ข้าวไทยในเวที AEC โดย ณกฤช เศวตนันทน์
อย่างไรก็ดี จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนวันเวลาออกไปอย่างไร สิ่งที่ประเทศไทยยังต้องดำเนินการต่อก็คือ การเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนในประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดัง กล่าว เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องเตรียมความพร้อมอยู่ดี
เรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่งในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้ไปเตรียมการวิเคราะห์ ความสามารถ
ในการแข่งขันของสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้ ฯลฯ โดยให้พิจารณาเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม ในเรื่องของการกำหนดเส้นทางการขนส่งเป็นอย่างไร ระบบโลจิสติกส์เป็นอย่างไร หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการตรวจสอบการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การเพิ่มผลผลิตจะต้องทำอย่างไร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว หาทางเพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศึกษาวิจัยหาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านข้าวกับต่างประเทศ เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวทั้งในอาเซียนและตลาดโลก เป็นต้น
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อปรึกษาหารือถึงทิศทางและผลกระทบในการค้าข้าวว่ามีข้อได้เปรียบ-เสีย เปรียบในด้านใดบ้าง ทั้งในเรื่องของแผนการดำเนินงาน การจัดทำแผนการขาย เพื่อจัดทำให้เป็นแผนที่สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอรัฐบาลในการรวบรวมเป็นแผนแม่บทนำไปสู่การปฏิบัติในภาพรวมต่อไป
"ข้าว" เป็นสินค้าเกษตรและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ประชากรมากกว่าครึ่งโลกบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ประเทศที่บริโภคข้าวมากที่สุดของโลกนอกเหนือจากประเทศไทย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และบราซิล
หากพิจารณาส่วนแบ่งการตลาดการนำเข้าข้าวของแต่ละประเทศ พบว่าตลาดส่งออกข้าวที่ไทยถือครองส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการนำเข้าข้าวของแต่ละประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย อเมริกาใต้ ไอวอรี่โคสต์ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล จีน อินโดนีเซีย เยเมน แคเมอรูน ออสเตรเลีย มอริเตเนีย โตโก อิสราเอล คองโก และลาว เหล่านี้ปริมาณการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง
ขณะที่ เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่ง วิ่งไล่หลังมาติด ๆ โดยเฉลี่ยแล้วมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม และอุปสรรคข้อจำกัดของภูมิประเทศ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่สามารถควบคุมได้ น้ำทะเลหนุนสูงทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยและไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากประเทศไทยต้องการจะคงสถานภาพการเป็นผู้นำในการค้าข้าว สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมตัว คือการจัดทำยุทธศาสตร์ในการค้าข้าวให้เป็นหนึ่งเดียว มีความร่วมมือร่วมใจกันก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ทำแผนให้เป็นระบบและครบวงจร กล่าวคือเริ่มตั้งแต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์ลืมผัว ข้าวพันธุ์สังข์หยด และข้าวหอมพันธุ์ดั้งเดิมของท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อใช้คุณลักษณะเฉพาะตัวของข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่มีคุณค่า รสชาติ และมีผลต่อการเสริมสุขภาพ เข้าครองตลาดในกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะ เนื่องจากประเทศคู่แข่งคือเวียดนามและพม่า มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย
ต้อง หาทางส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ส่งออกข้าวไทยสามารถขยายตลาดข้าวนึ่งได้มากขึ้น และต้องจัดทำระบบทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวให้ชัดเจน ป้องกันการสวมสิทธิ์จากข้าวภายนอกในกรณีที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนเกษตรกร และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและยกระดับของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ด้วย
ที่ สำคัญภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำตลาดใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายเป็นประเทศปลายทาง เนื่องจากกลุ่มสมาชิกเออีซีเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวเหมือนกัน ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญที่ข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่งเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะข้าวนึ่งไทยมีคุณภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตประเทศอื่นต้อง สร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านข้าว เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทั้งของศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์สู่เกษตรกรอย่างเพียงพอและทั่วถึง
ประเทศไทย มีชื่อมานานในการผลิตข้าวคุณภาพ เพราะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวเป็นทุนเดิม ผู้ประกอบการและโรงสีข้าวก็มีศักยภาพสูง ทั่วโลกให้การยอมรับขาดเพียงการส่งเสริมให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่เท่านั้น เกษตรกรไทยก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำเมื่อเราต้องก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น