฝ้าเพดานไม้ทาสีแดง ผนังพลับพลาเป็นไม้ลายลูกฟัก ปัจจุบันทาสีชมพู พระทวารเป็นบานไม้แบบไทย พระบัญชรเป็นบานเพี้ยม ที่หย่องพระบัญชรสลักลายเครือเถา เป็นงานมัณฑนศิลป์ฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ที่งดงามอ่อนช้อย มีช่องลมไม้ฉลุลายแก้วชิงดวงอิทธิพลศิลปะจีน อากาศถ่ายเทได้ดี พื้นพลับพลาเป็นไม้ ภายในเย็นสบาย
    พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ “ที่ว่ามณฑล” ..ปัจจุบันพลับพลาหลังนี้เป็นที่เก็บรักษาเครื่องราชูปโภคของใช้ส่วนพระองค์ ของรัชกาลที่ 4” (อ้างแล้ว)
    สำหรับพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน วางผังแบบหมู่เรือนไทย รูปทรงภายนอกเป็นแบบยุโรป แต่ภายในดัดแปลงตามประโยชน์ใช้สอยแบบไทย ส่วนโรงละคร เป็นอาคารทรงปั้นหยา เป็นที่แสดงโขนละคร ในเวลาเสด็จฯ มาประทับ
ใน หนังสือสมุดภาพงานมัณฑนศิลป์กล่าวด้วยว่า “งานมัณฑนศิลป์ในพระราชวังจันทรเกษมเป็นแบบศิลปะไทย จีน และตะวันตก เป็นพระราชวังเพียงแห่งเดียวในหัวเมืองที่เก็บรักษางานมัณฑนศิลป์ไทยและจีน ยุคสุดท้าย ก่อนที่ราชสำนักสยามจะเริ่มเปลี่ยนพระราชนิยมไปเป็นงานมัณฑนศิลป์แบบตะวันตก
     พระราชวังนี้ได้เก็บรักษางานมัณฑนศิลป์แบบตะวันตกยุคแรกของราชสำนักสยามไว้ด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น